การดูแลเท้าในโรคเบาหวาน (Diabetic foot care) - Update

สารบัญ

  • เกริ่นนำ
  • การป้องกัน
  • การทำนายโรค
  • การรักษา

เกริ่นนำ (Introduction)

โรค เท้าเบาหวาน (Diabetic foot) เป็นผลพวงโดยตรงจากความเสื่อมถอยของ หลอดเลือดแดงส่วนปลาย (PAD) และ/หรือปลายเส้นประสาทรับความรู้สึก ซึ่งส่งผลกระทบต่อเท้าของผู้เป็นเบาหวาน  เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ทั้งในรูปแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง พยาธิสภาพหลายลักษณะที่พบในเท้าเบาหวาน เช่น การติดเชื้อ แผลที่เท้า และพยาธิสภาพของปลายประสาทและกระดูกข้อต่อ จะถูกเรียกโดยรวมว่า กลุ่มอาการของโรคเท้าเบาหวาน (diabetic foot syndrome) และเรียกความผิดปกติของกระดูกเท้าว่า เท้าชาร์กอต (Charcot foot)

ผลจากการสูญเสียการทำงานถึงขั้นรุนแรงของปลายเส้นประสาทจากเบาหวาน (diabetic neuropathy) ทำให้หนังเท้าของผู้ป่วยแห้งและลดความสามารถในการรับรู้ความเจ็บปวด (nociception) ส่งผลให้ไม่รับรู้ถึงการบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจลุกลามกลายเป็นแผลลึกอย่างที่พบเห็นในแผลเท้าเบาหวาน (diabetic foot ulcer ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ป่วยอาจรับการผ่าตัดเท้าได้โดยไม่ต้องใช้ยาชา ระดับการรับรู้ความเจ็บของเท้าสามารถประเมินได้ด้วยอุปกรณ์ตรวจวัดความรู้สึกเจ็บโดยการกระตุ้นด้วยเข็มที่แรง 512 มิลินิวตัน (mN)

ในเบาหวาน การสูญเสียการทำงานของปลายเส้นประสาทอาจเกิดร่วมกับความเสื่อมถอยโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (PAD) ซึ่งส่งผลให้มีเลือดไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงแขนขาไม่เพียงพอ (diabetic angiopathy) ความเสื่อมถอยของผนังหลอดเลือดแดงที่เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง) ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยด้วยโรคเท้าเบาหวาน พบมีภาวะเสื่อมถอยของหลอดเลือดแดงส่วนปลายร่วมด้วย

ข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่าภาวะขาดวิตามินดีมักพบร่วมกับ การติดเชื้อที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวาน และในชุมชนของผู้เป็นเบาหวานพบการติดเชื้อ15% ถึง 25% เลยทีเดียว เนื่องจากเป็นแผลที่หายช้า จึงมีโอกาสติดเชื้อและลุกลามไปยังกระดูกและข้อ เพิ่มความเสี่ยงในการตัดขา

การติดเชื้อที่เท้าเป็นสาเหตุสำคัญที่พบบ่อยของการตัดขาที่ไม่ได้เกิดจากการบาดเจ็บในผู้เป็นเบาหวาน

การป้องกัน (Prevention)

การป้องกันโรคเท้าเบาหวาน จึงรวมไปถึง

  • ควบคุมระบบเผาผลาญให้เหมาะสม ด้วยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  • ตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดแผลโรคเท้าเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการปลายเส้นประสาทเสื่อมจนเท้าชา (advanced painless neuropathy)
  • การให้ความรู้กับผู้ป่วยเพื่อส่งเสริมการตรวจและดูแลเท้าด้วยตนเอง  ผู้ป่วยทุกคนควรได้รับการสอนให้ตรวจดูเท้าของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสังเกตความผิดปกติ เช่น ผิวหนังหนาตัวผิดปกติ  (Hyperekeratosis) ติดเชื้อรา หนังเท้ามีแผล หรือเท้าผิดรูป
  • รองเท้าที่เลือกสวมใส่ก็สำคัญ เพราะการบาดเจ็บซ้ำๆ จากรองเท้าที่คับ อาจเป็นปัจจัยกระตุ้น โดยเฉพาะในผู้ที่มีปลายประสาทเสื่อมอยู่แล้ว
  • มีหลักฐานค่อนข้างจำกัดบ่งชี้ว่าการให้ความรู้ดูแลตนเองที่ไม่ดีพอ มีผลกระทบต่อการป้องกันในระยะยาว

การทำนายโรค (Prediction)

การหมั่นตรวจเท้าของผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ สามารถช่วยทำนายโอกาสในการเกิดแผลได้  วิธีที่ใช้บ่อยคือการใช้เทอร์โมมิเตอร์พิเศษตรวจหาจุดบนเท้าที่มีอุณหภูมิสูงกว่าส่วนอื่น บ่งชี้ว่ามีโอกาสเกิดแผล ในขณะเดียวกันยังไม่มีหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์ที่หนักแน่นพอสำหรับประสิทธิผล ในการตรวจวัดอุณหภูมิเท้าด้วยตนเองที่บ้าน

แนวทางปฏิบัติในปัจจุบันของสหราชอาณาจักร แนะนำให้รวบรวมข้อมูล 8 - 10 รายการในการทำนายการเกิดแผลที่เท้า อย่างไรก็ดี นักวิจัยได้เสนอวิธีที่ง่ายมีรายละเอียดในการประเมิน โดยใช้ข้อมูลหลัก 3 ตัว คือ การสูญเสียการรับรู้ ชีพจรเท้า และประวัติเคยเกิดแผลที่เท้าหรือตัดขามาก่อน อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่าวิธีการดังกล่าว จะมาทดแทนการตรวจเท้าด้วยตนเองเป็นประจำของผู้ป่วยได้ เป็นเพียงเสริมความแม่นยำในการทำนายเท่านั้น 

เมื่อเกิดแผลขึ้นแล้ว แพทย์จะใช้มาตราวัดวากเนอร์ (Wagner) และยูที (UT) ในการประเมินความรุนแรงของแผล  เป็นมาตราวัดที่ดีที่สุดในการทำนายความเสี่ยงที่จะต้องตัดขาหลังเกิดแผลขึ้นแล้ว

การรักษา (Treatment)

การรักษาแผลเท้าเบาหวานเป็นเรื่องทีท้าทายและยืดเยื้อ อาจต้องใช้อุปกรณ์ทางกระดูกและข้อ การผ่าตัด ยาต้านจุลชีพหลายขนาน และการทำแผลเฉพาะที่

แผลติดเชื้อในเท้าเบาหวานส่วนใหญ่ จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมทั้งระบบของร่างกาย การเลือกใช้ยาปฏิชีวนะเบื้องต้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ความรุนแรงของการติดเชื้อ การที่ผู้ป่วยเคยได้รับยาปฏิชีวนะชนิดอื่นมาก่อน และเป็นการติดเชื้อจากจุลินทรีย์ที่ดื้อยาปฏิชีวนะทั่วไปหรือไม่ (เช่น เชื้อ MRSA)  โดยวัตถุประสงค์ของการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะคือเพื่อหยุดยั้งการติดเชื้อและป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย

ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ยาปฏิชีวนะชนิดใดเหมาะสมกว่าตัวอื่นในการรักษาการติดเชื้อ หรือลดความเสี่ยงในการตัดขา มีเพียง 1 การศึกษาที่ชี้แนะว่าการใช้ยาเออร์ทาพีเนม (ertapenem) ร่วม หรือไม่ร่วมกับ แวนโคไมซิน (vancomycin) มีประสิทธิภาพมากกว่าไทเจไซคลิน (tigecycline) ในการรักษาแผลติดเชื้อที่เท้า และก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดเกี่ยวกับความแตกต่างของอาการข้างเคียงที่เกิดจากยาปฏิชีวนะแต่ละชนิด

คำแนะนำในการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาแผลเท้าเบาหวาน

  • การเลือกใช้ยาปฏิชีวนะ: เลือกใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมกับเชื้อที่บ่มเพาะได้จากเนื้อเยื่อส่วนลึกของมิใช่เชื้อที่บ่มเพาะจากหนอง
  • ขนาดยาปฏิชีวนะที่ใช้: เลือกใช้ยาปฏิชีวนะในขนาดที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการดื้อยา
  • การใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่: ไม่เป็นที่ชัดเจนว่ายาปฏิชีวนะเฉพาะที่ สามารถเพิ่มประสิทธิผลในการรักษาหลังการผ่าตัด

อ่านตรวจทานโดย ดร. พญ. สุวิณา รัตนชัยวงศ์

 

แปลและเรียบเรียงจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Diabetic_foot [2025, February 14] โดย อาภาภรณ์ โชติกเสถียร