กาบาเพนติน อีนาคาร์บิล (Gabapentin enacarbil)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 6 เมษายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- กาบาเพนติน อีนาคาร์บิลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- กาบาเพนติน อีนาคาร์บิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- กาบาเพนติน อีนาคาร์บิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- กาบาเพนติน อีนาคาร์บิลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- กาบาเพนติน อีนาคาร์บิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้กาบาเพนติน อีนาคาร์บิลอย่างไร?
- กาบาเพนติน อีนาคาร์บิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษากาบาเพนติน อีนาคาร์บิลอย่างไร?
- กาบาเพนติน อีนาคาร์บิลมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข(Restless legs syndrome)
- ลมชัก (Epilepsy)
- กลุ่มยาแก้ปวดและยาพาราเซตามอล (Analgesics and Paracetamol)
- ปวดเหตุเส้นประสาทงูสวัด (Herpetic and Post-herpetic neuralgia)
- อาการไม่พึงประสงค์จากปฏิกิริยาจำเพาะของยา (Idiosyncratic Adverse Drug Reaction)
บทนำ
ยากาบาเพนติน อีนาคาร์บิล(Gabapentin enacarbil) เป็นยารักษาอาการลมชักและใช้เป็นยาบรรเทาปวด/ยาแก้ปวด ด้วยโครงสร้างทางเคมีทำให้ยากาบาเพนติน อีนาคาร์บิลไม่ใช่ตัวยาที่ออกฤทธิ์ได้ทันที แต่ต้องเปลี่ยนโครงสร้างไปเป็น Gabapentin เสียก่อนจึงออกฤทธิ์ได้ จากการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม ทำให้ยานี้ได้รับการขึ้นทะเบียนในปี ค.ศ.2011 (พ.ศ.2554)ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อบำบัดกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข(Restless legs syndrome) และอีก1 ปีต่อมา ทางคลินิกได้รับการยืนยันว่า ยากาบาเพนติน อีนาคาร์บิลสามารถรักษาอาการปวดจากรอยโรคงูสวัด(Postherpetic neuralgia)/ปวดเหตุเส้นประสาทงูสวัด(Herpetic neuralgia)ได้เช่นกัน
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยากาบาเพนติน อีนาคาร์บิล เป็นยารับประทาน โดยทั่วไปแพทย์จะสั่งจ่ายให้รับประทานเพียงวันละ 1 ครั้งในช่วงเริ่มต้นใช้ยานี้ แล้วค่อยๆปรับขนาดรับประทานเป็นวันละ 2 ครั้งโดยพิจารณาตามการตอบสนองของผู้ป่วย
สิ่งที่ผู้ป่วยควรเรียนรู้และรับทราบระหว่างที่ใช้ยาชนิดนี้เพื่อจะได้ปฏิบัติตนได้เหมาะสมและมีความปลอดภัยกับตนเองมีดังนี้ เช่น
- ยากาบาเพนติน อีนาคาร์บิลเป็นยาที่สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการง่วงนอน และวิงเวียน ผู้ที่มีอาการดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ และการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ห้ามเปลี่ยนไปรับประทานยากาบาเพนติน(Gabapentin) ที่เป็นสูตรตำรับอื่นโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ ด้วยตัวยากาบาเพนตินแต่ละสูตรตำรับมีการออกแบบให้รองรับวัตถุประสงค์การใช้ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขนาดรับประทาน การปลดปล่อยตัวยาขณะอยู่ในระบบทางเดินอาหารหรือแม้แต่การดูดซึมจากระบบทาง้ดินอาหาร และระยะเวลาของการออกฤทธิ์ของแต่ละตัวยานั้นๆ ผู้ป่วยควรใช้ยาตัวเดิมตามคำสั่งแพทย์อย่างต่อเนื่อง
- ยาชนิดนี้/ยานี้มีคุณสมบัติต่อการทำงานของสมอง ทางคลินิก มีข้อแนะนำให้เฝ้าระวังพฤติกรรมที่อาจเปลี่ยนแปลงไปขณะที่ได้รับยานี้ เช่น มีอาการซึม เกิดความรู้สึกอยากทำร้ายตนเอง
- ยากาบาเพนติน อีนาคาร์บิลอาจกระตุ้นให้มีการแพ้ยาอย่างรุนแรง หรือที่เรียกว่า Drug Reaction With Eosinophilia and Systemic Symptoms (DRESS)/Multiorgan Hypersensitivity(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง อาการไม่พึงประสงค์จากปฏิกิริยาจำเพาะของยา) ซึ่งอาจแสดงออกมาด้วย อาการมีไข้ เกิดผื่นคัน เกิดภาวะบวมโตของต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกาย รวมถึงทำให้อวัยวะต่างๆของร่างกายเกิดความผิดปกติ เช่นเกิด ตับอักเสบ ไตอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ระบบเลือดทำงานผิดปกติหรือมีภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิล/Eosinophilสูง หากพบเหตุการณ์เหล่านี้ ผู้ป่วยต้องได้รับการประเมินร่างกายจากแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันทีพร้อมกับหยุดใช้ยากาบาเพนติน อีนาคาร์บิลทันทีเช่นกัน
- สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดนี้ด้วยผลการศึกษาทดลองพบว่า ตัวยานี้มีแนวโน้มยับยั้งการเจริญเติบโตของเส้นประสาทในทารก
- ผู้ป่วยที่มีโรคไตร่วมด้วย แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานของยานี้ให้เหมาะสมกับการทำงานของไตโดยใช้ค่า Creatinine clearance เป็นตัวอ้างอิง
- *หากผู้ป่วยได้รับยานี้เกินขนาด ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลโดยเร็ว/ทันที
ปัจจุบัน เราจะพบเห็นการจัดจำหน่ายยากาบาเพนติน อีนาคาร์บิลที่อเมริกา โดยใช้ชื่อการค้าว่า Horizant และในประเทศญี่ปุ่นภายใต้ชื่อการค้าว่า Regnite สำหรับประเทศไทย การนำเข้ายาชนิดนี้ขึ้นอยู่กับอัตราการเจ็บป่วยด้วยกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุขและอาการปวดจากรอยโรคงูสวัด ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการนำยากาบาเพนติน อีนาคาร์บิลเข้ามาใช้ภายในประเทศ
กาบาเพนติน อีนาคาร์บิลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยากาบาเพนติน อีนาคาร์บิลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome)
- บำบัดอาการปวดจากรอยโรคของงูสวัด (Postherpetic neuralgia)
กาบาเพนติน อีนาคาร์บิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยากาบาเพนติน อีนาคาร์บิลมีกลไกการออกฤทธ์โดยเป็น Prodrug ของยากาบาเพนตินอีกทีหนึ่ง สำหรับกลไกการออกฤทธิ์ต่อผู้ป่วยกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุขและอาการปวดด้วยรอยโรคงูสวัดนั้น ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่กลไกการออกฤทธิ์หลักของยากาบาเพนตินจะแสดงออกในด้านลดอาการเจ็บปวดจากการกระตุ้นของเซลล์ประสาทตลอดจนลดอาการปวดจากการอักเสบของปลายประสาท/ปลายเส้นประสาทเช่นกัน
กาบาเพนติน อีนาคาร์บิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยากาบาเพนติน อีนาคาร์บิลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทานแบบออกฤทธิ์นาน ที่ประกอบด้วย Gabapentin enacarbil ขนาด 300 และ 600 มิลลิกรัม/เม็ด
กาบาเพนติน อีนาคาร์บิลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยากาบาเพนติน อีนาคาร์บิล มีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 600 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ในช่วง 5 โมงเย็น สำหรับผู้ที่มีโรคไตร่วมด้วย แพทย์จะให้ใช้ยาตามค่า Creatinine clearance ข้างล่าง
ข. สำหรับอาการปวดจากรอยโรคงูสวัด:
- ผู้ใหญ่: โดย 3 วันแรก รับประทานยา 600 มิลลิกรัม ในช่วงเช้าเพียงวันละ1ครั้งวันที่ 4 เป็นต้นไป รับประทานยาครั้งละ 600 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า–เย็น สำหรับผู้ที่ มีโรคไตร่วมด้วย ให้ใช้ยาตามค่า Creatinine clearance ข้างล่าง
อนึ่ง:
- ยานี้รับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยการใช้ยานี้ในเด็ก
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยากาบาเพนติน อีนาคาร์บิล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากาบาเพนติน อีนาคาร์บิลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยากาบาเพนติน อีนาคาร์บิล สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
กาบาเพนติน อีนาคาร์บิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากาบาเพนติน อีนาคาร์บิล สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ปวดศีรษะ อ่อนแรง
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น บวมตามปลายมือ-เท้า
- ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า
- ผลต่อการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวเพิ่ม
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ
มีข้อควรระวังการใช้กาบาเพนติน อีนาคาร์บิลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยากาบาเพนติน อีนาคาร์บิล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามรับประทานยาอื่นใดร่วมกับยากาบาเพนติน อีนาคาร์บิลโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะยาตีกัน/ปฏิกิริยาระหว่างยา
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์และสตรีในช่วงให้นมบุตร
- รับประทานยานี้ต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ ห้ามหยุดการใช้ยาด้วยตนเอง - กรณีพบอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวหนังลอก แน่นหน้าอก หายใจขัด ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม ซึ่งเป็นอาการแพ้ยานี้ ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยากาบาเพนติน อีนาคาร์บิลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
กาบาเพนติน อีนาคาร์บิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยากาบาเพนติน อีนาคาร์บิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามรับประทานยากาบาเพนติน อีนาคาร์บิล ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ด้วยจะทำให้เกิดอาการวิงเวียนมากยิ่งขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยากาบาเพนติน อีนาคาร์บิลร่วมกับ ยาPropoxyphene เพราะจะทำให้เกิดอาการ ง่วงนอน วิงเวียน รู้สึกสับสน และขาดสมาธิ อาการเหล่านี้จะรุนแรงมากเมื่อใช้ยาทั้ง 2 ตัวในผู้สูงอายุ
- ห้ามใช้ยากาบาเพนติน อีนาคาร์บิลร่วมกับ ยาSodium oxybate และ Levomethadyl acetate ด้วยจะทำให้เกิดอาการความดันโลหิตต่ำ หายใจช้าลง วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม รู้สึกสับสน และซึม
- ห้ามใช้ยากาบาเพนติน อีนาคาร์บิลร่วมกับ ยาBuprenorphine ด้วยจะทำให้ระบบประสาทส่วนกลางหรือสมองถูกกดการทำงาน ส่งผลให้หายใจขัด และมีอาการโคม่า ตลอดจนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด
ควรเก็บรักษากาบาเพนติน อีนาคาร์บิลอย่างไร?
ควรเก็บยากาบาเพนติน อีนาคาร์บิลภายใต้อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
กาบาเพนติน อีนาคาร์บิลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยากาบาเพนติน อีนาคาร์บิล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
HORIZANT (ฮอไรแซนท์) | Patheon Inc. |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Oritavancin [2018,March17]
- https://www.drugs.com/npc/kaolin-hydrated-aluminum-silicate.html [2018,March17]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2012/022399s006,s007lbl.pdf [2018,March17]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/gabapentin-enacarbil-index.html?filter=3&generic_only= [2018,March17]