การตรวจอัลตราซาวด์ทางสูติกรรม (Obstetric ultrasound)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

การตรวจอัลตราซาวนด์ทางสูติกรรมมีประโยชน์อย่างไร?

การตรวจอัลตราซาวนด์/โซโนแกมทางสูติกรรม(Obstetric ultrasound หรือ Obstetric sonogram หรือ Obstetric ultrasonography หรือ Obstetric sonography) เป็นการตรวจที่นิยมมากสำหรับทั้งสูติแพทย์และสตรีตั้งครรภ์ โดยเป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงตรวจดู อายุครรภ์ที่แท้จริงของทารกในครรภ์ ดูการมีชีวิตอยู่ของทารกในครรภ์ ตรวจดูความผิดปกติต่างๆของทารกในครรภ์ สำหรับหัวตรวจอัลตราซาวด์ พัฒนาไปได้หลายแบบ เช่น ตรวจผ่านทางหน้าท้อง ตรวจผ่านทางช่องคลอด ปัจจุบันมีการพัฒนาเครื่องตรวจอัลตราซาวด์อย่างมาก มีทั้งการตรวจอัลตราซาวด์ แบบ 2 มิติ 3 มิติ และ 4 มิติ เครื่องตรวจอัลตราซาวด์ที่ใช้กันทั่วไปเป็นเครื่องตรวจแบบ 2 มิติ สำหรับเครื่องตรวจอัลตราซาวด์ แบบ 3 มิติ, 4 มิติ จะช่วยทำให้แพทย์ประมวล สภาพครรภ์และทารกในครรภ์ได้ชัดเจนมากขึ้น และสามารถมองเห็นความผิดปกติชัดเจนมากขึ้นทั้งของสภาพครรภ์และของทารกในครรภ์ แต่ราคาเครื่องฯยังค่อนข้างสูงมาก จึงมีใช้ในวงจำกัดเฉพาะบางโรงพยาบาล

 

การตรวจอัลลตราซาวด์ทางสูติกรรมสามารถบอกความผิดปกติของทารกได้ทั้งหมดหรือไม่?

การตรวจอัลตราซาวด์ทางสูติกรรม

การตรวจอัลตราซาวด์ทางสูติกรรม(การตรวจอัลตราซาวด์ฯ)ไม่สามารถบอกความผิดปกติของทารกในครรภ์(ทารกฯ)ได้ทั้งหมด 100 % แต่บอกได้เป็นส่วนใหญ่เกี่ยวกับโครงสร้างทารกฯ สามารถบอกได้ถึงความผิดปกติใหญ่ๆที่เป็นความพิกลพิการของร่างกายที่เรียกว่า Major anomalies เช่น แขน ขา สั้นกว่าปกติ จำนวนนิ้วมือนิ้วเท้าเกิน ศีรษะทารกโตหรือเล็กผิดปกติ มีน้ำในช่องปอด หัวใจโต หัวใจมีโครงสร้างผิดปกติ เป็นต้น ส่วนความผิดปกติทางโครงสร้างที่เล็กมาก อาจไม่สามารถบอกความผิดปกติได้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความชำนาญของแพทย์ ประกอบกับคุณภาพของเครื่องตรวจ นอกจากนั้นการทำอัลตราซาวนด์ฯไม่สามารถบอกถึงความฉลาดทางปัญญาของทารกฯได้

 

แพทย์ตรวจอะไรบ้างขณะตรวจอัลตราซาวด์สตรีตั้งครรภ์?

ในการตรวจอัลตราซาวด์ในสตรีตั้งครรภ์ แพทย์จะตรวจดูโครงสร้าง/ร่างกายทารกฯ อายุทารกฯ ดูการมีชีวิตของทารกฯโดยดูจากการเต้นของหัวใจทารกฯ จำนวนทารกฯ ท่าของทารกฯ ตำแหน่งของรก ปริมาณของน้ำคร่ำ การเจริญเติบโตของทารกฯ อวัยวะต่างๆของทารกฯ ความปกติและผิดปกติทางโครงสร้างและอวัยวะภายในต่างๆของทารกฯ และตรวจติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์

 

การตรวจอัลตราซาวด์ทางสูติกรรมสามารถบอกเพศทารกได้แม่นยำหรือไม่?

การขอดูเพศทารกในครรภ์/ทารกฯ เป็นสิ่งที่พ่อแม่หรือสตรีตั้งครรภ์ มักร้องขอจากแพทย์มากที่สุด โดยความแม่นยำในการบอกเพศทารกฯจากการตรวจอัตราซาวด์ฯขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น

  • อายุครรภ์: หากอายุครรภ์น้อยเกินไป ก็บอกเพศทารกฯได้ลำบาก พอสมควร
  • เพศของทารก: หากเป็นทารกเพศชายจะสามารถบอกได้แม่นยำ กว่าทารกเพศหญิง เพราะสามารถ มองเห็นองคชาติทารก(Penis) หรือ เห็นถุงอัณฑะ(Scrotum)ได้ง่าย แต่หากมองไม่เห็นองคชาติของทารกฯ อาจเป็นไปได้ว่าทารกชายหนีบขาปิดอวัยวะเพศ หรืออาจเป็นเพศหญิง
  • ประสบการณ์และความชำนาญของแพทย์ผู้ตรวจ
  • ลักษณะของมารดา: หากอ้วนมาก หน้าท้องหนา อาจดูเพศทารกฯได้ยากกว่าสตรีที่ผอม หน้าท้องบาง
  • ความคมชัดของเครื่องอัลตราซาวด์ และชนิดของเครื่องฯ เช่น เป็นเครื่องอัลตราซาวด์ 2 มิติ หรือ 3มิติ หรือ 4 มิติ

ส่วนใหญ่ทารกอายุครรภ์ 16-20 สัปดาห์ จะสามารถเริ่มเห็นเพศทารกได้ชัดเจนจากการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ฯ 2 มิติ ที่ใช้กันทั่วๆไป และเมื่ออายุทารกในครรภ์เพิ่มขึ้นจะเห็นอวัยวะเพศได้ชัดเจนและบอกเพศได้แม่นยำขึ้น

 

การตรวจอัลตราซาวด์ทางสูติกรรมบ่อยๆมีผลเสียหรือไม่?

การตรวจอัลตราซาวด์ทางสูติกรรมเป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงส่งออกมา ไปกระทบส่วนต่างๆของทารกฯ แล้วสะท้อนกลับ และแปลงเป็นภาพออกมา จึงไม่มีรังสี และจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานอันตรายที่เกิดกับทารกฯซึ่งเป็นผลจากการตรวจอัลตราซาวด์ฯ แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจอัลตราซาวด์ฯหลายครั้งย่อมมีเรื่องค่าใช้จ่ายตามมา และเสียเวลา

 

อะไรเป็นข้อบ่งชี้หรือความจำเป็นที่ต้องตรวจอัลตราซาวด์ทางสูติกรรม?

ข้อบ่งชี้หรือความจำเป็นที่ต้องตรวจอัลตราซาวด์ทางสูติกรรม คือ

ก. การตรวจอัลตราซาวด์ฯในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์(ครรภ์อายุน้อยกว่า 14 สัปดาห์) มีข้อบ่งชี้ดังนี้

1. เพื่อประเมินอายุครรภ์ เป็นข้อบ่งชี้ที่ใช้มากที่สุด มีสตรีจำนวนมากที่จำประจำเดือนครั้งสุดท้ายที่ปกติของตนเองไม่ได้ ทำให้การคำนวณอายุครรภ์ไม่แม่นยำ ซึ่งจะส่งผลไปถึงเรื่อการคาดคะเนวันคลอด แพทย์จึงต้องใช้การตรวจอัลตราซาวนด์ฯ มาช่วยคาดคะเนอายุครรภ์ที่แท้จริง เพื่อการดูแลระหว่างการฝากครรภ์ที่ถูกต้อง การตรวจอัลตราซาวด์ฯที่อายุครรภ์น้อยๆ จะคาดคะเนอายุครรภ์ได้แม่นยำกว่าการตรวจอัลตราซาวด์ฯตอนที่มีอายุครรภ์ช่วงท้ายๆ

2. ดูการมีชีวิตของทารกในครรภ์ การเต้นของหัวใจทารก ในกรณีที่ตั้งครรภ์แล้วมีเลือดออกทางช่องคลอด(การตกเลือดก่อนคลอด)

3. ดูว่าเป็นการตั้งครรภ์แฝด หรือตั้งครรภ์เดี่ยว

4. ดูว่าสตรีที่ตั้งครรภ์มี เนื้องอกมดลูก หรือ ถุงน้ำรังไข่ ร่วมกับการตั้งครรภ์หรือไม่

5. ดูว่าเป็นการตั้งครรภ์ปกติในโพรงมดลูก หรือเป็นการตั้งครรภ์ผิดปกติ เช่น การตั้งครรภ์/ท้องนอกมดลูก

6. ดูความหนาผิวหนังที่บริเวณต้นคอทารก(Nuchal translucency ย่อว่า NT) หากหนาผิดปกติ อาจบ่งบอกถึงโรคบางอย่าง เช่น โรคผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น Down syndrome หรือมีความพิการของหัวใจ

ข. การตรวจอัลตราซาวนด์ฯในช่วงไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์(อายุครรภ์ 14-28 สัปดาห์ ) มีข้อบ่งชี้ดังนี้

1. ประเมินอายุครรภ์หากยังไม่ได้ตรวจตั้งแต่ในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์

2. เพื่อติดตามการเจริญเติบโตของทารกฯ ในทารกฯที่มีความเสี่ยงต่อการเจริญเติบโตช้า

3. ดูตำแหน่งของรก และปริมาณน้ำคร่ำ

4. ดูโครงสร้างทารกฯ และอวัยวะภายในต่างๆของทารกฯ เพื่อค้นหาความผิดปกติต่างๆของทารกฯ(Ultrasound screening) สตรีตั้งครรภ์ทุกคนควรได้รับการตรวจอัลตราซาวนด์ในช่วงอายุครรภ์ 18 -22 สัปดาห์

5. ดูเพศทารก ซึ่งเป็นความต้องการของผู้ป่วยและญาติ

ค. การตรวจอัลตราซาวด์ฯในช่วงไตรมาสที่3ของการตั้งครรภ์(อายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์ ) มีข้อบ่งชี้ดังนี้

1. ดูตำแหน่งรก และปริมาณน้ำคร่ำ

2. ติดตามการเจริญเติบโตของทารกฯ

3. คาดคะเนน้ำหนักทารกฯ หากน้ำหนักมากไปตอนเมื่อใกล้คลอด อาจต้องพิจารณาผ่าตัดคลอดบุตร

4. ดูท่าทารก และส่วนนำของทารก เพื่อประเมินวิธีคลอดบุตรที่เหมาะสม

 

อะไรเป็นข้อดีของการตรวจอัลตราซาวด์ทางสูติกรรม?

ข้อดีของการตรวจอัลตราซาวด์ทางสูติกรรม คือ

1. เป็นการตรวจที่ไม่ทำให้สตรีตั้งครรภ์เจ็บตัว

2. แพทย์ให้การตรวจได้ง่าย

3. สตรีตั้งครรภ์ไม่ต้องมีการเตรียมตัวเป็นพิเศษก่อนทำการตรวจ

4. มีให้บริการทั่วไปได้ทั้งในโรงพยาบาล และที่คลินิกแพทย์

5. ยังไม่มีรายงานว่าเป็นอันตรายต่อสตรีมีครรภ์ และต่อทารกในครรภ์

 

มีข้อจำกัดของการตรวจอัลตราซาวด์ทางสูติกรรมไหม?

ข้อจำกัดของการตรวจอัลตราซาวด์ทางสูติกรรม คือ

1. ไม่สามารถบอกความผิดปกติทางโครงสร้างร่างกายทารกได้ 100% ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ “การตรวจอัลลตราซาวด์ทางสูติกรรมสามารถบอกความผิดปกติของทารกได้ทั้งหมดหรือไม่?”

2. ไม่สามารถบอก/ตรวจความเฉียวฉลาดทางปัญญาของทารกฯได้

3. ภาพที่ได้จากการตรวจอัลตราซาวด์ฯจะใม่ชัดเจน กรณีที่สตรีตั้งครรภ์อ้วน หน้าท้องหนา ซึ่งจะส่งผลให้ได้ผลตรวจไม่ชัดเจน ผิดพลาดได้ง่าย

 

สตรีตั้งครรภ์ทุกคนต้องตรวจอัลตราซาวด์ทางสูติกรรมไหม?

มีคำแนะนำจากวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ สหรัฐอเมริกา (American College of Obstetricians and Gynecologists ย่อว่า ACOG) ปี คศ. 2016 ว่า สตรีตั้งครรภ์ทุกคนควรได้รับการตรวจอัลตราซาวด์ทางสูติกรรม เพื่อคัดกรองความผิดปกติเบื้องต้นของทารกฯและของสตรีตั้งครรภ์ ในช่วงอายุครรได้ 18 -22 สัปดาห์

 

ขั้นตอนการตรวจอัลตราซาวด์ทางสูติกรรมเป็นอย่างไร?

การตรวจอัลตราซาวด์ทางสูติกรรม เป็นการตรวจที่ง่าย ไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า ไม่มีการใช้ยาแก้ปวด หรือยาสลบ ขั้นตอนในการตรวจคือ แพทย์จะให้สตรีตั้งครรภ์นอนหงายบนเตียงตรวจ ถอดเสื้อผ้าท่อนล่างที่ปกคลุมบริเวณหน้าท้องออก แพทย์จะทาเจล(Gel)ใสที่มีฐานส่วนประกอบเป็นน้ำ(Water based gel)ลงบนหน้าท้อง ทาเจลทั่วหน้าท้อง เจลนี้จะเป็นตัวช่วยนำการสะท้อนเสียงจากตัวทารกฯกลับมายังหัวตรวจอัลตราซาวด์ได้ดีขึ้น เมื่อทาเจลทั่วหน้าท้องแล้ว แพทย์จะวางหัวตรวจอัลตราซาวด์ลงบนผนังหน้าท้อง และค่อยๆเคลื่อนหัวตรวจเบาๆไปจนทั่วหน้าท้อง ให้ได้ภาพของทารกฯ และภาพของมดลูกสตรีตั้งครรภ์ตามแพทย์ต้องการ เมื่อตรวจเสร็จเรียบร้อย แพทย์จะเช็ดเจลออกจากหน้าท้อง สตรีตั้งครรภ์ลุกนั่ง ลงจากเตียงตรวจ สวมเสื้อผ้าได้ตามปกติ ซึ่งแพทย์จะแปลผลตรวจ/แจ้งผลตรวจให้สตรีตั้งครรภ์ทราบในขณะที่ทำการตรวจ และหลังการตรวจแล้ว สตรีตั้งครรภ์สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยไม่มีผลข้างเคียงที่ต้องเฝ้าระวังจากการตรวจนี้

ทั้งนี้ ก่อนการตรวจ และระหว่างการตรวจ แพทย์จะให้สตรีตั้งครรภ์กลั้นปัสสาวะไว้ และอาจให้ดื่มน้ำสะอาดประมาณ 2-3 แก้วก่อนการตรวจ เพราะการมีปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะระหว่างการตรวจ จะช่วยให้แพทย์เห็นภาพทารกฯ และภาพภายในมดลูกชัดเจนขึ้น ทั้งนี้การตรวจทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 10-30 นาที

อนึ่ง เจลที่ใช้ในการตรวจอัลตราซาวด์ฯ จะล้างทำความสะอาดได้ง่ายด้วยน้ำสะอาด และโดยทั่วไป ไม่ก่ออาการแพ้หรือการระคายเคืองต่อผิวหนังหน้าท้อง แต่มีรายงานสตรีส่วนน้อยมากบางคนอาจเกิดการระคายเคือง หรือขึ้นผื่นเล็กน้อย ซึ่งอาการจะหายไปเองใน 1-2 วัน โดยไม่ต้องมีการรักษาใดๆ

 

บรรณานุกรม

  1. AGOG. Practice Bulletin. No. 175. Ultrasound obstetrics.2016.
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Ultrasound[2017,April29]
  3. https://www.uptodate.com[2017,April29]
  4. https://medlineplus.gov/ency/article/003778.html[2017,April29]