ข้อเท้าแพลง (Ankle Sprain)
- โดย นพ.อำนวย จิระสิริกุล
- 8 สิงหาคม 2562
- Tweet
- ข้อเท้าแพลง หมายความว่าอย่างไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดข้อเท้าแพลง?
- อาการอย่างไรจึงสงสัยว่ามีข้อเท้าแพลง?
- ความรุนแรงของข้อเท้าแพลงเป็นอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยข้อเท้าแพลงได้อย่างไร?
- เมื่อสงสัยข้อเท้าแพลง ควรดูแลตนเองเบื้องต้นอย่างไร?
- เมื่อข้อเท้าพลิก สงสัยข้อเท้าแพลง หรืออาจถึงกับหัก ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- แพทย์มีวิธีรักษาข้อเท้าแพลงอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อต้องเข้าเฝือก?
- ข้อเท้าแพลงกี่วัน เอ็นที่ฉีกขาดถึงจะหาย?
- ผลข้างเคียงจากข้อเท้าแพลงมีอะไรบ้าง?
- ป้องกันข้อเท้าแพลงได้อย่างไร?
- สรุป
- โรคข้อ (Joint disease)
- โรคกระดูก (Bone disease)
- โรคกล้ามเนื้อ โรคระบบกล้ามเนื้อ (Muscle disease)
- เอ็นบาดเจ็บ (Tendon injury) เอ็นอักเสบ (Tendinitis) เอ็นเสื่อม (Tendinosis)
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
ข้อเท้าแพลง หมายความว่าอย่างไร?
ข้อเท้าแพลง (Ankle sprain) หมายถึงการบาดเจ็บฉีกขาดของเอ็นกระดูก (Ligament) ที่ทำหน้าที่ให้ความมั่นคงแข็งแรงกับข้อเท้า
ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดข้อเท้าแพลง?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดข้อเท้าแพลงได้ง่าย คือ
- นักกีฬา การเล่นกีฬา
- ผู้ที่เคยมีข้อเท้าแพลงมาก่อนแล้ว
- ใส่รองเท้าส้นสูง
- คนอ้วน
อาการอย่างไรจึงสงสัยว่ามีข้อเท้าแพลง?
ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บข้อเท้าแพลง จะมีอาการ (รูป1-3)
- ปวดและกดเจ็บในบริเวณข้อเท้าตรงที่ได้รับบาดเจ็บ ด้านในหรือด้านนอก
- บวมตรงบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ
- ช้ำเขียวบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ
- อาจปวดมากจนไม่สามารถเดินลงน้ำหนักข้างที่ได้รับบาดเจ็บ
ความรุนแรงของข้อเท้าแพลงเป็นอย่างไร?
ข้อเท้าแพลงแบ่งตามความรุนแรงได้เป็น 3 ระดับ คือ
- เอ็นฉีกเพียงเล็กน้อย เพียงบางไฟเบอร์ (Fiber เส้นใย) ของเอ็นเท่านั้น
- เอ็นฉีกขาดบางส่วน แต่ไม่ขาดทั้งหมด
- เอ็นฉีกทั้งเส้น
แพทย์วินิจฉัยข้อเท้าแพลงได้อย่างไร?
การวินิจฉัยข้อเท้าแพลงทำได้โดย เริ่มจากประวัติมีข้อเท้าพลิก ซึ่งการฉีกขาดของเอ็นต้องเกิดเพราะมีข้อเท้าพลิก นอกจากนั้น อาการอื่นๆที่ตามมาด้วย คือ
- อาการ ปวด บวม ของข้อเท้าข้างบาดเจ็บทันทีหลังบาดเจ็บ
- มีการเดินกะเผลกหรืออาจรุนแรงถึงกับเดินลงน้ำหนักไม่ได้
- เมื่อแพทย์ตรวจข้อเท้า จะพบมีอาการบวมและกดเจ็บตรงบริเวณที่เป็นเอ็นข้อมากที่ สุด จะเป็นเอ็นทางด้านในหรือเอ็นทางด้านนอกของข้อเท้าก็ได้ โดยทั่วไปการบาด เจ็บจะเกิดกับเอ็นข้อเท้าด้านนอกมากที่สุด บริเวณที่เป็นกระดูกตาตุ่มทั้งในและนอกจะเจ็บน้อยกว่าบริเวณเอ็น ถ้ากดเจ็บบริเวณกระดูกมากกว่า แพทย์ต้องเอกซเรย์ภาพข้อเท้า เพื่อดูว่ากระดูกข้อเท้าหักด้วยหรือไม่
เมื่อสงสัยข้อเท้าแพลง ควรดูแลตนเองในเบื้องต้นอย่างไร?
ดูแลตนเองในเบื้องต้นเมื่อมีข้อเท้าพลิกหรือข้อเท้าแพลง เช่นเดียวกับการดูแลเบื้องต้นของการบาดเจ็บของ กล้ามเนื้อ กระดูก และข้อ ประเภทฟกช้ำ พลิก แพลง คือ ให้รักษาเบื้องต้นด้วย “พัก-เย็น-พัน-สูง หรือ RICE”
- Rest-พัก ให้ส่วนที่ได้รับบาดเจ็บอยู่นิ่งๆ เพื่อไม่ให้บาดเจ็บมากขึ้น ห้ามนวดเด็ดขาด
- Ice-เย็น ประคบเย็นเพื่อป้องกันไม่ให้บวม ห้ามใช้ยาทาที่มีฤทธิ์ร้อนเป็นอันขาด
- Compression-พัน ให้พันผ้ากระชับจากปลายเท้า ไล่ขึ้นมาถึงเหนือข้อเท้า เพื่อลด การบวม
- Elevation-สูง ให้ส่วนที่บาดเจ็บอยู่สูงไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้บวม
เมื่อข้อเท้าพลิก สงสัยข้อเท้าแพลง หรืออาจถึงกับหัก ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อข้อเท้าพลิก สงสัยว่ามีข้อเท้าแพลง หรืออาจถึงกระดูกหัก ให้เริ่มต้นด้วยการประคบเย็น และให้อยู่นิ่งๆ ลองขยับเท้าเบาๆช้าๆไปมา เพื่อดูว่าปวดเพียงเล็กน้อยหรือปวดมาก ถ้าปวดน้อยลองเดินลงน้ำหนักดู ถ้าเดินได้ ให้มั่นใจว่ากระดูกไม่หัก และเอ็นขาดไม่มาก อาจรัก ษาตัวเองได้ด้วยการประคบเย็นและพันผ้ายืดพอกระชับ แต่ในทางกลับกัน ถ้าเดินลำบาก เดินกะเผลก หรือเดินลงน้ำหนักไม่ได้เพราะเจ็บมาก ควรต้องไปโรงพยาบาลโดยเร็ว
แพทย์มีวิธีรักษาข้อเท้าแพลงอย่างไร?
แพทย์จะทำการตรวจข้อเท้าที่ได้รับบาดเจ็บว่า บวมตรงไหน กดเจ็บตรงไหน มีรอยฟกช้ำด้านไหน ถ้าแพทย์สงสัยว่าอาจมีกระดูกข้อเท้าหัก แพทย์อาจจะส่งไปถ่ายภาพข้อเท้าด้วยเอกซเรย์
แพทย์อาจให้การรักษาข้อเท้าแพลงแตกต่างกันไป ขึ้นกับความรุนแรงของรอยโรค และดุลพินิจของแพทย์ ได้แก่
- การพันผ้ายืด (Elastic bandage) (รูป4) ใช้ในรายที่เป็นไม่มาก เดินได้ไม่ค่อยเจ็บ แต่ยังบวม
- การสวมผ้ายืดรัดดามข้อเท้า (Ankle support) (รูป 5) ใช้ในรายที่บวมไม่มากหรือไม่บวมแล้ว เดินได้ไม่ค่อยเจ็บ
- การใส่เฝือกอ่อน (Short-leg posterior slab) (รูป 6) ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
- การใส่บูท (Ankle boot) (รูป 7) ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
- การใส่เฝือกนุ่ม (Ankle wrap with soft-cast) (รูป 8) ผู้เขียนชอบวิธีนี้มากที่สุด
- การใส่เฝือก (Short-leg cast) (รูป 9) ใช้ในรายที่เป็นมาก เอ็นขาดมาก ต้องการให้ข้อเท้าไม่ขยับเลย
- การผ่าตัดเย็บซ่อม (Surgical repair) เอ็นที่ขาด เป็นวิธีที่ไม่จำเป็น จะใช้เฉพาะในรายที่มีแผลเปิดในบริเวณที่เอ็นขาด
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อต้องเข้าเฝือก?
เมื่อท่านได้รับการรักษาด้วยการใส่เฝือก ท่านควรปฏิบัติดังนี้
- พยายามให้ส่วนที่ใส่เฝือกอยู่สูงกว่าหัวใจหรือเท่าที่ยกสูงได้ในเวลาที่ไม่เดิน
- ขยับนิ้วเท้าที่อยู่นอกเฝือกอย่างช้าๆ มากขึ้นเรื่อยๆ และบ่อยๆ
- อย่าให้น้ำเข้าไปในเฝือกโดยเด็ดขาดเพราะอาจทำให้ผิวหนังส่วนอยู่ในเฝือกเปื่อยเน่าได้
- ถ้าคันให้หาซื้อยาแก้แพ้ เช่น คลอเฟนนิรามีน/Chlorpheniramine maleate (ปรึกษาเภ สัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ) ทานแก้คันได้ อย่าได้เอาอะไรเข้าไปเกาโดยเด็ดขาด
- พบแพทย์ตามนัดเสมอ และต้องมากลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันทีที่บริเวณใส่เฝือกมีอาการ ปวดจนทนไม่ไหว บวมจนปวด บวมจนชา บวมจนเขียวหรือซีด หรือเฝือกหัก
ข้อเท้าแพลงกี่วัน เอ็นที่ฉีกขาดถึงจะหาย?
โดยทั่วไป ข้อเท้าแพลงจะหายภายในเวลา 3-6 อาทิตย์
ผลข้างเคียงจากข้อเท้าแพลงมีอะไรบ้าง?
ผลข้างเคียงจากข้อเท้าแพลงที่พบได้ คือ
- ข้อเท้าไม่มั่นคง พลิกได้ง่ายกว่าคนทั่วไป หรือใช้งานไม่ได้ตามปกติ
- ปวดข้อเท้าเรื้อรัง
- และ กระดูกข้อเท้าอักเสบเรื้อรัง (Chronic arthritis)
ทั้งนี้โอกาสเกิดผลข้างเคียงเหล่านี้จะสูงขึ้นมาก
- กรณีข้อเท้าแพลงแล้ว ล่าช้าในการพบแพทย์
- หรือเมื่อไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์
ป้องกันข้อเท้าแพลงได้อย่างไร?
การป้องกันข้อเท้าแพลง ทำได้ง่ายๆโดย
- อบอุ่นร่างกายอย่างถูกวิธีก่อนเล่นกีฬา
- รู้จักเทคนิควิธีที่ถูกต้องในการเล่นกีฬาทุกประเภท
- และในผู้หญิง ควรหลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าส้นสูงโดยเฉพาะส้นสูงมากหรือส้นแฟชั่น
สรุป
เมื่อเกิดอุบัติเหตุบริเวณข้อเท้าจากการพลิก การบิด จากการลื่นล้ม มักทำให้เกิดการแพลงของข้อเท้า เกิดการฉีกขาดของเอ็นข้อเท้า ซึ่งอาจนำมาซึ่งความไม่มั่นคง ข้อเท้าพลิกง่าย ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ จึงมีความจำเป็นที่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจะต้องตรวจดูข้อเท้าของตนว่า
- บวมมากไหม
- สามารถขยับข้อเท้าได้ไหม
- สามารถเดินลงน้ำหนักได้ไหม
- ถ้ามีอาการทั้ง 3 ข้อดังกล่าว ต้องรีบไปโรงพยาบาลเพื่อการรักษาที่ถูกต้องจนกว่าจะหายเป็นปกติ