การคุมกำเนิดด้วยยาฆ่าอสุจิ การคุมกำเนิดด้วยสารฆ่าอสุจิ (Spermicidal contracep tion)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 12 กันยายน 2562
- Tweet
- การคุมกำเนิดด้วยสารฆ่าอสุจิคืออะไร?
- สารฆ่าอสุจิมีกี่ชนิด?
- ใช้สารฆ่าอสุจิได้ด้วยวิธีใดบ้าง?
- กลไกการออกฤทธิ์ของสารฆ่าอสุจิเป็นอย่างไร?
- ข้อดีของการคุมกำเนิดด้วยสารฆ่าอสุจิมีอะไรบ้าง?
- ข้อด้อยของการคุมกำเนิดด้วยสารฆ่าอสุจิคืออะไร?
- อาการข้างเคียงของสารฆ่าอสุจิมีอะไรบ้าง?
- ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดของสารฆ่าอสุจิเป็นอย่างไร?
- ใครที่เหมาะจะคุมกำเนิดด้วยสารฆ่าอสุจิ?
- ใครที่ไม่ควรคุมกำเนิดด้วยสารฆ่าอสุจิ?
- บรรณานุกรม
- การคุมกำเนิด (Contraception)
- การวางแผนครอบครัว (Family planning)
- ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)
- หมวกครอบปากมดลูก (Cervical diaphragm)
- ฝาครอบปากมดลูก (Cervical cap)
- ถุงยางอนามัยสตรี (Female condom)
- ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Vaginosis)
การคุมกำเนิดด้วยสารฆ่าอสุจิคืออะไร?
การคุมกำเนิดด้วยสารฆ่าอสุจิ หรือที่เรียกทั่วๆไปว่า ยาฆ่าอสุจิ (Spermicide) เป็นวิธีคุม กำเนิดแบบชั่วคราววิธีหนึ่ง โดยการใส่ยา/สาร หรือสอดยา/สารนี้ เข้าไปในช่องคลอด ก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์เพื่อที่จะไปทำลาย/ฆ่าตัวเชื้ออสุจิ หลังมีเพศสัมพันธ์จากที่มีการหลั่งน้ำอสุจิเข้าไปในช่องคลอด เพื่อฆ่าอสุจิให้ตายอยู่ในช่องคลอด ทำให้ไม่สามารถเข้าสู่มดลูกได้ จึงไม่มีการผสมกับไข่ (ไม่เกิดการตั้งครรภ์)
สารฆ่าอสุจิมีกี่ชนิด?
สารที่นิยมใช้ทำเป็นยาฆ่าอสุจิมากที่สุด คือ Nonoxynol-9 (สารประกอบอินทรีย์/Organic compound ที่มีคุณสมบัติฆ่าอสุจิได้) ซึ่งผลิตอยู่ในหลายรูปแบบ โดยเมื่อใส่หรือสอดยาเข้าไปในช่องคลอดสตรีแล้ว ยาฯจะไปเคลือบบริเวณปากมดลูก คอยทำลายเชื้ออสุจิ/อสุจิ เพื่อป้องกันไม่ให้อสุจิเข้าไปผสมกับไข่ของฝ่ายหญิงได้ ทั้งนี้รูปแบบต่างๆของยาฯ เช่น
- แบบเม็ดฟองฟู่
- แบบเจล
- แบบครีม
- แบบโฟม (โดยการฉีดจากกระป๋อง)
- แบบแผ่นฟิล์มบางๆ
- หรือทำในรูปยาเหน็บ
ส่วนรูปแบบอื่นของยา/สารฆ่าอสุจิ คือ
- การเคลือบยาฆ่าเชื้ออสุจิในถุงยางอนามัยชาย
- หรือ เคลือบยาฆ่าเชื้ออสุจิในฟองน้ำคุมกำเนิดในสตรี (Contraceptive sponge เป็นสารสังเคราะห์ ทำเป็นก้อนกลมที่มีลักษณะเป็นรูพรุนเล็กๆจำนวนมากคล้ายฟองน้ำ และเคลือบด้วยสารฆ่าอสุจิ ทำหน้าที่คุมกำเนิดเมื่อใส่เข้าไปในช่องคลอดโดยให้ไปคลุมอยู่ที่ปากมดลูก) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดให้ดีขึ้น
ใช้สารฆ่าอสุจิได้ด้วยวิธีใดบ้าง?
การใช้ยา/สารฆ่าอสุจิ จะต้องใส่ยาเข้าไปในช่องคลอดก่อนมีเพศสัมพันธ์ รูปแบบของยาฆ่าอสุจิมีหลายอย่างตามที่กล่าวมาแล้ว ผู้ใช้ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆที่เขียนแนะนำไว้ในฉลากแนะนำวิธีใช้อย่างเคร่งครัด เพราะยาในแต่ละรูปแบบจะมีวิธีใช้ หรือระยะเวลาที่ต้องใช้ยาแตกต่างกันไป เช่น
- กรณียาฆ่าเชื้ออสุจิเป็นชนิดเม็ดที่ใช้สอดช่องคลอด วิธีการใช้จะเหมือนการใช้ยาสอดช่องคลอดทั่วๆไป โดยใช้วิธีนั่งยองๆ หรือนอนชันเข่าแล้วใช้นิ้วจับยาสอดเข้าไปในช่องคลอด ใช้นิ้วดันยาฯให้เข้าไปในช่องคลอดให้ลึกที่สุด
- หรือหากยาฯทำในรูปแบบครีมหรือแบบเจล จะมีแท่งพลาสติกที่ใช้บรรจุยาแล้วสอดแท่งพลาส ติกนั้นเข้าไปในช่องคลอด แล้วจึงดันยาฯออกจากหลอดให้มาอยู่ในช่องคลอด
หลังใส่ยาฯไปแล้ว ควรรอประมาณ 10 นาที ก่อนมีเพศสัมพันธ์ และยาฯส่วนมากมักจะมีฤทธิ์ทำลายอสุจิไม่เกิน 1 ชั่วโมงหลังจากใส่ยาฯเข้าไปในช่องคลอด ดังนั้น
- หากต้องการมีเพศสัมพันธ์ครั้งต่อๆไป ก็ต้องใส่ยาใหม่อีกในแต่ละครั้งของเพศสัมพันธ์
- และไม่ให้สวนล้างช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์ เพราะจะไปละลายตัวยาฆ่าอสุจิออก
- ควรปล่อยให้ยาฯอยู่ในช่องคลอดอย่างน้อยประมาณ 6-8 ชั่วโมง
*นอกจากนั้น ภายหลังใส่ยาฯแล้ว ไม่ควรลุก ยืน เดิน หรือไปนั่งถ่ายปัสสาวะ จนกว่าจะมีการอยู่ร่วมกัน (มีเพศสัมพันธ์) เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เพื่อป้องกันยาไหลออกมา ดังนั้น ก่อนใส่ยาเข้าไปในช่องคลอด ควรถ่ายปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเสมอ
กลไกการออกฤทธิ์ของสารฆ่าอสุจิเป็นอย่างไร?
สารฆ่าอสุจิจะไปทำให้เชื้ออสุจิไม่เคลื่อนไหว ทำลาย/ฆ่าตัวอสุจิ ทำให้เชื้ออสุจิไม่สา มารถผ่านปากมดลูก โพรงมดลูกไปผสมกับไข่ของฝ่ายหญิงได้
องค์การอนามัยโลกไม่แนะนำให้ใช่สารฆ่าเชื้ออสุจิแบบเดี่ยวๆ คือ วิธีการเดียวในการคุม กำเนิด (อ่านเพิ่มเติมวิธีการต่างๆในการคุมกำเนิดได้ในบทความเรื่อง การคุมกำเนิด และเรื่องการวางแผนครอบครัว) เพราะประสิทธิภาพวิธีการนี้ไม่ค่อยดี ควรใช้ร่วมกับวิธีการอื่นๆ เช่น ถุง ยางอนามัยสตรี (Female condom) ถุงยางอนามัยชาย (Condom) หมวกคุมปากมดลูก (Cervical cap) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดให้ดีขึ้น
ข้อดีของการคุมกำเนิดด้วยสารฆ่าอสุจิมีอะไรบ้าง?
ข้อดีของการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ คือ
- ใช้ง่ายสามารถจัดการด้วยตนเองหรือคู่นอนได้ ไม่ต้องอาศัยบุคลากรทางการแพทย์
- สะดวก หาซื้อได้ง่าย ตามร้านขายยาทั่วไป
- ไม่มีผลด้านฮอร์โมนต่อสตรี (อ่านเพิ่มเติมผลของฮอร์โมนคุมกำเนิดได้ในบทความเรื่อง ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด แผ่นแปะคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด)
- สามารถใช้ได้ในสตรีที่กำลังเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ข้อด้อยของการคุมกำเนิดด้วยสารฆ่าอสุจิคืออะไร?
ข้อด้อยของการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ คือ ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดไม่ดี นอกจากนั้น คือ
- ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
- ต้องเสียเวลาในการใส่ยาเข้าไปในช่องคลอด และต้องรอเวลาให้ยาออกฤทธิ์ อาจขัดจัง หวะการมีเพศสัมพันธ์ได้
- ต้องใช้ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- ยาที่ใส่อาจทำให้รู้สึกเหนียว เหนอะหนะ ทำให้เกิดความรำคาญได้
- ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่เกี่ยวการใช้ยาฆ่าเชื้ออสุจิ เช่น หลอดฉีดของเหลวเข้าไปในช่องคลอด หลอดฉีดโฟม เป็นต้น
อาการข้างเคียงของสารฆ่าอสุจิมีอะไรบ้าง?
อาการข้างเคียงหรือผลข้างเคียง (ผลแทรกซ้อน) ของการคุมกำเนิดวิธีนี้ คือ
- อาจทำให้เกิดการแพ้ยา/สาร จึงก่อระคายเคือง บวมแดง ต่อช่องคลอดสตรี หรือ ต่ออวัยวะเพศของฝ่ายชายได้
- ทำให้เกิดการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ได้ง่ายขึ้นหากมีแผลถลอกที่เกิดจากการระคายเคือง
- ทำให้เกิดการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะง่ายขึ้น
- ทำให้เกิดการติดเชื้อยีสต์ (เชื้อรา)ในช่องคลอดง่ายขึ้น (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง เชื้อราในช่องคลอด)
- มีโอกาสเกิดช่องคลอดอักเสบจากติดเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่น ที่เรียกว่า โรค Bacterial Vaginosis มากขึ้น
ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดของสารฆ่าอสุจิเป็นอย่างไร?
อัตราการล้มเหลวจากการใช้ยา/สารฆ่าอสุจิ คือ มีการตั้งครรภ์ได้สูงแม้มีการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ ในทางทฤษฎีประมาณ 20 % แต่จริงๆแล้วในการใช้จริงๆ มีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากถึงประมาณ 30 % (สูงที่สุดของการคุมกำเนิดด้วยวิธีทางการแพทย์ แต่ใกล้เคียงกับการคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติที่โอกาสตั้งครรภ์โดยเฉลี่ยประมาณ 25%)
จะเห็นได้ว่าประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดด้วยยาฆ่าอสุจิไม่ดี อัตราการตั้งครรภ์สูง สาเหตุน่าจะเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น
- วิธีใช้ยาไม่ถูกต้อง
- สอดยาตื้นเกินไป
- หรือมีการร่วมเพศก่อนที่ยาที่ใส่เข้าไปจะออกฤทธิ์ได้เต็มที่
*จึงมีคำแนะว่า น่าจะใช้ร่วมกับถุงยางอนามัยหมวกครอบปากมดลูก (Cervical cap) หรือแผ่นกั้นปากมดลูก (Diaphragm) หรือวิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น จะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดมากขึ้น
ใครที่เหมาะจะคุมกำเนิดด้วยยาฆ่าอสุจิ?
ผู้ที่เหมาะจะคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ คือ
- ฝ่ายหญิงต้องการคุมกำเนิด แต่ฝ่ายชายไม่ยอมใช้ถุงยางอนามัยชาย
- มีเพศสัมพันธ์นานๆครั้ง
- พร้อมที่จะยอมรับการตั้งครรภ์หากการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ล้มเหลว
- อยู่ในสถานที่ที่ไม่สามารถไปรับบริการการวางแผนครอบครัวจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ เช่น การยาฉีดคุมกำเนิด การยาฝังคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด
ใครที่ไม่ควรคุมกำเนิดด้วยสารฆ่าอสุจิ?
ผู้ที่ไม่ควรคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ คือ
- ผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ เอชไอวี (HIV)/โรคเอดส์ หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน
- ผู้ที่ติดเชื้อ เอชไอวี หรือ มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อยู่แล้ว เนื่องจากสาร/ยาฆ่าอสุจินี้อาจทำให้เกิดการระคายเคืองทั้งที่ผนังช่องคลอดและ/หรือที่อวัยวะเพศของฝ่ายชายได้ หรือทำให้เกิดแผลหรือรอยถลอกได้ ทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อหรือติดเชื้อโรคต่างๆ โดย เฉพาะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ง่ายขึ้น
- คู่นอนที่มีเพศสัมพันธ์กันบ่อยๆ เพราะการที่ต้องใช้สารฆ่าอสุจิทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์ อาจทำให้ไม่สะดวก ประกอบกับประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ต่ำ จึงมีโอกาสตั้ง ครรภ์ได้สูง