ขาวใสใช่ว่าดี (ตอนที่ 4 และตอนจบ)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 6 สิงหาคม 2563
- Tweet
นอกจากนี้ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผิวขาวใสอยู่เป็นประจำอาจเป็นต้นเหตุให้เกิดมะเร็งก็ได้ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารกันเสีย BHT (Butylated Hydroxytoluene) และ BHA (Butylated Hydroxyanisole)
สำหรับวิธีการใช้แสงเลเซอร์เพื่อทำให้ผิวขาวนั้น อาจใช้การลอกผิวชั้นบนออกหรือทำลายเซลล์ที่ผลิตเมลานินก็ได้ ซึ่งวิธีนี้อาจใช้ได้ผลในคนบางคนเท่านั้นหรือผิวอาจขาวได้เพียงชั่วคราว
ทั้งนี้ จะมีการทำการทดสอบยิงเลเซอร์ที่บริเวณผิวขนาดเล็กก่อน ซึ่งจะมีความรู้สึกเหมือนถูกเข็มแทง ดังนั้น จึงอาจมีการใช้ยาชาก่อนยิงเลเซอร์ และระหว่างที่ยิงเลเซอร์อาจมีการเป่าลมเย็นเพื่อคลายความร้อนด้วย โดยแต่ละครั้งที่ทำอาจกินเวลาประมาณ 30-60 นาที หลังจากนั้นก็สามารถกลับบ้านได้
สำหรับการฟื้นตัวอาจใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ ซึ่งระหว่างนี้ผิวอาจแดงและบวมช้ำ หลังจากนั้นสีผิวจะขาวขึ้นและไวต่อแสงแดด 6 เดือน จึงควรปฏิบัติตัวดังนี้
- ทำความสะอาดบริเวณที่ยิงเลเซอร์อย่างอ่อนโยนด้วยสบู่ที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอมและตบเบาๆ ให้แห้ง
- ใช้เจลว่านหางจระเข้หรือวาสลีนทาให้เย็นและชุ่มชื้น
- อย่าแกะแผล
- หากรู้สึกปวดให้กินยาบรรเทาปวด เช่น ยาพาราเซตตามอล และประคบด้วยน้ำแข็งที่ห่อด้วยผ้าขนหนูเพื่อลดอาการบวม
- ทาครีมกันแดดอย่างน้อย 6 เดือนเพื่อป้องกันแสงซึ่งจะทำให้อาการแย่ลง
ทั้งนี้ วิธีการยิงเลเซอร์อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงดังนี้
- แดงและบวม
- ช้ำ (Bruising)
- ตกสะเก็ด (Crusting)
- พุพอง
โดยอาการเหล่านี้จะหายไปใน 1-2 สัปดาห์ ส่วนกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการ
- เป็นแผลเป็น
- แผลติดเชื้อ
- ผิวคล้ำขึ้นหรือซีดลง
แหล่งข้อมูล:
- How to Stay Safe and Cancer-free When Whitening Your Skin.http://cancercode.org/stay-safe-cancer-free-whitening-skin/[2020, August 5].
- Side Effects and Precautions of Skin Bleaching. https://www.healthline.com/health/skin-bleaching [2020, August 5].
- Skin lightening. https://www.nhs.uk/conditions/cosmetic-procedures/skin-lightening/ [2020, August 5].