กิลแลง-บาร์เร กับ โควิด-19 (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

กิลแลง-บาร์เรกับโควิด-19-4

      

กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เรเป็นภาวะที่รุนแรงต้องได้รับการรักษาอย่างทันทีเนื่องจากอาการสามารถการกระจายตัวได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งรักษาได้เร็วเท่าไรยิ่งได้ผลดีเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาเฉพาะ มีเพียงการดูแลเพื่อลดความรุนแรงและการช่วยให้ฟื้นตัว ซึ่งได้แก่

  • การฟอกพลาสม่า (Plasma exchange / plasmapheresis) - เพื่อกำจัดแอนติบอดีผิดปกติในพลาสม่าที่เข้าทำลายเซลล์ประสาท โดยจะถ่ายเลือดออกจากร่างกายผู้ป่วยแล้วใช้เครื่องมือแยกแอนติบอดีที่ผิดปกติออกจากเลือด จากนั้นจึงนำเลือดที่ปราศจากแอนติบอดีดังกล่าวกลับคืนสู่ร่างกาย
  • การบำบัดรักษาด้วยอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin therapy) - ด้วยการฉีดแอนติบอดีเข้าทางเส้นเลือดดำของผู้ป่วย โดยอิมมูโนโกลบูลินจะมีแอนติบอดีที่ดีต่อร่างกายและยังมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการทำงานของแอนติบอดีที่ผิดปกติอีกด้วย

ทั้งนี้ การรักษาทั้ง 2 วิธีให้ผลเท่าเทียมกัน จึงควรเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งก็พอ ไม่จำเป็นต้องใช้ทั้ง 2 อย่าง และอาจมีการให้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวด และป้องกันเลือดอุดตันระหว่างที่ยังเคลื่อนไหวไม่ได้

นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังจำเป็นต้องทำกายภาพบำบัดด้วย ซึ่งอาจได้แก่

  • การเคลื่อนไหวแขนและขาโดยผู้ดูแลผู้ป่วย (Caregivers) เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและยืดหยุ่นได้
  • การฝึกใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ เช่น วีลแชร์ (Wheelchair) หรือ เครื่องพยุง (Braces)

แม้ว่าผู้ป่วยบางรายจะใช้เวลาเป็นเดือนหรือแม้แต่เป็นปีในการฟื้นตัว ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีประสบการณ์เช่นเดียวกัน กล่าวคือ

  • หลังปรากฏอาการครั้งแรก อาการจะแย่ลงประมาณ 2 สัปดาห์
  • อาการจะถึงจุดสูงสุด (Plateau) ภายใน 4 สัปดาห์
  • มักใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวประมาณ 6-12 เดือน หรือบางคนอาจใช้เวลานานถึง 3 ปี

ซึ่งจากสถิติของผู้ป่วยกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เรจะพบว่า

  • ประมาณร้อยละ 80 สามารถจะเดินได้ด้วยตนเอง 6 เดือนหลังการวินิจฉัย
  • ประมาณร้อยละ 60 สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมใน 1 ปีหลังการวินิจฉัย
  • ประมาณร้อยละ 5-10 จะฟื้นตัวได้ช้าและไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม

อย่างไรก็ดี มีผู้ป่วยประมาณร้อยละ 20 ที่ยังคงมีปัญหาในระยะยาว ซึ่งได้แก่

  • ไม่สามารถเดินได้ด้วยตนเอง
  • แขนขาหรือหน้าอ่อนแรง
  • มีความรู้สึกชา ปวด เสียว หรือไหม้
  • มีปัญหาเรื่องการทรงตัว
  • เหนื่อยง่าย

อนึ่ง เด็กจะมีโอกาสฟื้นตัวได้สมบูรณ์กว่าผู้ใหญ่

แหล่งข้อมูล:

  1. Guillain-Barre syndrome. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/guillain-barre-syndrome/symptoms-causes/syc-20362793 [2020, Jul 25].
  2. Guillain-Barré syndrome. https://www.nhs.uk/conditions/guillain-barre-syndrome/[2020, Jul 25].
  3. What Is Guillain-Barre Syndrome? https://www.webmd.com/brain/what-is-guillain-barre#1 [2020, Jul 25].