การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก (Hysteroscopy)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 12 สิงหาคม 2560
- Tweet
- การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกคืออะไร?
- ใครที่ต้องได้รับการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก?
- การเตรียมตัวก่อนไปส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกมีอะไรบ้าง?
- ขั้นตอนการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกมีอะไรบ้าง?
- ขั้นตอนการตรวจทั้งหมดใช้ระยะเวลาประมาณเท่าไร?
- ผู้ป่วยจะทราบผลการตรวจได้เมื่อไร?
- หลังการตรวจแล้วกลับไปทำงานได้เลยหรือไม่?
- หลังการตรวจห้ามทำอะไรบ้าง?
- การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกต้องวางยาสลบหรือไม่?
- มีข้อห้ามในการส่องกล้องโพรงมดลูกหรือไม่?
- การดูแลตนเองหลังจากส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกมีอะไรบ้าง?
- ภาวะแทรกซ้อนจากการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกมีอะไรบ้าง?
- ต้องกลับไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- มีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไหร่หลังการตรวจ?
- ตั้งครรภ์ได้เมื่อไหร่หลังการตรวจ?
- ควรคุมกำเนิดอย่างไรหลังการตรวจ?
- บรรณานุกรม
- เลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด (Irregular bleeding per vagina)
- ประจำเดือนผิดปกติ (Menstrual disorder)
- แท้งซ้ำ (Recurrent miscarriage)
- ภาวะมีบุตรยาก (Infertility)
- พังผืดในโพรงมดลูก (Uterine synechiae)
- ติ่งเนื้อโพรงมดลูก (Endometrial polyp)
- การสวนล้างช่องคลอด (Vaginal douching)
การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกคืออะไร?
การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก(Hysteroscopy) เป็นหัตถการทางการแพทย์โดยการใช้กล้องที่เรียกว่าฮีสเตอรโรสโคป (Hysteroscope) ส่องผ่านปากมดลูกเข้าไปดู พยาธิสภาพที่คอปากมดลูก พยาธิสภาพในโพรงมดลูก โดยตรง หรือดูในบริเวณรูเปิดของท่อนำไข่เข้าสู่โพรงมดลูก ข้อเด่นของการตรวจวิธีนี้ที่เหนือกว่า/ดีกว่าการขูดมดลูก คือ แพทย์สามารถเห็นพยาธิสภาพของโพรงมดลูกได้โดยตรง ซึ่งมีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยรายที่พยาธิสภาพอยู่กันเป็นกระจุก(Focal lesion) ซึ่งการตรวจด้วยวิธีนี้ สามารถใช้เป็นเครื่องมือสำหรับวินิจฉัยโรค และยังสามารถให้การรักษาโรคไปพร้อมกันในครั้งเดียวเลย เช่น การตัดติ่งเนื้อในโพรงมดลูก การตัดเนื้องอกมดลูก หรือการเอาห่วงอนามัยที่ติดค้างในโพรงมดลูกออก แต่ข้อจำกัดของการใช้กล้องส่องโพรงมดลูก คือจะไม่สามารถวินิจฉัยโรคที่อยู่ในชั้นกล้ามเนื้อมดลูก หรือ ในท่อนำไข่ได้
ใครที่ต้องได้รับการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก?
การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกเป็นหัตถการที่ทำได้ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เนื่องจากต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ และแพทย์ต้องมีการฝึกฝนความชำนาญ การตรวจวิธี นี้สามารถทำการวินิจฉัยและรักษาไปพร้อมกันครั้งเดียวได้เลยหากแพทย์พบพยาธิภาพ ซึ่งแพทย์มักแนะนำให้มีการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกในผู้ป่วยที่มีอาการและ/หรือ มีอาการแสดง ดังต่อไปนี้
1. สตรีวัยเจริญพันธุ์ที่มีเลือดประจำเดือนออกผิดปกติ ทั้งในด้านปริมาณ และ/หรือระยะเวลา
2. สตรีที่ได้รับการตรวจอัลตราซาวด์มดลูกแล้วสงสัยว่ามี เนื้องอก หรือ มีติ่งเนื้อภายในโพรงมดลูก
3. สตรีวัยหมดประจำเดือนที่มีเลือดออกจากโพรงมดลูก(เลือดออกทางช่องคลอด) และหลังได้ทำการดูดชิ้นเนื้อโพรงมดลูก หรือขูดมดลูกแล้ว ยังมีเลือดออกอีกหลังการรักษา
4. สตรีที่มีภาวะแท้งบุตรเป็นอาจิณ/แท้งซ้ำ ร่วมกับตรวจทางอัลตราซาวด์มดลูกพบว่ามีเนื้องอกหรือติ่งเนื้อในโพรงมดลูก
5. สตรีที่มีมดลูกผิดปกติ เช่น มีผนังกั้นในโพรงมดลูก(Septate uterus)
6. สตรีที่มีบุตรยากร่วมกับประวัติ มีประจำเดือนมาน้อยมาก หรือไม่มีประจำเดือน หลังจากเคยขูดมดลูก คาดว่าน่าจะเกิดมีพังผืดในโพรงมดลูก (Asherman’s syndrome)
7. สตรีที่ใส่ห่วงอนามัยมานานและไม่สามารถดึงสายห่วงออกได้ตามปกติ ซึ่งอาจเกิดจากมีเนื้อเยื่อในโพรงมดลูกไปหุ้มห่วง หรือมีบางส่วนของห่วงทะลุผนังมดลูก แพทย์จึงต้องส่องกล้องเข้าไปคีบเอาห่วงอนามัยออกมา
8. สตรีที่มีประจำเดือนออกมาก โดยไม่พบพยาธิสภาพจากการตรวจภายนอกมดลูก แพทย์สามารถส่องกล้องเข้าไปในโพรงมดลูกและทำการทำลายเยื่อบุโพรงมดลูก หรือตัดเยื่อบุโพรงมดลูก เพื่อไม่ให้มีประจำเดือน
การเตรียมตัวก่อนไปส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกมีอะไรบ้าง?
ในการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกเพื่อการวินิจฉัยโรคอย่างเดียวเพื่อหาสาเหตุของโรค สามารถทำที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกนรีเวชได้เลย ไม่ต้องงดข้าว งดน้ำ เพราะอุปกรณ์ในการตรวจเพื่อวินิจฉัย จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของกล้องเล็กกว่า อุปกรณ์ที่ใช้ในการผ่าตัด
แต่หากแพทย์ต้องทำการผ่าตัดพยาธิสภาพในโพรงมดลูก ผู้ป่วยจำเป็นต้อง งดข้าว งดน้ำ 6 ชั่วโมงก่อนไปทำการรักษาด้วยการส่องกล้องตรวจทางโพรงมดลูก
ขั้นตอนการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกมีอะไรบ้าง?
ขั้นตอนการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกสำหรับในรายที่มีพยาธิสภาพในโพรงมดลูก และแพทย์นัดทำการผ่าตัดในโพรงมดลูก ต้องมีการเตรียมตัวดังนี้
1. นอนโรงพยาบาลก่อนวันผ่าตัด หรืออาจเป็นเช้าวันผ่าตัด ในกรณีที่แพทย์นัดผ่าตัดเนื้องอกในโพรงมดลูก มักนัดหลังประจำเดือนหยุดใหม่ๆ เพราะเยื่อบุโพรงมดลูกระยะนี้จะบาง จึงง่ายต่อการทำหัตถการ
2. งดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืน
3. แพทย์จะให้เหน็บยา 1-2 เม็ด (ยา Misoprostol)ในช่องคลอดคืนก่อนผ่าตัด หรือเช้าวันก่อนผ่าตัดเพื่อช่วยทำปากมดลูกนิ่มและทำให้ขยายปากมดลูกได้ง่ายขึ้นก่อนที่จะใส่กล้องผ่านปากมดลูกเข้าไปในโพรงมดลูก
4. วิสัญญีแพทย์(หมอดมยา)จะให้ยาระงับความรู้สึก ด้วยการวางยาสลบ
5. สูตินรีแพทย์ทำการตรวจภายในประเมินสภาพมดลูกอีกครั้ง ทำการขยายปากมดลูกจนสามารถสอดใส่กล้องผ่านเข้าเข้าในโพรงมดลูกได้
6. แพทย์ต้องทำการขยายโพรงมดลูก อาจเป็นก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ หรือด้วยสารน้ำ ซึ่งมีสารน้ำหลายประเภท ขึ้นกับวัตถุประสงค์ของแพทย์ ในการผ่าตัดที่ต้องใช้สารน้ำเป็นตัวขยายโพรงมดลูก จะมีท่อนำสารน้ำเข้าไปในโพรงมดลูก และมีท่อนำสารนำออกมาจากโพรงมดลูก
7. แพทย์ทำการผ่าตัดรักษาพยาธิสภาพในโพรงมดลูก
8. ในบางกรณีที่ก้อนเนื้อในโพรงมดลูกมีขนาดใหญ่ การผ่าตัดรักษาอาจไม่สำเร็จในครั้งเดียว เพราะความจำกัดด้านความสมดุลระหว่างปริมาณสารน้ำที่ใส่เข้าไปในโพรงมดลูกและปริมาณสารน้ำที่ไหลจากโพรงมดลูกออกมา สารน้ำส่วนหนึ่งจะถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกาย หากสารน้ำเข้าไปในร่างกายมากเกินไป ก็อาจเป็นอันตรายได้ ดังนั้นหากปริมาณสารน้ำมีความแตกต่างกัน 1,000 มิลลิลิตร(ระหว่างปริมาณสารที่ใส่เข้าไปในโพรงมดลูกและที่แพทย์ดูดออกมา) จำเป็นต้องหยุดทำหัตถการ แล้วเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน และนัดผู้ป่วยมาทำการรักษาในครั้งใหม่
ขั้นตอนการตรวจทั้งหมดใช้ระยะเวลาประมาณเท่าไร?
ระยะเวลาในการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกขึ้นกับหัตถการที่ทำ
- หากเป็นการส่องกล้องเพื่อการวินิจฉัยโรค จะใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 10-30 นาที
- หากเป็นการผ่าตัด ระยะเวลาขึ้นอยู่กับความยากง่าย ขนาดของเนื้องอก หากเนื้องอกมีขนาดใหญ่ การผ่าตัดจะใช้เวลานานกว่า โดยทั่วไประยะเวลาเมื่อนับเฉพาะตอนผ่าตัด (ไม่นับรวมการเตรียมอุปกรณ์ การขยายปากมดลูก) มักจะทำหัตถการนานไม่เกิน 1 ชั่วโมง บางครั้งอาจต้องนัดผู้ป่วยมาทำผ่าตัดครั้งที่ 2 ในครั้งถัดไป
ผู้ป่วยจะทราบผลการตรวจได้เมื่อไร?
ในการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก สถานพยาบาลบางแห่งจะมีการบันทึกภาพภายในโพรงมดลูก ความผิดปกติต่างๆ ไว้ให้ผู้ป่วยดูในขณะทำการตรวจ หรือหลังการตรวจเสร็จแล้ว แต่บางครั้งจะเป็นการวาดภาพ หรือ เขียนภาพคร่าวๆ(ไดอะแกรม/Diagram) ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะพูดคุยกับผู้ป่วยหลังผู้ป่วยรู้สึกตัวดีแล้ว
สำหรับชิ้นเนื้อที่แพทย์ตัดจากรอยโรคในโพรงมดลูก แพทย์จะส่งตรวจทางพยาธิวิทยาต่อไป และนัดผู้ป่วยกลับมาฟังผลตรวจ ซึ่งอาจใช้เวลา 1-4 สัปดาห์กว่าจะทราบผลขึ้นกับแต่ละโรงพยาบาล
หลังการตรวจแล้วกลับไปทำงานได้เลยหรือไม่?
หลังจากการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก ในกรณีที่เป็นการวินิจฉัยโรค ไม่ได้ดมยาสลบ ผู้ป่วยอาจไม่ต้องพักงาน กลับไปทำงาน ใช้ชีวิตได้ตามปกติ
แต่หากเป็นการผ่าตัด มีการเสียเลือดมาก และต้องดมยาสลบด้วย แพทย์อาจต้องให้ผู้ป่วยพักดูแลตนเองที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์
แต่อย่างไรก็ตาม แพทย์ผู้ตรวจรักษาผู้ป่วย จะให้คำแนะนำผู้ป่วยในเรื่องนี้เป็นกรณีๆไป
หลังการตรวจห้ามทำอะไรบ้าง?
ข้อห้ามหลังการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก คือ งดกิจกรรมดังจะกล่าวต่อไป ประมาณ 2 สัปดาห์หลังการตรวจ จนกว่าจะ ไม่มี อาการเจ็บ/ปวดที่ ช่องคลอด ที่ท้องน้อย ตกขาว และ/หรือเลือดออกทางช่องคลอด กิจกรรมดังกล่าว ได้แก่
- สวนล้างช่องคลอด
- มีเพศสัมพันธ์
- อาบน้ำในอ่างอาบน้ำ
- ว่ายน้ำ
- การใช้ผ้าอนามัยแบบสอด(Tampon)
การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกต้องวางยาสลบหรือไม่?
หากเป็นการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกเพื่อการวินิจฉัยโรคอย่างเดียว ไม่ต้องวางยาสลบ แต่หากเป็นการส่องกล้องฯผ่าตัดพยาธิสภาพในโพรงมดลูก ต้องวางยาสลบ
มีข้อห้ามในการส่องกล้องโพรงมดลูกหรือไม่?
ข้อห้ามในการส่องกล้องโพรงมดลูก ได้แก่
1. มีการตั้งครรภ์
2. มีการอักเสบในอุ้งเชิงกราน/การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน อย่างรุนแรง
3. มีมะเร็งปากมดลูก
การดูแลตนเองหลังจากส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกมีอะไรบ้าง?
การดูแลตนเองหลังจากส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก ได้แก่
1. การมีเลือดออกเล็กน้อยทางช่องคลอดหลังผ่าตัด/ส่องกล้องฯ ถือเป็นเรื่องปกติ บางครั้งอาจเห็นเศษเนื้อจากที่ทำการผ่าตัดที่ค้างในโพรงมดลูกหลุดออกมาด้วย ซึ่งอาจมีเลือดออกมาได้นาน ประมาณ 5-7 วันหลังการตรวจ
2. อาจมีอาการปวดหน่วงบริเวณมดลูกได้ สามารถรับประทานยาแก้ปวด เช่นยาพาราเซตามอลได้
3. ห้ามไม่ทำการสวนล้างช่องคลอด
ภาวะแทรกซ้อนจากการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกมีอะไรบ้าง?
โดยทั่วไปภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)จากการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกเกิดขึ้นน้อย ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น
1. ปากมดลูกฉีกขาด เนื่องจากการขยายปากมดลูก
2. มดลูกทะลุ ขณะใส่เครื่องมือเข้าไปในโพรงมดลูก หรือ ทะลุขณะผ่าตัดเนื้องอกในโพรงมดลูก
3. ร่างกายเกิดการเสียสมดุลของสารน้ำและเกลือแร่ ความรุนแรงมีตั้งแต่ในระดับน้อยๆ คือ ไม่มีอาการ จนถึงมีอาการมาก เช่น ชัก หัวใจเต้นผิดปกติ หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้
4. เลือดออกมากจากมดลูก/เลือดออกมากทางช่องคลอด
5. มีการติดเชื้อในโพรงมดลูก(เยื่อบุมดลูกอักเสบ)
ต้องกลับไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
ต้องกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
1. เลือดออกทางช่องคลอดมาก หรือ นาน กว่าปกติ
2. ปวดท้องน้อยมากกว่าปกติ
3. ตกขาวเป็นหนอง มีกลิ่นเหม็น
4. มีไข้สูง หนาวสั่น
มีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไหร่หลังการตรวจ?
หลังการตรวจส่องกล้องโพรงมดลูก หากไม่มีอาการผิดปกติ ไม่ปวดท้อง ไม่มีเลือดออกจากโพรงมดมูก/เลือดออกทางช่องคลอด และแพทย์ไม่ได้ทำหัตถการในโพรงมดลูก(เช่น ตัดชิ้นเนื้อ ผ่าตัดเนื้องอก) โพรงมดลูกไม่มีแผล สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้
ส่วนรายที่มี การตัดชิ้นเนื้อ การผ่าตัดในโพรงมดลูก มีการเสียเลือด และยังมีเลือดออกจากโพรงมดลูก ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ช่วงที่มีเลือดออก โดยทั่วไปแนะนำงดการมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 2 สัปดาห์
ตั้งครรภ์ได้เมื่อไหร่หลังการตรวจ?
หลังการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก ถ้ามีการตัดชิ้นเนื้อ หรือการผ่าตัดในโพรงมดลูก ควรคุมกำเนิดด้วยการใช้ถุงยางนามัยชายประมาณ 1-3 เดือน เพื่อให้เยื่อบุโพรงมดลูกได้มีการเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ในอนาคต แต่ถ้าไม่มีการทำหัตถการในการตรวจฯ ควรปรึกษาแพทย์ได้เลยถึงการเตรียมตัวตั้งครรภ์
ควรคุมกำเนิดอย่างไรหลังการตรวจ?
หลังการตรวจส่องกล้องโพรงมดลูก และยังไม่ต้องการมีบุตร สามารถคุมกำเนิดได้หลายวิธี เช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัย แต่หากวางแผนการตั้งครรภ์ในระยะอันใกล้ ควรใช้ วิธีคุมกำเนิดที่ไม่มีส่วนประกอบของยาฮอร์โมน/ไม่ใช้ยาฮอร์โมนต่างๆในการคุมกำเนิด ควรใช้ถุงยางอนามัยชายจะเหมาะสม