การแพ้ยาเพนิซิลลิน (Penicillin Allergy)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเพนิซิลลิน/ยาต่างๆในกลุ่มยาเพนิซิลลิน(Penicillin) เป็นยาในกลุ่มยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) หรือยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย(Antibacterial) ด้วยเป็นยาที่มีราคาถูกเมื่อเทียบกับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มอื่นๆ และมีความสามารถในการออกฤทธิ์ครอบคลุมเชื้อแบคทีเรียได้มาก จึงได้รับความนิยมใช้ในทางการแพทย์ในการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดต่างอย่างกว้างขวาง

ยาในกลุ่มเพนิซิลลิน มีโครงสร้างทางเคมีส่วนหนึ่งที่มีร่วมกับเรียกว่า “เบต้าแล็กแตม” (Beta Lactam) ซึ่งเป็นโครงสร้างทางเคมีที่มีผลต่อการรักษา และเป็นโครงสร้างทางเคมีที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ยาอีกด้วย ดังนั้นผู้ป่วยที่แพ้ยาเพนิซิลลินชนิดหนึ่งแล้ว อาจแพ้ยาปฏิชีวนะอื่นๆในกลุ่มยาเพนิซิลลินด้วยก็ได้

การแพ้ยาเพนิซิลลินแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ แบบแรกคือ “การแพ้ยาที่แท้จริง (True Allergy)” ซึ่งเป็นอาการแพ้ยาแบบเฉียบพลัน (Anaphylaxis) ส่วนการแพ้ยานี้อีกรูปแบบ คือ “การแพ้ยากึ่งเฉียบพลัน (Sub-acute Reactions)” ซึ่งพบ

อัตราการแพ้ยาเพนิซิลลินถือว่าอยู่ในระดับที่สูง คือประมาณร้อยละ 10(10%)ของผู้ป่วยทั้งหมดที่ใช้ยาในกลุ่มนี้ อย่างไรก็ดี พบว่าการแพ้ยาเพนิซิลลินจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป โดยมีเพียงประมาณร้อยละ20(20%)ของคนที่เคยแพ้ยาเพนิซิลลินและยังแพ้ยาอยู่เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปีจากการได้รับยานี้ครั้งแรก

การแพ้ยาเพนิซิลลินเกิดได้อย่างไรและมีสาเหตุมาจากอะไร?

การแพ้ยาเพนิซิลลิน

การแพ้ยาในกลุ่มเพนิซิลลินเกิดจากปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานในร่างกายสร้างสารอิมมิวโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) หรือสารภูมิต้านทานขึ้นต่อต้านสิ่งแปลกปลอม (ในที่นี้คือยาเพนิซิลลิน) จึงก่อให้เกิดอาการแพ้ยาขึ้น โดยทั่วไปสารภูมิต้านทานที่มีความเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาแพ้ยาเพนิซิลลินมี 2 ชนิด คือ อิมมิวโนโกลบูลิน ชนิด อี (Immunoglobulin E; IgE) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการแพ้ยาแบบเฉียบพลัน (Anaphylaxis) และอิมมิวโนโกลบูลิน ชนิด จี (Immunoglobulin G; IgG) ที่มีความเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาแบบกึ่งเฉียบพลัน (Sub-acute reactions) ดังที่จะกล่าวต่อไป

การแพ้ยาเพนิซิลลินมีกลุ่มเสี่ยงหรือปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง?

การแพ้ยาในเพนิซิลลินเป็นปฏิกิริยาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ไม่สามารถคาดเดาการเกิดได้ อย่างไรก็ดี ในผู้ป่วยที่มีประวัติครอบครัวที่เกิดการแพ้ยานี้มาก่อน หรือมีประวัติการแพ้ยาปฏิชีวนะต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มใกล้เคียงกันกับยาเพนิซิลลิน เช่นยา Ampicillin อาจมีความเสี่ยงในการเกิดการแพ้ยาเพนิซิลลินได้มากกว่าบุคคลทั่วไป และพบว่าการให้ยาเพนิซิลลินทางหลอดเลือดำ เช่นยา Penicillin G มีความเสี่ยงในการเกิดปฏิกิริยาการแพ้ยาสูงกว่าการให้ยาเพนิซิลลินด้วยการรับประทาน

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีการทดสอบทางผิวหนังว่า ร่างกายมีปฏิกิริยาการแพ้ยาต่อยาเพนิซิลลินหรือไม่ เพื่อช่วยในการตัดสินใจในการให้ยานี้

ปฏิกิริยาการแพ้ยาเพนิซิลลินมีอาการอะไรบ้าง?

ปฏิกิริยาการแพ้ยาเพนิซิลลินในทางคลินิกแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ

ก. ปฏิกิริยาการแพ้ยาเฉียบพลัน (Acute Reaction/Anaphylaxis): ซึ่งเป็นปฏิกิราการแพ้ยาที่เกิดขึ้นแทบจะทันทีหลังการได้รับยาเพนิซิลลิน จนไปถึงระยะประมาณ 1-2 ชั่วโมงภายหลังการได้รับยานี้ เมื่อได้รับสารกระตุ้น คือตัวยานี้แล้ว สารภูมิแพ้ต่างๆ(เช่น Histamine)จะถูกหลั่งออกมาจากร่างกาย ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดผื่นลมพิษ(Urticaria) เกิดผื่นคันขึ้นตามตัว มีอาการใบหน้าบวม ริมฝีปากและ เปลือกตาบวม (Angioedema) เกิดอาการวิงเวียน มึนงง เนื่องจากความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยบางรายอาจหมดสติได้ ชีพจรเต้นเร็วหรือเต้นอ่อน/เบา หลอดลมเกิดการหดเกร็ง(Brochospasm)ทำให้หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก การแพ้ยาในลักษณะนี้เรียกว่า “การแพ้ยาที่แท้จริง (True Allergy)” ซึ่งพบได้น้อยมาก ประมาณร้อยละ 0.1(0.1%)ของผู้ป่วยที่ใช้ยาเพนิซิลลินทั้งหมด (ผู้ป่วยประมาณ 1-5 รายในทุกๆ 10,000 ราย จะเกิดอาการลักษณะนี้)

ข. ปฏิกิริยาการแพ้ยากึ่งเฉียบพลัน (Sub-acute Reaction): เป็นปฏิกิริยาการแพ้ยาที่เกิดขึ้นภายหลังการได้รับยาเพนิซิลลินไปแล้วประมาณ 1-2 วัน จนไปถึง 7-10 วัน ส่งผลให้เกิดผื่นลมพิษ(Urticaria) มีไข้ ปวดข้อ (Arthralgias) และอาการข้ออักเสบ (Arthritis)

ควรพบแพทย์เมื่อใด?

หากพบว่าเกิดอาการใดอาการหนึ่งขึ้นดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นในหัวข้อ” อาการฯ” โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เพิ่งเริ่มใช้ยากลุ่มเพนิซิลลินในช่วง 2 อาทิตย์แรก ควรหยุดใช้ยานั้นๆ และรีบเข้าพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที เนื่องจากอาการอาจมีความรุนแรงขึ้นได้จนอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิต

แพทย์วินิจฉัยอาการแพ้ยาเพนิซิลลินได้อย่างไร?

การวินิจฉัยอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาซึ่งรวมถึงยาเพนิซิลลิน แพทย์จะพิจารณาจากอาการของผู้ป่วย(จากหัวข้อ ปฏิกิริยาการแพ้ยาเพนิซิลลินมีอาการอะไรบ้าง?) ร่วมกับประวัติการใช้ยาต่างๆของผู้ป่วย ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเองในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา และยาที่เพิ่งเริ่มใช้ โรคประจำตัวต่างๆ ประวัติการเกิดโรคภูมิแพ้ รวมถึงอาการที่บ่งบอกว่าอาการแพ้ยาอาจมีความรุนแรงที่อาจนำไปสู่การทำงานของระบบหัวใจล้มเหลว ได้แก่ การเกิดผื่นลมพิษ หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก ความดันโลหิตต่ำ ปวดตึงบริเวณข้อ ต่อมน้ำเหลืองทั่วตัว บวม โต กว่าปกติ และ/หรือ ผลการทดสอบสมรรถนะการทำงานของปอดผิดปกติ เป็นต้น

แพทย์อาจพิจารณาการตรวจทางห้องปฏิบัติการ(Laboratory Tests)ร่วมด้วย หากเป็นอาการแพ้แบบเฉียบพลันหรือแบบ Anaphylaxis เช่น การตรวจค่า Mast Cell Tryptase ในเลือด เพื่อยืนยันผลว่า อาการที่เกิดขึ้นเกิดจากแมสต์เซลล์ (Mast Cell)หรือไม่ (Mast Cell เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง หากถูกกระตุ้นและเซลล์แตกออก จะทำให้เกิดการหลั่งสารฮีสตามีน (Histamines) ซึ่งก่อให้เกิดอาการแพ้), การทดสอบผิวหนัง (Skin Tests)ดูว่าเกิดการแพ้สาร/ยาอะไร, รวมไปถึงการตรวจหาสารภูมิต้านทานชนิดอี (Immunoglobulin E) ที่มีความจำเพาะกับสารก่อภูมิแพ้ในเลือด (Allergen-specific IgE)

รักษาอาการแพ้ยาเพนิซิลลินอย่างไร?

แนวทางการรักษาการแพ้ยาเพนิซิลลิน คือ การหยุดยาเพนิซิลลินโดยทันที และหลีกเลี่ยงการให้ยา เพนิซิลลิน ยาในกลุ่มเพนิซิลลิน และยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับยาเพนิซิลลินแก่ผู้ป่วยตลอดไป

นอกจากนั้น คือ การรักษาอาการการแพ้ที่เกิดเฉียบพลันของผู้ป่วย โดยแพทย์อาจพิจารณาให้ยาเสตียรอยด์ เช่น ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone), ยาแก้แพ้ (Antihistamine) เช่น ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine), และยาเอฟีดรีน (Ephedrine)เพื่อป้องกันภาวะความดันโลหิตต่ำ, ร่วมกับการให้สารน้ำ/น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ

การแพ้ยาเพนิซิลลินเกิดผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนอย่างไร?

การแพ้ยาเพนิซิลลินโดยส่วนใหญ่ ไม่ได้มีความรุนแรง และมีผู้ป่วยส่วนน้อยเท่านั้นที่เกิดอาการแพ้ยาแบบเฉียบพลัน อย่างไรก็ดี แม้ผู้ป่วยจะมีอาการดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นเพียงเล็กน้อยหลังการใช้ยาเพนิซิลลิน ผู้ป่วยก็ควรเข้าพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยทันที เนื่องจากอาการต่างๆอาจทวีความรุนแรงขึ้นจนเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้ ซึ่งการแพ้ยาที่รุนแรงนี้จะส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด จนอาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

การพยากรณ์โรคของการแพ้ยาเพนิซิลลินเป็นอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของการแพ้ยาเพนิซิลลิน คือ เมื่อเปรียบเทียบกับการแพ้ยาในกลุ่มยาอื่นๆ เช่น การแพ้ยาซัลฟา พบว่าเกิดขึ้นในอัตราที่สูง ประมาณร้อยละ 10(10%) ของผู้ป่วยทั้งหมดที่ใช้ยาเพนิซิลลิน แต่การแพ้ยเพนิซิลลินที่มีความรุนแรงนั้นพบได้น้อยมาก ประมาณร้อยละ 0.1(0.1%)เท่านั้น และยังพบว่าการให้ยาเพนิซิลลินทางหลอดเลือดดำ มีความเสี่ยงในการเกิดปฏิกิริยาการแพ้ยาสูงกว่าการให้ยานี้ด้วยการรับประทาน

ป้องกันการแพ้ยาเพนิซิลลินได้อย่างไร?

วิธีป้องกันการแพ้ยาเพนิซิลลิน เช่น

  • ปัจจุบัน มีเทคโนโลยีการทดสอบทางผิวหนังถึงความไวของผู้ป่วยต่อการแพ้ยาเพนิซิลลิน (Penicillin Skin Sensitivity Testing) ซึ่งหากผลการทดสอบพบว่า ผลตรวจเป็นบวก หมายความว่าร่างกายมีสารภูมิต้านทานชนิดอิมมิวโนโกลบูลิน ชนิด อี(Immunoglobulin E) ที่ทำงานต่อต้านยาเพนซิลลิน ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเพนิซิลลิน และยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มอื่นๆที่มีโครงสร้างทางเคมีชนิดเบต้าแล็กแตม
  • หากมีประวัติการแพ้ยาเพนิซิลลิน ควรแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล และเภสัชกรทราบทุกครั้งที่มีการสั่งยา/ใช้ยา เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่แพ้ ในกรณีที่แพทย์พิจารณาเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องให้ยาเพนิซิลลินแก่ผู้ป่วยนั้น แพทย์อาจการรักษาด้วยวิธี Desensitization เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดความเคยชินกับตัวยาและไม่เกิดปฏิกิริยาการแพ้ต่อต้านตัวยา ซึ่งคือ การให้ยาเพนิซิลลินทีละน้อยๆ และค่อยๆเพิ่มขนาดยาขึ้นเรื่อยๆ ทุกๆ 15-30 นาที การรักษาด้วยวิธีนี้ต้องอยู่ในความควบคุมใกล้ชิดของแพทย์เท่านั้น อย่างไรก็ดี การที่ผู้ป่วยประสบความสำเร็จในวิธี Desensitization ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยจะไม่เกิดปฏิกิริยาการแพ้ยาเพนิซิลลินอีกในการได้รับยาครั้งต่อๆไป เนื่องจากวิธีนี้ จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเคยชินกับตัวยาเป็นการชั่วคราวเท่านั้น หากมีความจำเป็นต้องได้รับยาเพนิซิลลินอีกในอนาคต ก็ต้อง Desensitization ผู้ป่วยอีกทุกครั้งของการใช้ยานี้

บรรณานุกรม

  1. Sanjib Bhattacharya. THE FACTS ABOUT PENICILLIN ALLERGY: A REVIEW. J Adv Pharm Technol Res. 2010 Jan-Mar; 1(1): 11–17.
  2. Penicillin Allergy from WebMD http://www.webmd.com/allergies/guide/penicillin-allergy-topic-overview [2017,Jan21]
  3. Penicillin Allergy from MAYO CLINIC http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/penicillin-allergy [2017,Jan21]
  4. แนวทางปฏิบัติ เรื่อง การดูแลผู้ป่วยที่เกิดปฏิกิริยา Anaphylaxis ระหว่างการให้การระงับความรู้สึก. โรงพยาบาลศิริราช. พ.ศ. 2559. http://www.si.mahidol.ac.th/th/department/anesthesiology/KM/AS-00-4-008-การดูแลผู้ป่วยที่เกิดปฏิกิริยา Anaphylaxis ระหว่างการให้การระงับความรู้สึก.pdf [2017,Jan21]