ขี้แมวขึ้นสมอง (ตอนที่ 4)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 21 กรกฎาคม 2563
- Tweet
กรณีที่แม่มีการติดเชื้อก่อนหรือระหว่างการตั้งครรภ์ ทารกจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้มาก เพราะเชื้อสามารถผ่านจากแม่ไปสู่ทารกได้ (Congenital toxoplasmosis) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อในไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ แม้ว่าแม่จะไม่มีอาการของโรคก็ตาม การติดเชื้อจะทำให้ทารกมีโอกาสตายในครรภ์ (Stillbirth) หรือแท้ง หรือกรณีทารกที่ยังมีชีวิตรอดก็มักจะเกิดปัญหาตามมา เช่น
- ชัก
- ตับหรือม้ามโต
- เป็นดีซ่าน
- ติดเชื้อที่ตาอย่างรุนแรง
ซึ่งก็เป็นส่วนน้อยที่แสดงอาการให้เห็นชัดตั้งแต่เกิด เพราะส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการจนกว่าจะโตขึ้น เช่น หูหนวก มีความบกพร่องทางจิต (Mental disability) หรือมีการติดเชื้อที่ตาอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ เราสามารถติดเชื้อนี้ได้ หากเรา
- สัมผัสกับขี้แมวที่มีเชื้อ เช่น การทำสวน การทำความสะอาดกรงหรือกล่องที่สัมผัสกับขี้แมว โดยเฉพาะแมวที่หากินเองหรือถูกเลี้ยงด้วยเนื้อสด
- กินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อ
- ใช้ภาชนะอุปกรณ์ เช่น มีด เขียง ที่ติดเชื้อ
- กินผักผลไม้สดที่ไม่ได้ล้างน้ำก่อน
- ได้รับเชื้อจากการปลูกถ่ายอวัยวะหรือการถ่ายเลือด (Blood transfusion)
กรณีที่ร่างกายยังแข็งแรง ระบบภูมิต้านทานยังสามารถควบคุมเชื้อปรสิตนี้ได้ เชื้อจะคงอยู่ในร่างกายแต่ไม่แสดงอาการเหมือนมีภูมิต้านทานและจะไม่ติดเชื้ออีก แต่หากภูมิต้านทานอ่อนแอเชื้อก็อาจกลับมาอีก (Reactivate) ทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ ได้แก่
- ผู้ที่ติดเชื้อเฮชไอวี/เชื้อเอดส์
- ผู้ที่อยู่ระหว่างการรับเคมีบำบัด
- ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์หรือยากดภูมิ
แหล่งข้อมูล:
- Toxoplasmosis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/pityriasis-rosea/symptoms-causes/syc-20376405 [2020, Jul 19].
- Parasites - Toxoplasmosis (Toxoplasmo infection). https://www.cdc.gov/parasites/toxoplasmosis/gen_info/faqs.html [2020, Jul 19].