การดูแลตนเองเมื่อใส่ข้อเข่าเทียม (Self care after knee replacement)
- โดย ผศ.ดร.มนสภรณ์ วิทูรเมธา
- 9 พฤษภาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- การใส่ข้อเข่าเทียมคืออะไร?
- ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมคืออะไร?
- ข้อห้ามการทำผ่าตัดข้อเข่าเทียมมีอะไร
- ข้อดีของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมีอะไรบ้าง?
- ข้อเสียของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมีอะไรบ้าง?
- การดูแลตนเองหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมขณะอยู่โรงพยาบาล
- การปฏิบัติตัวเมื่อผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่ากลับไปอยู่บ้าน
- ข้อห้ามปฏิบัติในการดูแลข้อเข่าเทียม
- การดูแลข้อเข่าข้างที่ไม่ได้ทำผ่าตัด
- สรุป
- บรรณานุกรม
- ข้อเสื่อม เข่าเสื่อม (Osteoarthritis)
- โรคข้อ (Joint disease)
- ข้ออักเสบ (Arthritis)
- ข้ออักเสบติดเชื้อ ข้อติดเชื้อ(Septic arthritis)
- ข้อเสื่อม เข่าเสื่อม (Osteoarthritis)
- การดูแลตนเองเมื่อปวดเข่า (Self care for knee pain)
- ประคบร้อน (Warm compression) ประคบเย็น (Cold compression)
บทนำ
ข้อเข่า เป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายที่ช่วยรับน้ำหนักตัวได้มากที่สุด เพื่อช่วยให้คนเราสามารถทรงตัวได้สมดุล และมีการเคลื่อนไหวร่างกายได้คล่องตัว แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น จะทำให้เกิดการเสื่อมของข้อเข่าที่ใช้งานมายาวนาน ร่วมกับผู้ป่วยบางรายมีน้ำหนักตัวมากหรืออ้วน ที่ยิ่งทำให้ข้อเข่าแบกรับน้ำหนักตัวมากขึ้น หรือมีปัจจัยการทำงานหรือกิจวัตรประจำวันที่ใช้ข้อเข่ามากเกินไป(เช่น นักกีฬา) ย่อมส่งผลให้ข้อเข่าเสื่อมได้งายขึ้น อาการปวดข้อเข่า เป็นอาการสำคัญที่แสดงถึงข้อเข่าเสื่อม จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน จึงทำให้คุณภาพชีวิตลดลง การรักษาโดยการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม(Knee replacement) เป็นอีกหนึ่งในทางเลือกของผู้ทีมีปัญหาข้อเข่าเสื่อม ที่จะช่วยให้การใช้ข้อเข่าในการเคลื่อนไหวได้คล่องตัวขึ้น สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน และใช้ชีวิตได้สะดวกขึ้น ในบทความนี้ จึงขอนำเสนอการดูแลตนเองเมื่อเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ตั้งแต่การดูแลตนเองหลังผ่าตัดขณะอยู่ในโรงพยาบาล และเมื่อกลับบ้านไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยที่ใส่ข้อเข่าเทียม
การใส่ข้อเข่าเทียมคืออะไร?
การใส่ข้อเข่าเทียม เป็นการผ่าตัดเพื่อนำผิวข้อเข่าเดิมที่เสื่อมสภาพออกไป และทดแทนผิวข้อใหม่ด้วยข้อเข่าเทียม ส่วนใหญ่ข้อเข่าเทียมมีส่วนประกอบสำคัญ ดังนี้
1. ส่วนผิวที่แทนกระดูกต้นขา ที่ทำมาจากโลหะผสมที่อยู่ในกลุ่มธาตุโลหะโคบอลท์(Cobalt) ธาตุโลหะโครเมียม(Chromium) หรือ โลหะผสม(Metal alloy)ที่มีชื่อว่า ออกซิเนียม(Oxinium) ที่มีลักษณะพื้นผิวเรียบ
2. ส่วนผิวที่แทนกระดูกแข้ง/กระดูกขา ทำจากโลหะผสมกลุ่มโลหะไทเทเนียม(Titanium) ลักษณะเป็นแป้นสาหรับวางบนกระดูกแข้ง
3. ส่วนหมอนรองข้อเข่าเทียม เป็นพลาสติกชนิดพิเศษอยู่ตรงกลาง ระหว่างโลหะทั้งสองชิ้น(ในข้อ1และในข้อ2) ทำหน้าที่รับและกระจายน้ำหนัก และ
4. ส่วนผิวกระดูกสะบ้า เป็นพลาสติกชนิดพิเศษมีรูปร่างคล้ายเหรียญ ทำหน้าที่ทดแทนผิวของสะบ้าเดิมก่อนเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
อนึ่ง จากรายงานต่างๆจากวารสารทางการแพทย์พบว่า ผู้ป่วยที่ใส่ข้อเข่าเทียมที่ ปฏิบัติตัวในการดูแลรักษา และใช้ข้อเข่าเทียมได้ถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด จะช่วยให้ข้อเข่าเทียมมีอายุการใช้งานได้นานถึง 15-20 ปี แต่อย่างไรก็ตาม อายุการใช้งานของข้อเข่าเทียม ยังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย เช่น สุขภาพร่างกายผู้ป่วย น้ำหนักตัว ระดับกิจกรรมที่ทำให้ต้องออกกำลังกายหักโหม หรือลงน้ำหนักที่ข้อเข่าเทียมมากๆ หรือบ่อยๆ ที่อาจส่งผลให้อายุการใช้งานของข้อเทียมลดลง
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมคืออะไร?
ผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยว่า มีข้อเข่าเสื่อม และมีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นในการผ่าตัดให้เปลี่ยนข้อเข่าเทียม มีดังนี้
1. มีอาการปวดข้อเข่ารุนแรง จนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติ
2. มีการผิดรูปของข้อเข่า เช่น เข่าโก่งเข้าใน หรือโก่งออกนอก
3. ข้อเข่ายึด การเคลื่อนไหวข้อเข่าลดลง งอและเหยียดเข่าได้ไม่เต็มที่
4. ต้องใช้ยาแก้ปวดเป็นประจำ เพื่อลดอาการปวดข้อเข่าทุกวัน
ข้อห้ามการทำผ่าตัดข้อเข่าเทียมมีอะไร?
ข้อห้ามการทำผ่าตัดข้อเข่าเทียม เช่น
1. ข้อเข่าอักเสบติดเชื้อ เพราะหากผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งๆที่ข้อเข่าเดิมยังคงมีการอักเสบติดเชื้ออยู่ อาจส่งผลกระทบต่อการอักเสบ การติดเชื้อ ในข้อเข่าใหม่/ข้อเข่าเทียมตามมาได้
2. ข้อเข่าเสื่อมแบบมีความผิดปกติในการรับรู้อาการปวด ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทร่วมด้วย การผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมจึงมักไม่ช่วยลดอาการปวดข้อเข่า
3. มีอาการทางระบบประสาทการรับรู้ความรู้สึกเสียไป ซึ่งจะทำให้การผ่าตัดข้อเข่าเทียมไม่ช่วยเรื่องอาการปวดข้อเข่า
4. คนที่มีรูปร่างอ้วนมาก เพราะการผ่าตัดข้อเข่าเทียม มักไม่ช่วยให้อาการทางข้อเข่าของผู้ป่วยดีขึ้น
ข้อดีของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมีอะไรบ้าง?
ข้อดีของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ได้แก่
1. บรรเทาอาการปวดข้อเข่า ลดปริมาณการใช้ยาแก้ปวด จึงลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากยาแก้ปวด และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับยาแก้ปวดข้อเข่าที่มักมีราคาแพง
2. แก้ไขความพิการของข้อเข่า จึงช่วยให้การเคลื่อนไหวข้อเข่าดีขึ้น
3. งอเหยียดเข่าได้มากขึ้น
4. เพิ่มความมั่นคงของข้อเข่า
ข้อเสียของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมีอะไรบ้าง?
ข้อเสียของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เช่น
1. มีการติดเชื้อของแผลผ่าตัด
2. ความไม่มั่นคงของข้อเข่า เช่น ข้อเข่าเทียมหลวม หรือ ข้อเข่าเทียมหลุด
3. อาจเกิดกระดูกหักบริเวณรอบๆ ข้อเข่าเทียม
4. ข้อเข่าเทียมชำรุด
5. แนวขาผิดปกติหลังการผ่าตัด ซึ่งส่งผลให้มีปัญหาในการเดิน ที่อาจต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัดอีกครั้ง หรืออาจแก้ไขไม่ได้ถาวร
การดูแลตนเองหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมขณะอยู่โรงพยาบาล
ผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ในระยะแรกหลังผ่าตัด จำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของ แพทย์ พยาบาล และทีมสุขภาพ เช่น นักกายภาพบำบัด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ป่วยได้รับการดูแลช่วยเหลือเป็นอย่างดีในระยะที่ยังมีอาการปวด มีการเคลื่อนไหว การทรงตัวไม่ดีนัก ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยในการเคลื่อนไหวของผู้ป่วย ก่อนที่แพทย์จะอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้าน เพื่อไปฟื้นฟูสภาพร่างกายต่อไป
ในระหว่างที่เข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด จึงมีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ดังนี้
ก. ใน 24 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัด: การดูแล คือ
1. ประคบความเย็นบริเวณข้อเข่าข้างที่ทำผ่าตัด ทุก 2 ชั่วโมง เพราะความเย็นจะช่วยให้หลอดเลือดรอบข้อเข่าหดตัว ลดอาการปวดจากแผลผ่าตัด และทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสุขสบายมากขึ้น สามารถทำกิจวัตรประจำวัน การนอนหลับพักผ่อน ได้ดีขึ้น
2. กระดกข้อเท้าทั้งสองข้าง ขึ้น-ลง บ่อยๆ หากไม่มีอาการปวดข้อเข่า เพราะการกระดกข้อเท้า จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงบริเวณ ข้อเข่า และ เท้า และยังป้องกันการเกิดหลอดเลือดดำอุดตันจากการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดอีกด้วย
3. นอนเหยียดขาข้างผ่าตัดในท่าตรง แต่สามารถงอเข่าได้เป็นครั้งคราว เพื่อลดอาการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าข้างผ่าตัด
4. บริหารกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าของทั้ง 2 ขา โดย ผู้ป่วยนอนหงายอยู่บนเตียง เหยียดตรงข้อเข่าทั้งสองข้าง และกดให้ข้อพับด้านหลังข้อเข่าติดพื้นเตียง เกร็งขา/ข้อเข่าค้างไว้ นับ 1-10 หลังจากนั้นให้คลายกล้ามเนื้อกลับมาในภาวะเดิมก่อนเกร็งขา นับ1-10เช่นกัน (เป็นอันครบรอบการบริหารที่นับเป็น 1 ครั้ง) ทั้งนี้เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้ามีความแข็งแรงเพียงพอก่อนที่จะมีผู้ช่วยพยุงให้ผู้ป่วยลุกเดิน และเพื่อผู้ป่วยมีการทรงตัวที่ดีในการลุกเดินในวันต่อๆไป ทั้งนี้ ควรบริหารดังกล่าว วันละประมาณ 100 ถึง 200 ครั้ง โดยไม่จำเป็นต้องบริหารติดต่อกันจนครบ 100-200ครั้ง รวดเดียว ค่อยๆบริหารไปเรื่อยๆเพื่อไม่ให้ข้อเข่าใช้งานหนักมากเกินไป ขณะที่บริหารกล้ามเนื้อต้นขา แล้วมีอาการปวด เกร็งกล้ามเนื้อขา ให้หยุดบริหารทันที แล้วนอนพักจนกว่าอาการจะหายไป จึงเริ่มค่อยๆทยอยบริหารต่อไป จนครบตามจำนวนครั้งที่ต้องการ
ข. วันที่ 2 หลังผ่าตัด:
1. สามารถลุกนั่งบนเตียงได้ ถึงแม้ว่าผู้ป่วยหลังผ่าตัดข้อเข่าเทียม จะยังคงมีท่อระบายเลือดออกจากข้อเข่าเทียม หรือมีสายสวนปัสสาวะไว้ระบายปัสสาวะ แต่ผู้ป่วยสามารถลุกนั่งบนเตียง เพื่อช่วยทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การเช็ดตัว การรับประทานอาหาร ทั้งนี้ การลุกนั่งบนเตียง นอกจากจะเพิ่มการไหลเวียนเลือด กระตุ้นการทำงานของกระดูกและกล้ามเนื้อแล้ว ยังป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด เช่น แผลกดทับ ปอดอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น และยังช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยรู้สึกมีคุณค่าในตนเองที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และทำให้การฟื้นฟูสภาพร่างกายและข้อเข่าที่ผ่าตัดหายได้เร็วกว่าปกติ
2. เริ่มบริหารข้อเข่าโดยงอและเหยียดเข่าทั้งสองข้างบนเตียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขาข้างที่ทำผ่าตัด จะช่วยส่งเสริมการทำงานของข้อเข่าในการยืดเหยียด ป้องกันข้อเข่ายึดติด แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรงอข้อเข่าข้างที่ทำผ่าตัดมากเกินไป เพราะอาจทำให้มีการฉีกขาดของแผลผ่าตัด หากมีอาการปวดแผลมาก ควรแจ้งพยาบาลให้ทราบ เพื่อประเมินความปวดก่อนให้ยาแก้ปวดที่แพทย์มีแผนการรักษาไว้ ที่มีทั้งยาฉีด และ/หรือยารับประทาน เพื่อบรรเทาอาการปวด และไม่ควรงอข้อเข่าด้านที่ปวดขณะที่ยังมีอาการปวดอยู่ ควรบริหารข้อเข่าเมื่อไม่มีอาการปวด หรือระดับความปวดที่ประเมินได้อยู่ในระดับน้อย คือ ระดับความปวดที่ระดับตัวเลข 0-3 (ระดับความปวดจะแบ่งเป็น 11 ระดับ คือ 0-10 โดย 0 คือไม่ปวด/ปกติ จนถึง10 คือปวดมากที่สุด)
3. หัดยืนข้างเตียง หรือหัดเดินโดยใช้อุปกรณ์พยุงเดิน 4 ขา หรือวอคเกอร์ (Walker)ตามคำแนะนำของแพทย์ ก่อนที่จะหัดเดินข้างเตียง ผู้ป่วยควรฝึกลุกนั่งบนเตียง และรู้สึกว่าไม่เวียนศีรษะ ตรวจสอบผ้านุ่ง หรือกางเกงให้อยู่ในสภาพพร้อมในการเดิน เพราะหากขากางเกงที่ยาวเกินไป ผู้ป่วยอาจจะสะดุด หกล้มขณะที่กำลังหัดเดิน ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ หลังจากนั้นให้ผู้ป่วยเขยิบตัวมาอยู่ริมเตียง ใช้เท้าลงไปสัมผัสกับพื้นทีละข้างก่อน โดยใช้ขาข้างที่ไม่ได้ทำผ่าตัดก่อน ควรมีแพทย์ หรือพยาบาล หรือนักกายภาพบำบัด อยู่ใกล้ๆผู้ป่วย เพื่อช่วยพยุงตัวหากเป็นการหัดยืนข้างเตียงเป็นครั้งแรก หลังจากนั้น แนะนำให้ผู้ป่วยหัดเดินด้วยวอคเกอร์ ขณะที่เดิน ควรมีพยาบาล หรือนักกายภาพบำบัด อยู่กับผู้ป่วยตลอดเวลา เพื่อให้คำแนะนำ ช่วยเหลือผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยรู้สึกมั่นใจ ปลอดภัย ในการหัดเดิน และส่งเสริมให้ผู้ป่วยเดินได้ด้วยตนเองในครั้งต่อไป
ค. วันที่ 2 – 3 หลังผ่าตัด:
1. บริหารกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า โดยการเหยียดข้อเข่าทั้ง 2 ข้าง โดยยกขาอยู่บนเตียง
2. ผู้ป่วยสามารถลุกนั่งข้างเตียงได้นาน 20 – 30 นาที วันละ 3 – 4 ครั้ง
3. บริหารข้อเข่า โดยการงอ และเหยียดข้อเข่า ทั้ง 2 ข้าง โดยการนั่งที่ขอบเตียง ทำแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที ควรทำได้บ่อยๆ เมื่อไม่มีอาการปวดข้อเข่า หรือปวดแผลผ่าตัด
4. เดินรอบเตียง ควรใช้วอคเกอร์ ช่วยในการเดิน และในการช่วยทรงตัว เป็นระยะทาง 5 –10 เมตร โดยเดินรอบเตียงวันละ 2 – 3 ครั้ง และในวันที่ 3 หลังผ่าตัด ควรเพิ่มจำนวนการเดินรอบเตียง หรือบริเวณในห้องพักของผู้ป่วยมากขึ้นเป็นวันละ 3 – 4 ครั้ง
ง. วันที่ 4 หลังผ่าตัด: ผู้ป่วยหัดเดินได้บ่อยขึ้น การใช้วอคเกอร์จะช่วยทำให้การเดินมีความมั่นคง เพิ่มระยะทางเป็น 10 – 20 เมตร/ครั้ง ผู้ป่วยควรตรวจสอบตนเองว่าขณะที่เดินมีอาการปวดข้อเข่าหรือไม่ หากมีอาการปวด ควรหยุดพักเป็นระยะๆ แล้วจึงค่อยเดินต่อไป และเพิ่มระยะทางในการเดินให้มากขึ้น
โดยทั่วไป ผู้ป่วยมักจะอยู่โรงพยาบาลประมาณ 4-7 วัน หลังจากนั้น แพทย์จะอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้าน ดังนั้น การออกกำลังข้อเข่า ยังคงควรต้องทำต่อที่บ้านตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด เพื่อให้กล้ามเนื้อรอบข้อเข่าแข็งแรงโดยเฉพาะด้านที่ผ่าตัด และเพื่อการใช้ข้อเข่าทั้งสองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การปฏิบัติตัวเมื่อผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่ากลับไปอยู่บ้าน
การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเมื่อกลับไปอยู่ที่บ้าน มีดังนี้
1. เตรียมห้องนอนที่บ้าน ห้องนอนควรอยู่ชั้นล่าง หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันได เพื่อถนอมข้อเข่าเทียมให้มีอายุการใช้งานได้นาน และป้องกันการพลัดตกหกล้ม เพราะส่วนใหญ่ผู้ที่เปลี่ยนข้อเข่าเทียม มักเป็นผู้สูงอายุ การทรงตัวไม่ดี และสายตาที่มองเห็นไม่ชัดเจน อาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และควรจัดวางสิ่งของ เครื่องใช้ในห้องนอน ให้เป็นระเบียบ อุปกรณ์หรือของใช้ที่จำเป็นวางไว้ใกล้มือ หยิบได้สะดวก ควรนอนบนเตียง หรือที่นอนสูงอย่างน้อย 1 ฟุตจากพื้น เพื่อสะดวกในการลุก ขึ้น ลงจากเตียง
2. การดูแลแผลผ่าตัดบริเวณข้อเข่าเทียม ส่วนใหญ่หลังผ่าตัด แพทย์จะปิดแผลผ่าตัดบริเวณด้วยพลาสเตอร์ชนิดกันน้ำได้ ทำให้ป้องกันไม่ให้น้ำเข้าไปในแผล และป้องกันแผลติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตาม แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตัดไหมหลังผ่าตัดไปแล้ว 7 วัน แผลผ่าตัดก็หายสนิท เพียงดูแลผิวหนังให้สะอาดตามคำแนะนำของพยาบาลก็เพียงพอ
3. ออกกำลังกาย/ออกกำลังเข่า/บริหารเข่า ตามที่เคยปฏิบัติขณะรักษาตัวหลังผ่าตัดอยู่ในโรงพยาบาล ได้แก่ ฝึกบริหารกล้ามเนื้อขาให้แข็งแรง ฝึกกระดกข้อเท้า เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด ส่งให้ผลของการผ่าตัดดี และสามารถเดินได้ตามปกติ การออกกำลังข้อเข่าโดยพยายามงอเข่าทั้ง 2 ด้านให้ได้มากที่สุด และเหยียดได้ตามปกติ ควรออกกำลังข้อเข่าทุกวันและควรทำพร้อมกันทั้งสองข้าง เพื่อป้องกันข้อเข่ายึดติด ตามปกติประมาณ 2-6 เดือนหลังผ่าตัด ผู้ป่วยจะรู้สึกคุ้นชินกับข้อเข่าเทียมเหมือนเป็นข้อเข่าของตนเอง ประมาณ 3 เดือนหลังผ่าตัด ผู้ป่วยจะสามารถงอข้อเข่าได้ประมาณ 120-140 องศา และสามารถออกกำลังกายที่ไม่ใช้แรงกระแทกต่อข้อเข่า เช่น เดินเร็ว รำมวยจีน ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ขับรถโดยใช้เกียร์อัตโนมัติได้ ถ้าใส่ข้อเข่าเทียมข้างซ้าย จะขับรถได้คล่องตัวมากกว่าขาข้างขวาที่ใส่ข้อเข่าเทียม
4. การเดิน: โดยทั่วไป 6 สัปดาห์หลังผ่าตัดข้อเข่าเทียม ผู้ป่วยสามารถเดินได้โดยไม่ต้องใช้ไม้เท้าพยุง และเหยียดและงอข้อเข่าได้ หรืองอเข่าได้เกือบสุด เต็มที่แล้ว ข้อสังเกตในการใช้เครื่องช่วยพยุงหรือวอคเกอร์ มักใช้ในช่วงแรกๆหลังผ่าตัด ขณะอยู่ในโรงพยาบาล เพื่อช่วยในการพยุงตัวลุกเดิน เพราะกล้ามเนื้อต้นขา และรอบเข่ายังไม่แข็งแรง แต่เมื่อกลับมาอยู่บ้าน ผู้ป่วยสามารถพยุงตัว และเดินได้ดีขึ้น อาจไม่จำเป็นต้องใช้วอคเกอร์ หรือในบางราย สามารถใช้ไม้เท้า(Cane)มาแทน เพื่อช่วยในการพยุงตัวได้ดีขึ้น เพราะไม้เท้ามีความคล่องตัวในการใช้งานมากกว่าวอคเกอร์ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาใช้เครื่องช่วยพยุงเดินที่เป็นวอคเกอร์ หรือไม้เท้านั้น อยู่ในดุลยพินิจของ แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง/นักกายภาพบำบัด ร่วมกับสภาพของผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยมากที่สุด
5. ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป: หากมีน้ำหนักตัวมากเกินไปอาจจะส่งผลให้ข้อเข่ารับน้ำหนักมากขึ้น อายุการใช้งานของข้อเข่าเทียมจะลดลง โดยพิจารณาจากค่าดัชนีมวลกาย (BMI: Body Mass Index) ค่าปกติของคนเอเซียจะประมาณ 18.5-22.9 แต่ถ้าเป็นของคนทางยุโรป (สากล) คือ 18.5-24.9
6. ควรใช้ส้วมที่เป็นชักโครก เพื่อลดการงอข้อเข่า ลดการปวดข้อ และยืดอายุการใช้งานของข้อเข่าเทียม และควรมีราวจับข้างฝาผนังห้องน้ำ เพื่อช่วยให้การทรงตัว ป้องกันการหกล้มขณะใช้ห้องน้ำ
7. *ในการออกกำลัง/บริหาร ข้อเข่า กล้ามเนื้อ หรือออกกำลังกายทั่วไป หรือทำกิจกรรมใดๆ ถ้าเกิดอาการ ปวด/เจ็บกล้ามเนื้อ ปวด/เจ็บข้อต่างๆที่รวมถึงข้อเข่าที่ผ่าตัด ต้องรีบหยุดพักทันที และจะกลับมาปฏิบัติใหม่ ต่อเมื่ออาการเจ็บ/ปวดนั้นหายดีแล้ว แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 1-2วัน หรืออาการเลวลง ต้องรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันนัดแพทย์นัด
8. การดูแลตนเองด้านๆอื่นๆ:
8.1 แจ้ง แพทย์ พยาบาล บุคคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะด้านการตรวจรักษาทางรังสีวิทยาเสมอว่า ตนเองใส่ข้อเข่าเทียม เมื่อจะถอนฟัน มีแผล หรือมีการสอดใส่เครื่องมือทางการแพทย์เข้าไปในร่างกาย โดยเฉพาะ 2–3 ปีหลังผ่าตัด ต้องแจ้งให้ แพทย์ ทันตแพทย์ ทราบ เพื่อให้ยาปฏิชีวนะ เนื่องจากอาจมีการติดเชื้อจากการรักษา และส่งผลต่อข้อเข่าเทียมได้
8.2 พกเอกสารมีโลหะทางการแพทย์/ข้อเข่าเทียมติดตัวเสมอ เพื่อความสะดวกในการตรวจค้นด้วยเครื่องเอกซเรย์ เช่น สนามบิน ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
9. การมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล:
9.1 ควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง เพื่อติดตามผลการรักษา และเพื่อได้รับคำแนะนำการปฏิบัติที่เหมาะสมในการดูแลตนเองหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
9.2 ควรมาตรวจร่างกาย และเอกซเรย์ข้อเข่าทุกปีตามคำสั่งแพทย์ เพื่อช่วยในการติดตามผลการรักษาการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
9.3 ควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที หรือในกรณีฉุกเฉินให้รีบไปโรงพยาบาล เมื่อสังเกตอาการแล้วพบผิดปกติ เช่น ปวดเข่ามาก เข่าบวม แดง ร้อนมีไข้ มีน้ำเหลืองหรือเลือดซึมออกจากแผลผ่าตัด หรือมีความรู้สึกว่าข้อเข่าหลวม หรือขาบิด ผิดปกติ
ข้อห้ามปฏิบัติในการดูแลข้อเข่าเทียม
ข้อห้ามปฏิบัติในการดูแลข้อเข่าเทียมที่สำคัญ ได้แก่
1. ไม่ควรเล่นกีฬาที่ใช้ข้อเข่ามาก ๆ เช่น แบดมินตัน เทนนิส หรือแบกของหนัก หรือเดินขึ้นในที่สูง ๆ เพราะจะทำให้ข้อเข่าเทียมต้องรับแรงกระแทกจากการออกแรงกาย หรือการแบกของหนัก ทำให้อายุการใช้งานของข้อเข่าเทียมลดลง
2. ห้ามนั่งส้วมแบบนั่งยองๆ เพราะข้อเข่าที่มีการงออยู่เป็นเวลานาน อาจเกิดการปวดเข่ามาก ข้อเข่าผิดรูป หรือข้อเข่าหลุด
3. ห้ามนั่ง พับเพียบ ขัดสมาธิ คุกเข่า เพราะจะทำให้มีข้อเข่าเคลื่อน ข้อเข่าหลุด หรือผิดรูปไป และทำให้อายุการใช้งานข้อเข่าเทียมลดลง
การดูแลข้อเข่าข้างที่ไม่ได้ทำผ่าตัด
ส่วนใหญ่การผ่าตัดข้อเข่าเทียมมักทำข้างที่ข้อเข่าเสื่อมมาก และใส่ข้อเข่าเทียม เพื่อช่วยให้ข้อใช้งานได้ดี ในขณะที่ข้อเข่าอีกข้างหนึ่ง ยังไม่มีปัญหาสามารถใช้งานต่อไปได้ จึงควรให้ความสำคัญในการถนอมข้อเข่าข้างที่ไม่ได้ผ่าตัดให้มีอายุการใช้งานได้นานขึ้น โดยมีข้อควรปฏิบัติในการดูแลข้อเข่าข้างไม่ได้ผ่าตัด ดังนี้
1. การออกกำลังกาย/ การบริหารกล้ามเนื้อต้นขา/ข้อเข่า:
1.1 บริเวณกล้ามเนื้อต้นขา โดยนั่งบนเก้าอี้ นั่งตัวตรง ข้อพับเข่า ทั้งสองชิดขอบเก้าอี้ เหยียดขาข้างหนึ่งออกไปตรง ยกค้างไว้ นับ 1-10 แล้วงอข้อเข่าข้างนั้นลงในท่านั่งปกติ นับ 1-10 เช่นกัน (นับเป็น1 ครั้งของการบริหาร) หลังจากนั้น เริ่มบริหารขาอีกข้างหนึ่งเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวไปแล้ว คือ เหยียดออกไปตรง ยกค้างไว้ นับ 1-10 และงอข้อเข่าลง นับ 1-10 เช่นเดียวกัน ทำเช่นเดียวกันโดยสลับทำทีละขา ทยอยทำ ใช้เวลาในการบริหารบ่อยๆ รวมแล้ว วันละประมาณ 100- 200 ครั้ง ไม่ต้องบริหารรวดเดียวครบ 100-200 ครั้ง
1.2 การออกกำลัง/การบริหารข้อเข่า โดยการนอนหงายบนเตียงพื้นแข็ง กดข้อเข่าทั้งสองข้างลงกับเตียง นับ1-10 และคลายออก นับ 1-10 เช่นกัน นับเป็น 1ครั้งของการบริหาร ควรใช้เวลาในการออกกำลังข้อเข่า เช่นนี้ วันละ 100- 200 ครั้งเช่นเดียวกับในข้อ 1.1
1.3 การออกกำลังกายทั่วไป ที่เหมาะสมตามวัยและเหมาะสมกับน้ำหนักตัว เช่น การเดินช้าๆ การปั่นจักรยาน การว่ายน้ำ เป็นต้น หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายชนิดที่มีแรงกระแทกมากๆต่อข้อเข่า เช่น การกระโดดเชือก การออกกำลังโดยการขึ้นลงบันได
1.4 *ในการออกกำลัง/บริหาร ข้อเข่า กล้ามเนื้อ หรือออกกำลังกายทั่วไป ถ้าเกิดอาการ ปวด/เจ็บกล้ามเนื้อ ปวด/เจ็บข้อต่างๆ รวมถึงเข่าด้านผ่าตัด ต้องรีบหยุดพักทันที และจะกลับมาปฏิบัติใหม่ต่อเมื่ออาการเจ็บ/ปวดนั้นหายดีแล้ว แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 1-2วัน หรืออาการเลวลง ต้องรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ไม่ต้องรอถึงวันนัดแพทย์นัด
2. หลีกเลี่ยงอิริยาบถที่ต้องงอข้อเข่ามากๆ เช่น การนั่งพับเพียบ นั่งคุกเข่า นั่งยองๆ เพราะทำให้เพิ่มแรงอัดภายในข้อเข่า และส่งผลต่อกระดูกอ่อนที่ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น
3. การรับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการ(อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ในปริมาณที่ไม่ทำให้มีน้ำหนักตัวเกิน) เพิ่มอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผัก ผลไม้ และเพิ่มการรับประทานสารสกัดคอลลาเจน(Collagen)ตามแพทย์สั่ง เพื่อช่วยเสริมสร้างการสังเคราะห์กระดูกอ่อน และช่วยเพิ่มน้ำหล่อเลี้ยงข้อ อันจะช่วยลดอาการปวดข้อเข่า และทำให้ข้อเคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้น
สรุป
ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ควรมีความรู้ ความเข้าใจ ในการดูแลตนเองตั้งแต่หลังผ่าตัดขณะอยู่ในโรงพยาบาล และเมื่อกลับมาอยู่บ้าน ผู้ป่วยสามารถออกกำลังข้อเข่าได้อย่างเหมาะสม พร้อมทั้งใช้ข้อเข่าเทียมอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ที่ได้รับการใส่ข้อเข่าเทียม
บรรณานุกรม
- ณัฐพล ธรรมโชติ. (2559) .คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม. ปทุมธานี.ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
- พัชรพล อุดมเกียรติ. การรักษา”ข้อเข่าเสื่อม” โดยการผ่าตัด www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=854[2017, April 22]
- มนสภรณ์ วิทูรเมธา. (2555). การพยาบาลผู้ป่วยที่มีปัญหากระดูกและ กล้ามเนื้อ.กรุงเทพฯ: โครงการสวนดุสิต กราฟฟิคไซท์1.
- สมชาย เอื้อรัตนวงศ์.(2551).แนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคข้อ.พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์.
- อภิวรรณ ณัฐมนวรกุล และคณะ. (2550). รายงานการวิจัยการศึกษาผล ของการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมแนวใหม่ต่อสมรรถภาพทางกายของผู้สูงอายุโรคข้อเสื่อม.กรุงเทพมหานคร: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด
- Lewis,S.L & et al. (2014). Medical-Surgical Nursing: Assessment and Management of Clinical Problems.(9th ed.). St.Louis: Elsevier Mosby.
- Lotke , A.& Ende,J. (2008). Orthopedic nursing. Philadelphia: F.A. David.
- ค่าดัชนีมวลกาย BMI https://ss.mahidol.ac.th/th2/index.php?option=com_k2&view=item&layout=item&id=2&Itemid=136[2017, April 22]