กำลังกล้ามเนื้อ (Muscle strength)

โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องของกล้ามเนื้ออ่อนแรง จะหมาย ถึงกล้ามเนื้อลายเสมอ

กล้ามเนื้อลาย เป็นเนื้อเยื่ออ่อน ที่มีคุณสมบัติ ยืด หด และรองรับการออกแรงต่างๆ เป็นกล้ามเนื้อที่อยู่ในการควบคุมของระบบประสาทส่วนกลาง เช่น กล้ามเนื้อของ แขน ขา ลำ ตัว ลำคอ หลัง เป็นต้น มีหน้าที่เพื่อการเคลื่อนไหวของอวัยวะต่างๆ (เช่น การเดิน วิ่ง หยิบจับของ เคี้ยวอาหาร ดื่มน้ำ การแสดงสีหน้า เป็นต้น) การทรงตัว และการรับน้ำหนัก

กำลังกล้ามเนื้อ หมายถึงกำลังกล้ามเนื้อลาย คือ ประสิทธิภาพในการทำงานของกล้าม เนื้อลาย ซึ่งมีหลายระดับ รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า อายุรแพทย์ประสาทวิทยาได้แนะนำวิธีประเมินกำลังกล้ามเนื้อ และแบ่งระดับกำลังกล้ามเนื้อง่ายๆ เป็น 6 ระดับ ดังนี้ (โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยยกแขน ยกขา กำมือ งอแขน งัดข้อ หลักการคือ ผู้ป่วยออกแรงและแพทย์จะออกแรงต้าน ถ้าต้านแรงแพทย์ได้ก็คือปกติ)

  • ระดับ 5 : สามารถต้านแรงที่แพทย์ใช้กดแขน-ขาได้เต็มที่ (ภาวะปกติ)
  • ระดับ 4 : สามารถต้านแรงแพทย์ฯได้ แต่ไม่เต็มที่คือ ยังพอต้านได้บ้าง
  • ระดับ 3 : ยกแขน-ขา ลอยสูงจากพื้นได้ แต่ต้านแรงแพทย์ฯไม่ได้
  • ระดับ 2 : เคลื่อนไหวแขน-ขา ได้บนพื้นราบ แต่ไม่สามารถยกสูงขึ้นจากพื้นได้
  • ระดับ 1 : มีการเกร็งของกล้ามเนื้อแขน-ขา แต่เคลื่อนไหวแขน-ขาไม่ได้
  • ระดับ 0 : เคลื่อนไหวแขน-ขาไม่ได้ ร่วมกับไม่มีการเกร็งของกล้ามเนื้อเลย

แพทย์จะตรวจหากำลังกล้ามเนื้อแขน-ขาเสมอ ในผู้ป่วยที่ปัญหาในการเคลื่อนไหวของแขน-ขา เพื่อใช้ช่วยประเมินความรุนแรงของโรค, วิธีรักษา, การพยากรณ์โรค, และในการติด ตามผลการรักษา

อนึ่งแนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง วิธีตรวจวินิจฉัยโรคระบบประสาทตอน1: การตรวจร่างกาย และเรื่อง วิธีตรวจวินิจฉัยโรคระบบประสาทตอน2: การสืบค้น

บรรณานุกรม

  1. Muscle http://en.wikipedia.org/wiki/Muscle [2013,Nov18].