การชักนำให้เกิดการแท้ง (Induced abortion)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

การชักนำให้เกิดการแท้งคืออะไร?

การชักนำให้เกิดการแท้ง หรือ การชักนำการแท้ง(Induced abortion หรือ Induction abortion) คือ การทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลง โดยการใช้ยา หรือใช้หัตถการทางการแพทย์ทางสูติศาสตร์ แบ่งการชักนำการแท้งเป็น 2 กลุ่มคือ

  • การชักนำให้เกิดการแท้งตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์(Therapeutic abortion) และ
  • การชักนำให้เกิดการแท้งโดยความสมัครใจหรือโดยตั้งใจโดยที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์(Elective abortion)

สตรีตั้งครรภ์สามารถร้องขอให้แพทย์ชักนำให้เกิดการแท้งได้หรือไม่?

การชักนำให้เกิดการแท้ง

ในประเทศไทยขณะนี้ ไม่มีกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งเสรี ดังนั้นการทำแท้งจึงถือว่า “ผิดกฎหมายในมาตรา 305 ตามประมวลกฎหมายอาญา” แต่แพทย์สามารถชักนำให้เกิดการแท้ง หรือยุติการตั้งครรภ์ในสตรีได้ ตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ ตาม”มาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2548" โดยมีเงื่อนไขดังนี้

1. เป็นกรณีที่จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากปัญหาสุขภาพทางกายของหญิงตั้งครรภ์ หรือ

2. เป็นกรณีที่จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากปัญหาสุขภาพทางจิตของหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งกรณีนี้ จะต้องได้รับการรับรอง หรือการเห็นชอบจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่มิใช่แพทย์ผู้กระทำการยุติการตั้งครรภ์ อย่างน้อย 1 คน

***** อนึ่ง บทความนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะการชักนำให้เกิดการแท้งตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เท่านั้น

ใครที่แพทย์สามารถชักนำให้เกิดการแท้งได้?

สตรีตั้งครรภ์ที่มีข้อบ่งชี้ที่แพทย์สามารถชักนำให้เกิดการแท้งได้ ได้แก่

1. ทารกในครรภ์มีความพิการทางร่างกายมาก ไม่สามารถมีชีวิตรอดได้เมื่อคลอดออกมา

2. ทารกในครรภ์มีความผิดปกติของโครโมโซม ที่ทำให้เกิดปัญญาอ่อน

3. ทารกเสียชีวิตในครรภ์

4. ภาวะแท้งค้าง(Missed abortion) ทารกเสียชีวิตในครรภ์นานแล้วแต่ไม่แท้งออกมาเอง

5. ภาวะท้องลม(Blighted ovum) มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น แต่ต่อมาทารกเสียชีวิต ทารกถูกดูดซึมไป เวลาตรวจครรภ์จากอัลตราซาวด์จะมองไม่เห็นทารก เห็นแต่เฉพาะถุงการตั้งครรภ์

6. การตั้งครรภ์ที่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพของมารดา เช่น ตั้งครรภ์แล้วทำให้การทำงานของไต หรือการทำงานของหัวใจของมารดา แย่ลงมาก

วิธีชักนำให้เกิดการแท้งมีอะไรบ้าง?

วิธีชักนำให้เกิดการแท้งทางการแพทย์ ได้แก่

ก. การใช้ยา (Medical abortion): มียาหลายชนิดที่สามารถนำมาใช้ชักนำให้เกิดการแท้ง เช่น

  • Prostaglandins: ยากลุ่มนี้ที่ใช้บ่อยมากในปัจจุบัน คือ Prostaglandin E1 ได้แก่ยา Misoprostol ชื่อการค้า Cytotec® ใช้เหน็บช่องคลอด หรืออมใต้ลิ้น ยาออกฤทธิ์โดยทำให้ปากมดลูกนุ่ม มดลูกหดรัดตัวมากขึ้นจนทำให้เกิดการแท้งตามมา สามารถใช้ได้ทุกอายุครรภ์ แต่ขนาดยาที่ใช้ในแต่ละไตรมาสของการตั้งครรภ์จะไม่เท่ากัน
  • Mifepristone: เป็นยาที่มีฤทธิ์ต้านโปรเจสเตอโรน มีผลต่อการสร้างฮอร์โมนที่รก ทำให้รกเสื่อม ทารกในครรภ์เสียชีวิต ใช้ได้ผลดีในอายุครรภ์น้อยๆ เป็นยารับประทาน ยานี้ห้ามใช้ในสตรีที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด หรือ มีโรค Porphyrias(โรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อย ที่เม็ดเลือดแดงทำงานผิดปกติ)
  • Mifepristone ร่วมกับ Misoprostol: พบว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าการใช้ยาตัวเดียวชักนำให้เกิดการแท้ง
  • Methotrexate: ยานี้จะไปทำลายเซลล์ตัวอ่อน ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ ทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ และเกิดการแท้งออกมา
  • Oxytocic drug: ยานี้ต้องผสมในน้ำเกลือ แล้วหยดเข้าเหลอดเลือดดำ โดยยาจะไปกระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก จึงส่งผลให้เกิดการแท้ง ยานี้จะได้ผลดีในอายุครรภ์ที่ค่อนข้างมาก

• ข้อดีของการใช้ยาในการชักนำให้เกิดการแท้ง: ได้แก่

1. ไม่เจ็บตัวจากการใช้หัตการทางสูตินรีเวช

2. ค่าใช้จ่ายน้อย

3. ไม่จำเป็นต้องทำการรักษาในโรงพยาบาล

4. มีภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)น้อยกว่า เช่น มดลูกทะลุน้อยกว่า

• ข้อด้อยของการใช้ยาในการชักนำการแท้ง: ได้แก่

1. ใช้เวลานานกว่าในการชักนำให้เกิดการแท้งเมื่อเปรียบเทียบกับการขูดมดลูก คือ ต้องใช้ยานานประมาณ 1-3 วัน

2. มีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ของยา เช่น ปวดศีรษะ มีไข้

3. มีโอกาสแท้งไม่ครบมากกว่า ซึ่งต้องได้รับการขูดมดลูกตามมา

4. มดลูกแตก

ข. การทำหัตถการทางสูตินรีเวช(Surgical abortion) คือ การขูดมดลูก (Dilation and curettage) หรือ การดูดทารกออกจากครรภ์ด้วยเครื่องดูดสุญญากาศ(Manual vacuum aspiration) ซึ่งหัตถการเหล่านี้ มักทำในอายุครรภ์ที่น้อย(น้อยกว่า 12 สัปดาห์) ต้องใช้อุปกรณ์สอดใส่เข้าไปในโพรงมดลูกแล้วขูดหรือดูดทารกในครรภ์ออกมา มักต้องมีการให้ยาระงับปวด/ยาแก้ปวดร่วมด้วย อาจเป็นการฉีดยาชาที่ปากมดลูก หรือ ฉีดยาแก้ปวดเข้าหลอดเลือดดำ ทั้งนี้การดูดทารกด้วยหลอดสุญญากาศซึ่งเป็นหลอดพลาสติก จะลดโอกาสมดลูกทะลุได้มากกว่าการขูดมดลูกด้วยอุปกรณ์ที่ทำจากโลหะ

• ข้อดีของการขูดมดลูกด้วยอุปกรณ์ที่ทำจากโลหะ: ได้แก่

1. รักษาได้รวดเร็ว

2. มักไม่ปัญหาเศษรกค้างในโพรงมดลูก

• ข้อด้อยของการขูดมดลูกด้วยอุปกรณ์ที่ทำจากโลหะ: ได้แก่

1. เจ็บปวด

2. มีโอกาสมดลูกทะลุได้

3. มีโอกาสติดเชื้ออักเสบในโพรงมดลูก(เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ)

4. เสียเลือดมาก

• ข้อดีของการดูดทารกออกจากครรภ์ด้วยเครื่องดูดสุญญากาศ: ได้แก่

1. รักษาได้รวดเร็ว

2. มักไม่มีปัญหาเศษรกค้างในโพรงมดลูก

3. มีความเจ็บปวดน้อยกว่าการขูดมดลูกด้วยเครื่องมือที่ทำจากโลหะ

4. มีโอกาสมดลูกทะลุน้อยกว่า และปลอดภัยกว่าการขูดมดลูกด้วยเครื่องมือที่ทำจากโลหะ

5. เสียเลือดน้อยกว่าการขูดมดลูกด้วยเครื่องมือที่ทำจากโลหะ

6. โอกาสเกิดพังผืดในโพรงมดลูกน้อยกว่าการขูดมดลูกด้วยเครื่องมือที่ทำจากโลหะ

• ข้อด้อยของการดูดทารกออกจากครรภ์ด้วยเครื่องดูดสุญญากาศ: คือ การดูดทารกออกจากครรภ์ด้วยเครื่องดูดสุญญากาศ คือ มีข้อจำกัดที่ทำได้ในอายุครรภ์ที่น้อยกว่า 12 สัปดาห์

***ทั้งนี้ การเลือกใช้วิธีชักนำให้เกิดการแท้งโดยวิธีใดนั้น ขึ้นกับอายุคครรภ์, ความต้องการของผู้ป่วย, และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

ภาวะแทรกซ้อนของการชักนำให้เกิดการแท้งมีอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อนของการชักนำให้เกิดการแท้ง ได้แก่

ก. ภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยา: ได้แก่

1. ได้รับผลกระทบจากอาการข้างเคียงของยา/p>

2. เกิดแท้งไม่ครบ

3. เสียเลือดมาก

4. เกิดอักเสบติดเชื้อในโพรงมดลูก(เยื่อบุมดลูกอักเสบ)

5. มดลูกแตก

ข. ภาวะแทรกซ้อนจากการขูดมดลูกด้วยเครื่องมือที่ทำจากโลหะหรือจากการดูดทารกในครรภ์ด้วยเครื่องดูดสุญญากาศ: ได้แก่

1. เสียเลือดมาก

2. มดลูกทะลุ

3. การอักเสบติดเชื้อในโพรงมดลูก

ดูแลตนเองหลังจากเกิดการแท้งแล้วอย่างไร?

การดูแลตนเองหลังจากเกิดการแท้งแล้ว ได้แก่

1. ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล

2. รับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อแทรกซ้อน และเพื่อช่วยในการฟื้นฟูสภาพร่างกาย

3. พักผ่อนให้เพียงพอ

4. งดการว่ายน้ำในสระว่ายน้ำขณะที่ยังมีเลือดออกทางช่องคลอด

5. สังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เช่น เลือดที่ออกทางช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น มีไข้ ปวดท้องน้อยมาก

6. งดเพศสัมพันธ์ขณะยังมีเลือดออกทางช่องคลอด

7. ปรึกษาสูตินรีแพทย์เรื่อง การคุมกำเนิด หรือ การวางแผนครอบครัว เพื่อป้องกันเกิดการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นการแท้งครบ?

เมื่อแพทย์ชักนำให้เกิดการแท้งแล้ว ควรสังเกตอาการที่บ่งบอกว่าน่าจะเป็นการแท้งครบ คือเลือดที่ออกทางช่องคลอดปริมาณจะลดลงเรื่อยๆ และควรจะหยุดภายใน 1-2 สัปดาห์หลังการแท้ง รวมถึงอาการปวดท้องน้อยจะลดลงจนไม่ปวด แต่ถ้ายังมีเลือดออกทางช่องคลอดนานกว่า 2 สัปดาห์ หรือ เลือดอกมากขึ้นเรื่อยๆ หรือเลือดที่ออกมีกลิ่นเหม็น หรือปวดท้องน้อยมากขึ้น ต้องรีบด่วนมาโรงพยาบาลก่อนนัด ไม่ต้องรอถึงวันนัด

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

เมื่อผู้ป่วยได้รับอนุญาตจากแพทย์ให้กลับบ้านได้ ควรรีบด่วนพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ

1. มีเลือดออกทางช่องคลอดมากผิดปกติ โดยทั่วไปหลังแท้งจะมีเลือดออกจากโพรงมดลูกนานประมาณ 1-2 สัปดาห์ โดยปริมาณจะค่อยๆลดลงเรื่อยๆ สีของเลือดจางลงเรื่อยๆ และไม่มีกลิ่นเหม็น หากเลือดที่หยุดไปแล้วกลับมามีมาก หรือมีกลิ่นเหม็น ถือว่าผิดปกติ

2. ปวดท้องน้อยมากผิดปกติ

3. มีไข้

4. ตกขาวหรือเลือดที่ออกมีกลิ่นเหม็น

5. สงสัย หรือกังวลว่าตนเองเกิด การแท้งไม่สมบูรณ์/แท้งไม่ครบ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com เรื่อง แท้งครบ/แท้งสมบูรณ์ และ เรื่อง แท้งไม่สมบูรณ์/แท้งไม่ครบ)

หลังเกิดการแท้งสามารถตั้งครรภ์ได้เลยหรือไม่?

ไม่มีข้อจำกัดชัดเจนว่า ยังไม่ควรตั้งครรภ์ทันทีหลังการแท้ง หากการชักนำการแท้งประสบผลสำเร็จด้วยดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อน และมีความต้องการมีบุตรมาก สามารถตั้งครรภ์ต่อได้ อย่างไรก็ตาม หากมีการเสียเลือดมาก มีการติดเชื้อในโพรงมดลูก ควรมีการรักษาตัวไปสักระยะเพื่อฟื้นฟูสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเต็มที่ และควรใช้ถุงยางอนามัยชายคุมกำเนิดไปประมาณ 3 เดือน ทั้งนี้ ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ล่วงหน้าในเรื่องของการตั้งครรภ์

หลังเกิดการแท้งต้องคุมกำเนิดหรือไม่?

หากยังไม่ต้องการตั้งครรภ์ ควรมีการวางแผนการคุมกำเนิดไปเลยตั้งแต่ยังอยู่ในโรงพยาบาล โดยขอรับคำปรึกษาจากสูตินรีแพทย์ เพราะโอกาสตั้งครรภ์หลังแท้งจะเกิดเร็วกว่าการคลอดทารกครบกำหนด และควรมารับการคุมกำเนิด ไม่นานเกิน 2 สัปดาห์หลังแท้ง อย่างไรก็ตาม สามารถคุมกำเนิดตั้งแต่หลังแท้งได้ทันที เช่น การใช้ ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด หรือรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด หรือการใช้ถุงยางอนามัยชาย

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Medical_abortion [2017,Jan7]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Therapeutic_abortion [2017,Jan7]
  3. http://www.uptodate.com/contents/overview-of-pregnancy-termination [2017,Jan7]