กำมะถันในอาหาร (Dietary sulfur)
- โดย จุฑาพร พานิช
- 17 สิงหาคม 2561
- Tweet
- อาหารหลักห้าหมู่ (Five food groups): หมู่ที่ 1 โปรตีน (Protein)
- อาหารหลักห้าหมู่ (Five food groups): หมู่ 3 ผัก (Vegetables)
- อาหารเสริม (Complementary foods)
- ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Dietary supplements)
- อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ (Healthy diet)
- ซัลเฟอร์ (Sulfur)
บทนำ
กำมะถัน (Sulfur) เป็นแร่ธาตุหลัก (Macro minerals) ที่ร่างกายต้องการมากกว่า 100 มิลลิกรัม (Milligram)ต่อวัน เพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโตตามปกติ โดยแร่ธาตุหลักประกอบด้วย โซเดียม (Sodium), โพแทสเซียม (Potassium), คลอไรด์ (Chloride), แคลเซียม (Calcium), ฟอสฟอรัส ( Phosphorus), แมกนีเซียม (Magnesium), และกำมะถัน (Sulfur) ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะ ‘กำมะถัน’
กำมะถัน (Sulfur) คืออะไร?
ทั่วไป พบกำมะถันประมาณร้อยละ 0.25(0.25%) ของน้ำหนักตัว โดยมีอยู่ในเซลล์ (Cell) ทั่วร่างกายของผู้ใหญ่ประมาณ 150 กรัม (Gram) ซึ่งกำมะถันเป็นองค์ประกอบสำคัญของกรดอะมิโน (Amino acid) 3 ชนิด ได้แก่ ซิสเทอีน (Cysteine), ซิสทีน (Cystine) และ เมทไทโอนีน (Methionine) ร่างกายจะดูดซึมธาตุดังกล่าวในรูปของซัลไฟต์ (Sulfide) และเปลี่ยนเป็นซัลเฟต(Sulfate หรือ Sulphate)/เกลือของกรดกำมะถัน(Sulfuric acid)ที่ตับ
กำมะถันมีผลต่อร่างกายอย่างไร?
กำมะถันมีผลต่อร่างกายดังนี้ เช่น
1. เป็นองค์ประกอบของกรดอะมิโน เช่น เมทไทโอนีน, ซีสทีน, และซีสเทอีน
2. เป็นองค์ประกอบของวิตามินบี 1 (Vitamin B 1) และไบโอติน (Biotin)
3. เป็นองค์ประกอบของอินซูลิน(Insulin) ซึ่งเป็นฮอร์โมน (Hormone) ที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
4. เป็นองค์ประกอบของเฮพาริน (Heparin) ซึ่งเป็นสารที่ป้องกันการแข็งตัวของเลือด
5. เป็นองค์ประกอบของไขมัน เช่น ซัลโฟไลปิด (Sulfolipid) ซึ่งพบมากใน ตับ ไตและสมอง
6. เป็นองค์ประกองของมิวโคโพลีแซคคาไรด์ (Mucopolysaccharide) ซึ่งพบมากใน เอ็น กระดูกอ่อน ขน ผม เล็บ และลิ้นหัวใจ
7. ตับ จะนำกำมะถันในกรดอะมิโนมาเป็นตัวช่วยในการกำจัดสารพิษบางชนิด (Detoxification) ที่เกิดหลังจากย่อยและดูดซึมสารอาหารจำพวกโปรตีน โดยเปลี่ยนให้กลายเป็นสารไม่มีพิษที่ถูกขับออกทางไตในรูปของปัสสาวะ
8. มีบทบาทเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) โดยทำงานเป็นส่วนหนึ่งของระบบกลูตาไทโอนรีดักเทส (Glutathione reductase system)
แหล่งอาหารที่พบกำมะถัน
ถ้าร่างกายได้รับโปรตีนอย่างเพียงพอ จะทำให้ร่างกายได้รับกำมะถันเพียงพอ โดยอาหารที่มีโปรตีนมีกำมะถันอยู่ประมาณร้อยละ 0.4–1.6(0.4-1.6%) พบกำมะถันมากในอาหารประเภท เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่วเมล็ดแห้ง และในผักตระกูลกะหล่ำปลี เป็นต้น
สรุป
กำมะถันเป็นสารประกอบที่สำคัญในกระบวนการทำงานต่างๆของร่างกาย ดังนั้นการได้รับกำมะถันอย่างเพียงพอจะช่วยให้ร่างกายทำงานได้ปกติ โดยการทานอาหารที่มีโปรตีนเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จะทำให้ได้รับกำมะถันในปริมาณที่เหมาะสม
บรรณานุกรม
- อาหารหลัก 5 หมู่ https://krooaoodpat.files.wordpress.com [2018,July18]
- บทที่ 6 วิตามิน แร่ธาตุและน้ำ www.facagri.cmru.ac.th/2013/wp-content/uploads/.../6วิตามิน-แร่ธาตุ-น้ำ.pdf [2018,July18]
- Mineral. www.si.mahidol.ac.th/department/biochemistry/.../minerals%20(ฉบับสมบูรณ์).pdf [2018,July18]