การล้วงรก (Manual removal of placenta)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 19 พฤษภาคม 2559
- Tweet
- การล้วงรกคืออะไร?
- สาเหตุที่ทำให้รกไม่คลอดมีอะไรบ้าง?
- ใครมีความเสี่ยง/ปัจจัยเสี่ยงต่อการล้วงรก?
- การล้วงรกเจ็บหรือไม่?
- การล้วงรกทำอย่างไร?
- ภาวะแทรกซ้อนจากการล้วงรกมีอะไรบ้าง?
- สามารถป้องกันการล้วงรกได้หรือไม่?
- สตรีที่ได้ทำการล้วงรกต้องดูแลตนเองอย่างไร?
- สตรีที่ได้ทำการล้วงรกต้องไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- สตรีที่ได้ทำการล้วงรกสามารถตั้งครรภ์อีกได้หรือไม่?
- ในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปต้องถูกล้วงรกอีกหรือไม่?
- บรรณานุกรม
- การคลอด การคลอดบุตร (Childbirth)
- รกค้าง (Retained placenta)
- รกงอกติด (Placenta accreta)
- ตกเลือดหลังคลอด (Postpartum hemorrhage)
- รกน้อย (Accessory lobe of placenta)
- การขูดมดลูก (Fractional dilatation and curettage)
- การผ่าท้องคลอดบุตร การผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้อง (Caesarean section)
- เนื้องอกมดลูก (Myoma uteri)
การล้วงรกคืออะไร?
ในการคลอดบุตรปกติทางช่องคลอด เมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว มดลูกจะหดรัดตัวทำให้รกที่เกาะที่ผนังโพรงมดลูกถูกแยกจากตำแหน่งที่เกาะภายในโพรงมดลูก พร้อมที่จะคลอดรกออกมา พบว่าประมาณ 5 - 10 นาทีหลังจากทารกคลอด รกจะคลอดตามออกมา โดยแพทย์จะมีการทำหัตถการช่วยคลอดรกเพียงเล็กน้อย แต่หากเมื่อเวลาผ่านไปเกิน 30 นาทีไปแล้วรกยังไม่คลอดออกมาถือว่าเป็นเหตุการณ์ผิดปกติ แพทย์ต้องรีบให้การช่วยเหลือโดยการล้วงรก (Manual removal of placenta) เพื่อให้รกออกมาจากโพรงมดลูก เพื่อให้มดลูกหดรัดตัวได้ดี ป้องกันภาวะตกเลือดหลังคลอด ในบางครั้งอาจรอไม่ถึง 30 นาทีหากผู้มาคลอดมีเลือดออกมากผิดปกติโดยที่รกยังไม่คลอด แพทย์อาจพิจารณาทำการล้วงรกเลยเพื่อลดอันตรายที่จะเกิดกับผู้คลอด
การล้วงรกเป็นหัตถการสำคัญและจำเป็นที่ต้องทำในภาวะฉุกเฉินในสตรีที่มาคลอดเพราะ ไม่เช่นนั้นการที่มีรกค้างในโพรงมดลูกหรือรกไม่คลอดหลังทารกคลอด จะทำให้มดลูกหดรัดตัวไม่ดีทำให้มีเลือดออกมากจากโพรงมดลูกจนเป็นอันตรายต่อผู้คลอดอย่างมาก
สาเหตุที่ทำให้รกไม่คลอดมีอะไรบ้าง?
สาเหตุที่ทำให้รกไม่คลอดมีดังนี้คือ
1. รกเกาะลึกและเกาะแน่นผิดปกติ ตามปกติรกจะเกาะที่ชั้นเยื่อบุโพรงมดลูกที่สามารถลอกตัวได้ง่าย แต่หากรกเกาะลึกลงไปถึงชั้นกล้ามเนื้อมดลูกจะทำให้รกลอกตัวได้ยาก
2. การมีรกน้อยหรือมีรกหลายก้อน ทำให้รกลอกตัวออกมาไม่หมด
3. ปากมดลูกหดรัดตัวมากผิดปกติจนทำให้รกไม่สามารถคลอดออกมาได้ (Partially close cervix and trapped placenta or Incarcerated placenta)
ใครมีความเสี่ยง/ปัจจัยเสี่ยงต่อการล้วงรก?
ผู้มีความเสี่ยง/ปัจจัยเสี่ยงต่อการล้วงรกได้แก่
1. ผู้ที่เคยผ่าตัดคลอดบุตร ผ่าตัดเนื้องอกในโพรงมดลูก จะมีแผลที่โพรงมดลูกทำให้รกที่เกาะ บริเวณแผลเกาะลึกกว่าปกติ
2. ผู้ที่เคยขูดมดลูกหลายครั้งทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกมากเกินไปเกิดแผลเป็นในโพรงมดลูก ทำให้รกที่เกาะบริเวณแผลลึกกว่าปกติ
3. ผู้ที่มีรกน้อยหรือมีรกหลายก้อน ทำให้รกลอกตัวออกมาไม่หมด
4. ผู้ที่มีเนื้องอกมดลูกทำให้รกเกาะผิดปกติ
การล้วงรกเจ็บหรือไม่?
การล้วงรกมีความเจ็บขณะทำหัตการ แต่แพทย์ต้องให้ยานอนหลับหรือดมยาสลบตอนล้วงรก ผู้ป่วยจึงไม่ต้องกังวลกลัวเจ็บ
การล้วงรกทำอย่างไร?
เมื่อสูติแพทย์ตัดสินใจต้องทำการล้วงรก จะมีการปรึกษาวิสัญญีแพทย์ช่วยให้ยานอนหลับ และยาแก้ปวดแก่ผู้ป่วย/ผู้คลอดเพื่อทำให้ผู้คลอดไม่เจ็บปวดตอนล้วงรก ทีมแพทย์จะจัดผู้คลอดให้นอนในท่าชันเข่าหรือขึ้นขาหยั่ง จากนั้นแพทย์จะสวมถุงมือยางที่ปราศจากเชื้อที่ยาวถึงข้อศอก แล้วใช้มือด้านที่ไม่ถนัดจับสายสะดือตรึงไว้ ค่อยๆสอดมือด้านที่ถนัดตามสายสะดือเข้าไปในช่องคลอดและเข้าไปในโพรงมดลูกตามลำดับ จากนั้นใช้สันมือค่อยๆเซาะรกออกจากที่เกาะในโพรงมดลูกจนรกทั้งหมดหลุดจากการเกาะผนังมดลูก ระหว่างการเซาะรก มืออีกข้างที่จับสายสะดือจะเปลี่ยนมากดหน้าท้องส่วนที่เป็นตำแหน่งยอดมดลูกไว้เพื่อให้ทำการล้วงรกง่ายขึ้นและลดโอกาสมดลูกทะลุ เมื่อรกหลุดลอกทั้งหมดแล้ว แพทย์ก็ดึงมือออกจากโพรงมดลูกพร้อมรก จากนั้นทำการคลึงมดลูกเพื่อกระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก พร้อมกับให้ยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูกและให้ยาฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อในโพรงมดลูก/เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบด้วย
ภาวะแทรกซ้อนจากการล้วงรกมีอะไรบ้าง?
ภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากการล้วงรกที่อาจพบได้เช่น
1. ติดเชื้อในโพรงมดลูก/เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ
2. เลือดออกจากโพรงมดลูกมาก/ตกเลือดหลังคลอด
3. มดลูกหดรัดตัวไม่ดีทำให้ตกเลือดหลังคลอด
4. มดลูกแตกหรือมดลูกทะลุหรือมีการฉีกขาดของปากมดลูกและ/หรือช่องคลอด
สามารถป้องกันการล้วงรกได้หรือไม่?
การป้องกันการล้วงรกคือ
- ในสตรีหลังคลอดจะมีการป้องกันการตกเลือดหลังคลอดและกระตุ้นให้มดลูกหดตัวดีขึ้น และเพิ่มการหลุดลอกของรกโดยการฉีดยากลุ่ม Oxytocin
- นอกจากนั้นการทำคลอดโดยวิธี Controlled cord traction (วิธีการทำคลอดที่ช่วยให้รกหลุดลอกตัวได้ดี) ก็จะช่วยลดอุบัติการณ์การล้วงรกได้
สตรีที่ได้ทำการล้วงรกต้องดูแลตนเองอย่างไร?
สตรีที่ได้ทำการล้วงรกควรดูแลตนเองดังนี้
1. รับประทานยาต่างๆตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อในโพรงมดลูก
2. รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและสุขภาพอนามัยทั่วไป (สุขอนามัยพื้นฐาน/สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง แผลต่างๆที่เกิดขึ้นจะได้หายดีและลดโอกาสติดเชื้อ
3. พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัด
สตรีที่ได้ทำการล้วงรกต้องไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
สตรีที่ได้ทำการล้วงรกต้องไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
1. มีเลือดออกจากโพรงมดลูกหลังคลอด/น้ำคาวปลามากและ/หรือนานผิดปกติ ซึ่งโดยทั่วไป น้ำคาวปลาจะมีปริมาณลดลงเรื่อยๆหลังคลอดประมาณ 2 สัปดาห์และสีจะจางลงเรื่อยๆจนหมดไปภายใน 3 – 4 สัปดาห์หล้งคลอด
2. เลือดจากช่องคลอดหรือน้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น
3. ปวดท้องน้อยมากผิดปกติ
4. มีไข้
สตรีที่ได้ทำการล้วงรกสามารถตั้งครรภ์อีกได้หรือไม่?
สตรีที่ได้ทำการล้วงรก สามารถตั้งครรภ์ครั้งต่อไปได้ตามปกติ แต่ต้องรับทราบความเสี่ยงว่ามีโอกาสรกงอกติดในครรภ์ต่อไปและต้องถูกล้วงรกอีก และควรเว้นระยะมีบุตรไป 2 - 3 ปีเพื่อมีเวลาเลี้ยงลูกได้เต็มที่
ในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปต้องถูกล้วงรกอีกหรือไม่?
ในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปสตรีที่เคยถูกล้วงรกมีความเสี่ยงที่จะมีรกงอกติดและต้องถูกล้วงรกอีก โดยเฉพาะหากยังมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังได้กล่าวในหัวข้อ “ผู้มีความเสี่ยง/ปัจจัยเสี่ยงฯ”