การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีเต้านม
- โดย แพทย์หญิง ชลศณีย์ คล้ายทอง
- 26 กันยายน 2554
- Tweet
- ทั่วไป
- ผลข้างเคียงระหว่างฉายรังสีรักษาในมะเร็งเต้านมมีอะไรบ้าง? ดูแลอย่างไร?
- ผลข้างเคียงหลังครบ ฉายรังสีรักษาในมะเร็งเต้านมมีอะไรบ้าง? และ ดูแลอย่างไร?
- ควรรีบพบรังสีรักษาแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
ทั่วไป
การฉายรังสี/ฉายแสง (รังสีรักษา) ในโรคมะเร็งเต้านมนั้น แพทย์รังสีรักษาจะทำการฉายรังสีครอบคลุมเต้านมในกรณีที่ผ่าตัดเก็บเต้านมเอาไว้ หรือฉายรังสีครอบคลุมหน้าอก (ในส่วนที่เคยเป็นเต้านมเดิม) ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดแบบเอาเต้านมออกหมด และอาจจะต้องฉายรังสีครอบคลุม ต่อมน้ำเหลืองบริเวณเหนือกระดูกไหปลาร้า ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ และ/หรือ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณช่องอกข้างเดียวกับที่เป็นมะเร็งเต้านมนั่นเอง ทั้งนี้ขึ้นกับระยะโรค และตำแหน่งของก้อนมะเร็ง
ผลข้างเคียงระหว่างฉายรังสีรักษาในมะเร็งเต้านมมีอะไรบ้าง? ดูแลอย่างไร?
ผลข้างเคียง แทรกซ้อน ที่พบได้ในระหว่างการฉายรังสีเต้านม ได้แก่
- การเปลี่ยนแปลงและการดูแลผิวหนังในบริเวณที่ฉายรังสี (การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา) และต้องดูแลมากเป็นพิเศษโดยเฉพาะผู้ป่วยที่ฉายรังสีบริเวณรักแร้ เนื่องจากเป็นบริเวณที่อับชื้นจากเหงื่อและถูกเสียดสีจากแขนเสื้อ ทำให้มีโอกาสเกิดแผลเปียกได้ง่าย
- กลืนอาหารลำบาก หากผู้ป่วยได้รับการฉายรังสีต่อมน้ำเหลืองบริเวณช่องอก เนื่องจาก รังสีจะถูกหลอดอาหารบางส่วน อาจทำให้ผู้ป่วยกินอาหารปกติลำบากมากขึ้น ซึ่งอาจเกิดอาการช่วงท้ายๆของการฉายแสง ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรเปลี่ยนอาหารเป็นอาหารอ่อน ย่อยง่าย หรือในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการมาก แพทย์รังสีรักษาอาจพิจารณาให้ยาช่วยเพื่อบรรเทาอาการ
- ไอเล็กน้อย เนื่องจากการฉายรังสีจะถูกหลอดลมและปอดบางส่วน แพทย์รังสีรักษาอาจพิจารณาให้ยาช่วยเพื่อบรรเทาอาการในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการมาก
- คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารได้เล็กน้อย มักมีอาการไม่รุนแรง หากมีอาการมากแพทย์รังสีรักษาอาจพิจารณาให้ยาช่วยเพื่อบรรเทาอาการ
- เม็ดเลือดขาวต่ำ (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา) ได้ เนื่องจากมักจะทำการฉายรังสีต่อเนื่องหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัดครบแล้ว ซึ่งหากมีเม็ดเลือดขาวต่ำ แพทย์รังสีรักษาอาจพิจารณาให้ยาช่วยเพื่อบรรเทาอาการ หรืออาจให้ผู้ป่วยพักฉายรังสีจนกระทั่งเม็ดเลือดขาวอยู่ในค่าปกติจึงจะฉายรังสีต่อไป
- ผู้ป่วยหญิงในวัยเจริญพันธุ์นั้น ห้ามตั้งครรภ์ตลอดการรักษาและควรคุมกำเนิดทั้งในระหว่างฉายรังสี จนกระทั่งฉายรังสีครบ โดยห้ามใช้การคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนทั้งแบบกิน ฉีด ฝัง หรือแปะ และให้คุมกำเนิดอย่างต่อเนื่องไปอีก 2 ปี เพื่อให้พ้นระยะโรคมะเร็งย้อนกลับเป็นซ้ำ เพราะการตั้งครรภ์ อาจทำให้โรคกลับมาลุกลามย้อนคืนกลับมาใหม่ และ/หรือ โรคแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นๆ เพราะฮอร์โมนในระหว่างการตั้งครรภ์นั้น มีผลในทางลบต่อโรคมะเร็งเต้านม นอกจากนั้น หากต้องทำการรักษาในระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกพิการ หรือเสียชีวิตได้
- ถ้าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น มีแผลแตก/แผลเปื่อย หรือเลือดออกในบริเวณที่ฉายรังสี มีไข้สูง ให้ผู้ป่วยรีบพบแพทย์รังสีรักษาก่อนนัด หรือถ้าเป็นในช่วงที่ไม่สามารถพบแพทย์รังสีรักษาได้ ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้นก่อน
ผลข้างเคียงหลังครบ ฉายรังสีรักษาในมะเร็งเต้านมมีอะไรบ้าง? และ ดูแลอย่างไร?
ผลข้างเคียง หลังครบรังสีรักษาในมะเร็งเต้านม แล้ว ได้แก่
- การเปลี่ยนแปลงและการดูแลของผิวหนังในบริเวณที่ฉายรังสี (การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา) แต่หากเป็นผู้ป่วยที่รักษาแบบเก็บเต้านม เต้านมอาจมีการเปลี่ยนเป็นก้อนแข็งไม่นุ่มหรือผิดรูปไป ไม่เหมือนเต้านมปกติ เต้านม 2 ข้างอาจไม่เท่ากัน อาจมีหัวนมบุ๋ม อาจไม่มีน้ำนมจากข้างที่ฉายรังสีหากมีการตั้งครรภ์ และ/หรือ อาจมีเส้นเลือดฝอยขึ้นผิดปกติบนเต้านมได้
- แขนข้างที่ฉายรังสีเต้านม อาจบวมได้ตั้งแต่ปลายนิ้วจนถึงต้นแขน อาจทำให้เกิดการชาของแขน และนิ้วมือทำงานไม่ได้ตามปกติ รวมไปถึงอาจเกิดการติดเชื้อได้ง่าย เกิดจากการที่ผู้ป่วยเคยได้รับการผ่าตัดบริเวณต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกบางส่วนร่วมกับการฉายแสงจึงทำให้การไหลเวียนของน้ำเหลืองกลับเข้าต่อมน้ำเหลืองของแขนข้างนั้นผิดปกติไป ซึ่งทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นเกิดพังผืดร่วมด้วย ดังนั้นแขนข้างนี้จึงควรหลีกเลี่ยงการเจาะเลือด การวัดความดันโลหิต การยกของหนัก และการใส่เครื่องประดับ เช่น แหวน นาฬิกา รวมไปถึง ควรต้องทำกายภาพฟื้นฟูแขนด้านนี้ตามแพทย์/พยาบาลแนะนำอย่างสม่ำเสมอ หากผู้ป่วยมีการอักเสบติดเชื้อที่แขนข้างนี้ (บวม แดง ร้อน อาจมีไข้ มีได้ทั้งไข้สูง หรือ ไข้ต่ำ) แพทย์รังสีรักษาจะให้ยาปฏิชีวนะ หรือถ้าหากแขนบวมมากอาจต้องให้ยาขยายหลอดเลือด ยาลดภาวะหลอดเลือดอุดตันจากเกิดลิ่มเลือด หรือยาต้านการเกิดพังผืด ช่วยบรรเทาอาการ
- ข้อไหล่ติดในข้างที่ฉายรังสี อาจทำให้ข้อไหล่หมุนได้น้อยลง หรือเป็นมากจนเคลื่อนที่ไม่ได้ เกิดจากการที่ผ่าตัดไปแล้วทำให้ผู้ป่วยเจ็บแผลจนไม่ยอมขยับแขน หรือไหล่ข้างนั้น จึงทำให้ข้อไหล่เป็นพังผืด จึงยึดติดได้ และเมื่อฉายรังสีเพิ่มเข้าไปอีก จะทำให้เป็นพังผืดได้มากขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรทำกายภาพฟื้นฟูตามแพทย์/พยาบาลแนะนำอย่างสม่ำเสมอ
- มีพังผืดในปอดกลีบบนด้านเดียวกับโรค จากฉายรังสีต่อมน้ำเหลือง เหนือกระดูกไหปลาร้าซึ่งอยู่เหนือต่อปอดส่วนนั้น แต่มักไม่แสดงอาการอะไร จะตรวจพบได้จากการเอกซเรย์ปอด แต่บางคนอาจมีอาการไอเรื้อรังได้ประมาณ 5-10% ซึ่งแพทย์รังสีรักษาจะพิจารณาให้ยาช่วยเพื่อบรรเทาอาการ
- กระดูกซี่โครงหักได้ในบริเวณที่ฉายรังสี พบได้ประมาณ 1-2% ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บเล็กน้อยและกระดูกที่หักนั้นมักจะติดได้เองตามธรรมชาติ ไม่ต้องมีการรักษา
- เป็นมะเร็งเต้านม อีกข้างได้ประมาณ 5% ซึ่งเกิดจากลักษณะของโรคตามธรรมชาติของโรคมะเร็งเต้านมเอง
- มีโอกาสเป็นมะเร็งชนิดที่สอง(มะเร็งชนิดใหม่อีกชนิดหนึ่ง)ได้ประมาณ 10-15% ในบริเวณที่ฉายรังสีรักษา หากผู้ป่วยอยู่ได้นาน (ส่วนใหญ่มักนานกว่า 10 ปีขึ้นไป)
ควรรีบพบรังสีรักษาแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
ในโรคมะเร็งเต้านม ถ้าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น มีแผล หรือผื่นคัน มีแผลเรื้อรังในบริเวณที่เคยฉายรังสี มีก้อนผิดปกติในบริเวณหน้าอก รักแร้ ไหปลาร้า และ/หรือเต้านมอีกข้าง แขนบวม และ/หรือแดงในข้างที่ฉายรังสี ให้ผู้ป่วยรีบพบแพทย์รังสีรักษาก่อนนัด หรือถ้าเป็นในช่วงที่ไม่สามารถพบแพทย์รังสีรักษาได้ ให้รีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้นก่อน