ขี้ผึ้งป้ายตาคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol eye ointment)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาคลอแรมเฟนิคอล(Chloramphenicol) เป็นยาปฏิชีวนะที่นำมาใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้หลายชนิด ยานี้ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) รูปแบบยาแผนปัจจุบันที่ยังพบเห็นและมีการใช้กันอยู่ของยานี้ ได้แก่ ยาใช้เฉพาะที่อย่างยาหยอดตา ขี้ผึ้งป้ายตา และยาฉีด

สำหรับยา “ขี้ผึ้งป้ายตาคลอแรมเฟนิคอล(Chloramphenicol eye ointment)” มีวัตถุประสงค์ของการใช้เพื่อ รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียแบบเฉียบพลันที่ตา เช่น การติดเชื้อที่เยื่อตา(เยื่อตาอักเสบ) เป็นตาแดง บำบัดอาการระคายเคืองและภาวะมีน้ำตา-ขี้ตามากอันมีสาเหตุจากการอักเสบติดเชื้อ

ก่อนการใช้ยาขี้ผึ้งป้ายตาคลอแรมเฟนิคัล ผู้บริโภคควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจยืนยันความเหมาะสมของการใช้ยานี้คือ อาการเกิดจากตาติดเชื้อแบคทีเรียจริง เพราะถึงแม้ยาคลอแรมเฟนิคอลจะเป็นยาที่ออกฤทธิ์กว้างขวางในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้อีกหลายชนิดเช่นกัน เช่น เชื้อไวรัส เชื้อรา

ทั้งนี้ ข้อควรทราบก่อนการใช้ขี้ผึ้งป้ายตาคลอแรมเฟนิคอลที่ผู้บริโภคควรทราบ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาคลอแรมเฟนิคอล
  • สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อผลข้างเคียงจากยาชนิดนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้เสมอ
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะโลหิตจาง หรือมีระดับเม็ดเลือดในร่างกายต่ำ หรือเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะไขกระดูกทำงานผิดปกติ
  • กรณีที่มียาป้ายตา ยาหยอดตา ชนิดอื่นใช้อยู่ก่อน ต้องแจ้งแพทย์เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการใช้ยาต่างๆให้เหมาะสมมากขึ้น

อนึ่ง ผู้บริโภคที่ได้รับยาขี้ผึ้งป้ายตาคลอแรมเฟนิคอล ควรใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยให้อาการของตาหายเป็นปกติโดยเร็ว

นอกจากนี้ การใช้ยาขี้ผึ้งประเภทป้ายตาที่รวมถึงยาขี้ผึ้งป้ายตาคอแรมเฟนิคอล ควรปฏิบัติตามคำแนะนำง่ายๆ ดังนี้ เช่น

  • ล้างมือก่อนและหลังใช้ยา
  • เปิดฝาครอบหลอดยา ห้ามมิให้ปลายหลอดยาสัมผัสตา เปลือกตา/หนังตา นิ้วมือ
  • อาจใช้กระจกเงาช่วยส่อง เพื่อความสะดวกในการป้ายตา
  • ใช้นิ้วมือดึงเปลือกตาล่างลงมาเพียงเบาๆ และเหลือกลูกตามองขึ้นด้านบน
  • บีบยาขี้ผึ้งออกจากหลอดยา ป้ายยาในบริเวณช่องระหว่างเปลือกตาล่างกับลูกตาเป็นทางยาวประมาณ 1 เซนติเมตร
  • หลับตาสักครู่หลังใช้ยา เพื่อช่วยให้ตัวยากระจายทั่วตา

อนึ่ง ในระยะหลังป้ายยาขี้ผึ้งป้ายตาทุกชนิด(ประมาณ 15-30 นาที)ที่รวมถึงยาขี้ผึ้งป้ายตาคอแรมเฟนิคอล ขี้ผึ้งยาฯจะส่งผลต่อการมองเห็น เช่น ตาพร่า/มองเห็นภาพไม่ชัดเจน ผู้บริโภคจึงควรหลีกเลี่ยง การเคลื่อนที่ การขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ การทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

ส่วนกรณีที่พบอาการผิดปกติจากการแพ้ยานี้หลังการป้ายตา เช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีไข้ หน้าบวม ผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน

โดยทั่วไป หลังการใช้ยาขี้ผึ้งป้ายตาคอแรมเฟนิคอล อาการอักเสบติดเชื้อของตาจะค่อยๆฟื้นสภาพ และเป็นปกติในเวลาประมาณ 3-7 วัน กรณีที่อาการของตาไม่ดีขึ้นหลังจากใช้ยานี้ตามระยะเวลาที่เหมาะสม(ประมาณ 2 วัน) หรืออาการแย่ลง ผู้ป่วยควรต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

ยาขี้ผึ้งป้ายตาคลอแรมเฟนิคอล เมื่อเปิดใช้แล้ว สามารถเก็บต่อเนื่องได้อีก 28 วันเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการใช้ยาที่อาจเกิดการปนเปื้อนสิ่งสกปรก ที่รวมถึงเชื้อโรคต่างๆ และรวมถึงการที่ตัวยาสัมผัสกับ อากาศ และสภาพแวดล้อม ที่อาจทำให้ยามีอายุการเก็บรักษา/การใช้ยาได้สั้นลง

ผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยาขี้ผึ้งป้ายตาคลอแรมเฟนิคอลจากแพทย์ผู้ทำการรักษา หรือขอคำแนะนำได้จากเภสัชกรตามร้ายขายยาโดยทั่วไป

ขี้ผึ้งป้ายตา คลอแรมเฟนิคอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ขี้ผึ้งป้ายตาคลอแรมเฟนิคอล

ยาขี้ผึ้งป้ายตาคลอแรมเฟนิคอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาเยื่อตาอักเสบจากการติดเชื้อ
  • บำบัดอาการหนังตา/เปลือกตาอักเสบ
  • รักษาบาดแผลที่เกิดกับกระจกตา/กระจกตาอักเสบ(Corneal ulcers)
  • รักษาอาการริดสีดวงตา(Trachoma)

ขี้ผึ้งป้ายตา คลอแรมเฟนิคอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาขี้ผึ้งป้ายตาคลอแรมเฟนิคอลมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาคลอแรมเฟนิคอล จะออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์สารโปรตีนที่เป็นตัวตั้งต้นของสารพันธุกรรมในแบคทีเรีย ที่เรียกว่าไรโบโซม(Ribosome) นอกจากนี้ ยังป้องกันการเชื่อมโยงการใช้สารโปรตีนที่แบคทีเรียมีการสังเคราะห์ไว้แล้ว ทำให้แบคทีเรียไม่สามารถเจริญเติบโต และตายลงในที่สุด จากกลไกดังกล่าว จึงส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ขี้ผึ้งป้ายตา คลอแรมเฟนิคอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาขี้ผึ้งป้ายตาคลอแรมเฟนิคอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น ยาขี้ผึ้งป้ายตาขนาดความแรง 1%

ขี้ผึ้งป้ายตา คลอแรมเฟนิคอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาขี้ผึ้งป้ายตาคลอแรมเฟนิคอลมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: ป้ายตาข้างที่ติดเชื้อวันละ 3 – 4 ครั้ง และก่อนนอน หรือตามคำสั่งแพทย์
  • เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี ส่วนเด็กในวัยอื่น ขนาดการใช้ยานี้ ให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา

*อนึ่ง:

  • กรณีใช้ยานี้แล้ว 48 ชั่วโมง อาการไม่ดีขึ้น ให้ผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
  • ห้ามใช้ยานี้ติดต่อกันเกิน 5 วัน

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาขี้ผึ้งป้ายตาคลอแรมเฟนิคอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะ ยาขี้ผึ้งป้ายตาคลอแรมเฟนิคอล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมป้าตาควรทำอย่างไร?

หากลืมใช้ยาขี้ผึ้งป้ายตาคลอแรมเฟนิคอล สามารถใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการป้ายตาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ขี้ผึ้งป้ายตา คลอแรมเฟนิคอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) จากการใช้ยาขี้ผึ้งป้ายตาคลอแรมเฟนิคอล พบได้น้อย เท่าที่มีรายงาน จะเป็นเรื่องตาพร่าหลังการป้ายตา ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกแสบและ/หรือคันตาได้บ้าง

สำหรับผลข้างเคียงต่อระบบเลือด เช่น การกดการทำงานของไขกระดูก จากการใช้คลอแรมเฟนิคอลชนิดขี้ผึ้งป้ายตา จะพบได้น้อยมาก

*อย่างไรก็ตาม หากใช้ยานี้ แล้วพบอาการที่มีลักษณะของการแพ้ยา เช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก หน้าบวม ผื่นคันขึ้นเต็มตัว ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที และรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ขี้ผึ้งป้ายตาคลอแรมเฟนิคอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ขี้ผึ้งป้ายตาคลอแรมเฟนิคอลอ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ยาคลอแรมเฟนิคอล
  • ห้ามป้ายตาขณะใส่คอนแทคเลนส์
  • ห้ามปรับขนาดการป้ายตา หรือใช้ยานี้นานเกินจากคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามรับประทาน กรณีกลืนยานี้เข้าปาก ให้รีบนำผู้ป่วยมาโรงพยาบาลโดยเร็วเพื่อทำการบำบัดรักษา
  • แจ้งแพทย์ทุกครั้งว่ามีการใช้ ยาหยอดตา ยาป้ายตาชนิดอื่น อยู่ก่อนหรือไม่
  • หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะ การควบคุมเครื่องจักร ขณะมีอาการตาพร่าจากการใช้ยานี้ป้ายตา
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาขี้ผึ้งป้ายตาคลอแรมเฟนิคอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ขี้ผึ้งป้ายตา คลอแรมเฟนิคอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ด้วยยาขี้ผึ้งป้ายตาคลอแรมเฟนิคอล เป็นรูปแบบเป็น ยาขี้ผึ้งป้ายตา ซึ่งจัดเป็นยาใช้เฉพาะที่ จึงไม่ค่อยพบรายงานการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดรับประทานใดๆ

กรณีมีความผิดปกติเกิดขึ้นหลังใช้ยาขี้ผึ้งป้ายตาคลอแรมเฟนิคอลกับยารับประทานชนิดใดก็ตาม ให้รีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์ที่สถานพยาบาลโดยเร็ว

ควรเก็บรักษาขี้ผึ้งป้ายตา คลอแรมเฟนิคอลอย่างไร?

ควรเก็บยาขี้ผึ้งป้ายตาคลอแรมเฟนิคอล ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ห้ามเก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์ เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น

ขี้ผึ้งป้ายตา คลอแรมเฟนิคอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาขี้ผึ้งป้ายตาคลอแรมเฟนิคอล ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Chloroph (คลอรอพ) Seng Thai
Cogetine (โคเจทีน) General Drugs House
Vanafen Ophthalmic (เวนาเฟน ออฟทาลมิก) Atlantic Lab

 

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Chloramphenicol [2016,Aug20]
  2. file:///C:/Users/apai/Downloads/718679.pdf [2016,Aug20]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/chloroph/?type=brief [2016,Aug20]
  4. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/29890 [2016,Aug20]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/cogetine/?type=brief [2016,Aug20]