กาบาเพนตินอยด์ (Gabapentinoid)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยากาบาเพนตินอยด์(Gabapentinoid) เป็นกลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายกับสารสื่อประสาทของมนุษย์ที่มีชื่อเรียกว่า “กรดแกมมา-อะมิโนบิวทีริก (Gamma-aminobutyric acid ย่อว่า GABA)” กรดชนิดนี้จะทำหน้าที่ปิดคำสั่งกระแสประสาทระหว่างเซลล์ประสาทในสมอง การมีปริมาณกรดแกมมา-อะมิโนบิวทีริกในสมองต่ำเกินไป จะทำให้การปิดกั้นกระแสประสาททำได้ไม่ดีจนเกิดความสัมพันธ์ต่อสภาพอารมณ์และจิตใจจนกระทั่งเป็นเหตุให้มี อาการวิตกกังวล รู้สึกกลัว นอนไม่หลับ เกิดอาการชัก หรือมีอาการปวดอย่างเรื้อรัง การแก้ไขเหตุการณ์ดังกล่าวแพทย์ จะสั่งจ่ายยาในกลุ่ม กาบาเพนตินอยด์ ให้กับผู้ป่วยเพื่อช่วยบรรเทาอาการให้กลับมาเป็นปกติ

ประโยชน์ทางการแพทย์ของกาบาเพนตินอยด์มีอะไรบ้าง?

กาบาเพนตินอยด์

กลุ่มยากาบาเพนตินอยด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ทางคลินิกดังนี้ เช่น

  • รักษาโรคลมชัก
  • บำบัดภาวะปวดเรื้อรังที่รอยโรคเมื่ออาการโรคหายไปเช่นในโรค งูสวัด
  • รักษาอาการปวด กล้ามเนื้อ เอ็น และเนื้อเยื่ออ่อน
  • รักษาอาการวิตกกังวล
  • รักษากลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข

อนึ่ง ในบางกรณี แพทย์อาจประยุกต์ใช้ยากาบาเพนตินอยด์ มารักษาอาการโรคต่อไปนี้คือ

  • โรคนอนไม่หลับ
  • โรคไมเกรน
  • อาการหวาดกลัวทางสังคม
  • โรคตื่นตระหนก
  • อาการคลุ้มคลั่ง
  • โรคอารมณ์สองขั้ว และ
  • โรคพิษสุราเรื้อรัง

กาบาเพนตินอยด์ที่ได้รับการยอมรับและนำมาใช้ทางคลินิกมีอะไรบ้าง?

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้จำแนกยากาบาเพนตินอยด์ที่ใช้ทางคลินิก ดังนี้

1. Gabapentin (สูตรโมเลกุล C9H17NO2): เป็นยาชนิดรับประทาน วางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Neurontin ใช้รักษา โรคลมชัก อาการวิตกกังวล อาการปวดของเส้นประสาท อาการร้อนวูบวาบ อาการนอนไม่หลับ และกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข(Restless legs syndrome) ยานี้มีอาการข้างเคียง๖(ผลข้างเคียง)ที่พบบ่อยคือ ทำให้ง่วงนอน และมีอาการวิงเวียน แต่อาการข้างเคียงที่ดูแล้วจะรุนแรงที่สุดคือ ผู้ป่วยบางรายจะมีพฤติกรรมและความคิดอยากทำร้ายตนเอง

*การรับประทานยาGabapentin เกินขนาด จะนำมาด้วยอาการ ง่วงนอน ตาพร่า พูดจาไม่ชัด และเกิดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต โดยเราสามารถพบเห็นการใช้ยา Gabapentin ตามสถานพยาบาล และมีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป

Gabapentin เป็นยาที่ถูกบรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย โดยมีเงื่อนไข การใช้ยา คือ ใช้บรรเทาอาการปวดซึ่งเกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทเท่านั้น และไม่มีหลักฐานว่า มีประสิทธิผลในการบรรเทาอาการปวดที่เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อพังผืด กระดูก และข้อ

2. Gabapentin extended-release: เป็นยา Gabapentin ที่มีการพัฒนาให้ตัวยาค่อยๆถูกปลดปล่อยตัวยาขณะอยู่ในระบบทางเดินอาหาร จึงมีการดูดซึมยานี้ได้ตลอดวัน สูตรตำรับของยาชนิดนี้จะสะดวกต่อผู้ป่วยที่ชอบรับประทานยาเพียงวันละ1ครั้ง และการรับประทานยานี้ต้องอาศัยการปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้นทีละน้อยเป็นลำดับตามคำสั่งแพทย์ เพื่อให้ร่างกายมีเวลาในการปรับตัวและทำความคุ้นเคยกับตัวยานี้ ในท้องตลาดเราจะพบเห็น Gaba extended-release วางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Gralise”

3. Gabapentin enacarbil (สูตรโมเลกุล C16H27NO6): เป็นยาที่ใช้รักษาอาการลมชัก และใช้เป็นยาบรรเทาปวด/ยาแก้ปวดได้ด้วย ยาGabapentin enacarbil ยังไม่ใช่ตัวยาที่ออกฤทธิ์ได้ทันที แต่ต้องเปลี่ยนโครงสร้างยานี้ไปเป็น Gabapentin เสียก่อนจึงจะออกฤทธิ์ได้ เราอาจเรียก Gabapentin enacarbil ว่าเป็นโปรดรัก(Prodrug) ของยา Gabapentin ก็ได้

สามารถพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้ภายใต้ชื่อการค้า “Horizant” ซึ่งมีการจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา และชื่อการค้า Regnite มีวางจำหน่ายแต่ในประเทศญี่ปุ่น แต่ยังไม่พบเห็นการจัดจำหน่ายภายในประเทศไทย

4. Phenibut (สูตรโมเลกุล C10H13NO2): ใช้เป็นยารักษาอาการวิตกกังวล ช่วยให้นอนหลับ บรรเทาอาการซึมเศร้า ใช้บำบัดในผู้ป่วยที่ติดสุราเรื้อรัง ยาPhenibut มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทานและยาเหน็บทางทวารหนัก ผลข้างเคียงที่ผู้ป่วยอาจได้รับจากยาชนิดนี้คือ มีอาการง่วงนอนมาก คลื่นไส้ ตัวสั่น วิงเวียน ปวดศีรษะ อาจพบอาการแพ้ทางผิวหนังโดยเกิดผื่นคัน นอกจากนี้ยังอาจทำให้สูญเสียการทรงตัวของร่างกาย และมีอาการคล้ายกับเมาค้าง

*การได้รับยานี้เกินขนาดจะทำให้มีอาการ ง่วงนอนมาก คลื่นไส้ อาเจียน ความดันโลหิตต่ำ เกิดความเสียหายต่อไต และกรณีได้รับยานี้ครั้งเดียว7 กรัม จะทำให้เกิดภาวะไขมันในตับสลายตัว แพทย์อาจช่วยเหลือผู้ป่วยโดยใช้ยาถ่านกัมมันต์ หรือการล้างท้องให้ผู้ป่วย

อนึ่ง เคยมีกรณีลักลอบใช้ยา Phenibut เป็นยากระตุ้นความบันเทิง หรือ ยานูโทรปิก(Nootropic drug) มีการจัดจำหน่ายยา Phenibut ในประเทศรัสเซีย ยูเครน และลัตเวีย โดยใช้ชื่อการค้าว่า Anvifen, Fenibut, และ Noofen

5. Pregabalin (สูตรโมเลกุล C8H17NO2): เป็นยาชนิดรับประทาน ใช้รักษาโรคลมชัก ช่วยบรรเทาอาการปวดของเส้นประสาท และลดอาการวิตกกังวล บริษัทไฟเซอร์(Pfizer) นำมาจัดจำหน่ายภายใต้ยาชื่อการค้าว่า “Lyrica” สามารถพบเห็นการใช้ยานี้ตามโรงพยาบาลใหญ่ๆทั่วไปของประเทศไทย

กาบาเพนตินอยด์สามารถกระตุ้นให้เสพติดได้หรือไม่?

จากการตรวจสอบสถิติทางคลินิกพบว่า ยาบางตัวในกลุ่มยากาบาเพนตินอยด์ได้ถูกระบุให้เป็นยาควบคุม ด้วยมีการลักลอบนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น ประเทศออสเตรเลียได้ประกาศเมื่อปี ค.ศ.2017 (พ.ศ.2560) ให้ยา Phenibut เป็นสารต้องห้ามด้วยพบเห็นอันตรายจากผู้ลักลอบใช้ยานี้เกินขนาด ตลอดจนกระทั่งก่อให้เกิดอาการถอนยากับผู้ที่ใช้ยานี้เป็นประจำ

ดังนั้น การใช้ยากลุ่มกาบาเพนตินอยด์ก็เหมือนกับยาอันตรายทั่วไป ที่ผู้ป่วยจะต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์จึงจะก่อให้เกิดประโยชน์และมีความปลอดภัยต่อตัวผู้บริโภค/ผู้ป่วยสูงสุด

บรรณานุกรม

  1. https://www.youtube.com/watch?v=MRr6Ov2Uyc4 [2018,March10]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Gabapentinoid [2018,March10]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Gabapentin [2018,March10]
  4. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/74#item-8528 [2018,March10]
  5. https://www.drugs.com/dosage/gralise.html [2018,March10]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Gabapentin_enacarbil [2018,March10]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Phenibut [2018,March10]
  8. https://en.wikipedia.org/wiki/Pregabalin [2018,March10]