ขาบวมจากนั่งเครื่องบิน (Economy class syndrome)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 18 กันยายน 2558
- Tweet
- เจทแลค อาการเมาเวลาเหตุการบิน (Jet Lag)
- การเดินทางโดยเครื่องบินของผู้สูงอายุ (Air travel in older People)
- หูอื้อจากโดยสารเครื่องบิน หูอื้อจากเปลี่ยนความดันอากาศ (Barotitis)
- กลุ่มอาการ Economic class (Economic Class Syndrome)
- ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Venous thrombosis)
ขา-เท้า บวม (Leg and foot swelling) เป็นอาการที่พบได้บ่อยเมื่อร่างกายขาดการเคลื่อนไหว และจากแรงโน้มถ่วงของโลกที่จะดึงทุกสิ่งลงที่ต่ำเสมอซึ่งคือ ขาและเท้า จึงส่งผลให้การไหลเวียนโลหิตในบริเวณส่วนขาและเท้าลดลง เลือดดำจึงมักคั่งในบริเวณขาและเท้า ส่งผลให้สารน้ำในหลอดเลือดดำไหลซึมออกจากหลอดเลือดเข้ามายังเนื้อเยื่อรอบๆหลอดเลือด ส่งผลให้เกิดน้ำคั่งในเนื้อเยื่อของขาและเท้า หรือคือขา-เท้าบวมนั่นเอง โดยเฉพาะเมื่อสวมรองเท้า-ถุงเท้าที่รัดแน่น แต่เมื่อได้รับการนวดเบาๆ การเคลื่อนไหวขา-เท้า และการยกเท้าสูง อาการบวมก็จะยุบลง ขาและเท้าจะกลับสู่ภาวะปกติ
แต่ที่ทุกคนกลัวและกังวลคือ อาการขา-เท้าบวมที่เกิดจากมีลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำของขา หรือ Deep vein Thrombosis เรียกย่อ ว่า DVT (ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ) ที่พบได้จากการนั่งนานๆ ไม่มีการเคลื่อนไหวในพื้นที่จำกัด การขยับตัวลำบากคือ การนั่งเครื่องบินระยะทางไกลๆ (ระหว่างประเทศ) ในชั้นประหยัด (Economy class) ที่สื่อมวลชนเรียกว่า “โรค Economy class syndrome” ซึ่งผลข้างเคียงจากโรคนี้คือ โอกาสเกิดเป็นโรคหลอดเลือดเล็กๆในปอดอุดตัน จากลิ่มเลือดเล็กๆที่ขานี้หลุดเข้าสู่ระบบการไหลเวียนโลหิตของร่างกาย (ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ) ซึ่งเป็นภาวะที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต (ตาย) ได้
การป้องกันภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำขา และอาการขา-เท้าบวมจากการเดินทางโดยนั่งเครื่องบินระยะทางไกล ทั้งนี้รวมทั้งการนั่งรถนานๆ หรือการนั่ง การนอนนานๆโดยไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายด้วยคือ
- ให้พยายามเคลื่อนไหวร่างกายให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ลุกเดินเท่าที่จะทำได้
- ขยับเท้า นิ้วเท้าเสมอ นั่งยกเท้าสูง
- ขยับขาเสมอ ไม่นั่งไขว้ขา
- ถอดรองเท้า ไม่ใส่ถุงเท้ารัดเท้า
- สวมใส่เสื้อผ้าที่หลวมสบาย
- ไม่เก็บกระเป๋าสัมภาระใต้ที่นั่งที่ส่งผลให้ต้องจำกัดการเคลื่อนไหวเท้า
- เลือกนั่งที่นั่งที่ใกล้ทางเดินเพื่อการลุก นั่ง เดิน เข้าห้องน้ำได้สะดวก
- ดื่มน้ำอย่างพอเพียงเพื่อลดความข้นของเลือดที่จะเกิดเป็นลิ่มเลือดได้ง่าย
- ไม่กินยานอนหลับหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะจะทำให้หลับลึกจึงลดการเคลื่อนไหว
- หลีกเลี่ยงอาหารเค็มก่อนการเดินทางและในระหว่างเดินทางเพราะเกลือจะช่วยอุ้มน้ำในหลอดเลือดส่งผลให้เกิดอาการบวมได้ง่าย
- ถ้ากังวลมากหรือเป็นคนเลือดข้น (เลือดแข็งตัวได้ง่าย เวลาเลือดออกเลือดหยุดเร็ว) ปรึกษาแพทย์เพื่อกินยาแอสไพรินต้านการแข็งตัวของเลือดก่อนเดินทาง
บรรณานุกรม
- How to Cope With Legs Swelling When Traveling http://traveltips.usatoday.com/cope-legs-swelling-traveling-1559.html [2015,Aug29].
- http://www.traveldoctor.co.uk/flights.html [2015,Aug29].
- http://whqlibdoc.who.int/publications/2005/9241580364_chap2.pdf [2015,Aug29].
Updated 2015, Aug 29