การตรวจข้างเตียง (Bedside evaluation หรือ Bedside examination)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 7 กันยายน 2556
- Tweet
การตรวจข้างเตียง เป็นกระบวนการสำคัญ และเป็นกระบวนการแรกที่แพทย์ใช้ช่วยในการวินิจฉัยหาสาเหตุของ อาการ โรค หรือภาวะผิดปกติต่างๆ โดยเป็นวิธีในการตรวจวินิจฉัยแรกที่ผู้ป่วยจะได้รับเมื่อพบแพทย์ นั่นคือ
- การตรวจสัญญาณชีพ
- การสอบถามประวัติอาการต่างๆ โดยเริ่มจากการสอบถามผู้ป่วย ถึงอาการสำคัญที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ อาการร่วมอื่นๆที่มีเพิ่มเติมจากอาการสำคัญ ประวัติทางการแพทย์ต่างๆที่แพทย์มีดุล พินิจว่า มีความสำคัญต่อการเกิดความผิดปกติ
- การตรวจร่างกายทั่วไป และการตรวจเฉพาะอวัยวะต่างๆตามอาการผู้ป่วย เช่น การตรวจตา การตรวจหู การตรวจร่างกายทางระบบประสาท ซึ่งการตรวจร่างกายอาจใช้อุปกรณ์ง่ายๆช่วยในการตรวจ เช่น หูฟัง ไฟฉาย ไม้กดลิ้น เครื่องตรวจหู (Otoscope) เครื่องตรวจตา (Ophthalmo scope) และค้อนยางเล็กๆที่ใช้ตรวจรีเฟล็กซ์เพื่อหาความผิดปกติของระบบประสาท
- บางครั้งการตรวจข้างเตียง อาจรวมการตรวจทางกล้องจุลทรรศน์ชนิดที่ทำได้ง่ายในห้องตรวจผู้ป่วย เช่น การตรวจเชื้อ หาเชื้อราจากรอยโรคที่ผิวหนัง เป็นต้น
ประโยชน์ของการตรวจข้างเตียง คือ การช่วยวินิจฉัยโรคที่พบบ่อยได้แม่นยำถึงประมาณ 80-90% และในกรณีการตรวจข้างเตียงไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้เพราะผู้ป่วยมีอาการที่ซับซ้อน แพทย์จะใช้ผลจากการตรวจข้างเตียงเป็นข้อบ่งชี้ว่า สมควรจะตรวจสืบค้นอะไรเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจอุจจาระ หรือตรวจภาพอวัยวะที่มีอาการด้วยเอกซเรย์ เป็นต้น ดังนั้นการตรวจข้างเตียงจึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการตรวจสืบค้นที่ไม่จำเป็นลงไปเป็นอย่างมาก นอกจากนั้น ยังใช้ช่วยตรวจวินิจฉัยเพื่อประเมินผลการรักษา เพื่อติดตามผลการรัก ษา และเพื่อประเมินผลข้างเคียงจากการรักษา รวมทั้งผลข้างเคียงจากยาที่ใช้รักษาความผิด ปกตินั้นๆด้วย
อนึ่ง การตรวจข้างเตียงเริ่มมีการนำมาใช้ในราวต้นศตวรรษที่ 20 และยังคงใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ผู้เขียนได้พยายามสืบค้นหารากศัพท์ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ทำไมจึงเรียกว่า “การตรวจข้างเตียง” แต่ไม่สามารถหาคำตอบได้ จึงได้คาดเดาเองว่า “ตรวจข้างเตียง” น่าจะมาจากลักษณะวิธีการของการตรวจที่แพทย์-พยาบาลยืนอยู่ข้างๆเตียงผู้ป่วยเสมอขณะสอบถามประวัติทางการแพทย์ ร่วมกับการตรวจร่างกายผู้ป่วย โดยผู้ป่วยจะนั่งหรือนอนอยู่บนเตียงตรวจ ซึ่งการตรวจข้างเตียงใช้ตรวจได้ทั้งกับผู้ป่วยทุกๆคน ทั้งที่เป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลและผู้ป่วยที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก
บรรณานุกรม
- Verghese,A. et al. (2011). The bedside evaluation: Ritual and reason. Ann Intern Med. 155, 550-553.