กาบา-บี อะโกนิสต์ (GABA-B agonist)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 16 มกราคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- กาบา-บี อะโกนิสต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- กาบา-บี อะโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- กาบา-บี อะโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- กาบา-บี อะโกนิสต์มีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- กาบา-บี อะโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้กาบา-บี อะโกนิสต์อย่างไร?
- กาบา-บี อะโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษากาบา-บี อะโกนิสต์อย่างไร?
- กาบา-บี อะโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคลมหลับ หรือ ภาวะง่วงเกิน (Narcolepsy)
- กาบา รีเซปเตอร์ อะโกนิสต์ (GABA receptor agonist)
- กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome)
- กลุ่มยาแก้ปวดและยาพาราเซตามอล (Analgesics and Paracetamol)
- โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity disorder: ADHD)
- ลมชัก (Epilepsy)
บทนำ
ยากาบา(GABA) ย่อมาจาก กรดแกมมา-อะมิโนบิวทีริก(Gamma-aminobutyric acid)ที่จัดเป็นสารสื่อประสาทที่คอยทำหน้าที่ปิดคำสั่งกระแสประสาทระหว่างเซลล์ประสาทในสมอง การมีปริมาณกาบาในสมองต่ำเกินไปจะทำให้การปิดกั้นกระแสประสาททำได้ไม่ดี และเกิดความสัมพันธ์ต่อสภาพอารมณ์และจิตใจจนกระทั่งเป็นเหตุให้มี อาการวิตกกังวล รู้สึกกลัว นอนไม่หลับ เกิดอาการชัก หรือมีอาการปวดอย่างเรื้อรัง การแก้ไขเหตุการณ์ดังกล่าว แพทย์จะสั่งจ่ายยาในกลุ่มกาบาให้กับผู้ป่วย เพื่อช่วยปรับสภาพจิตใจให้รู้สึกดีขึ้น ลดความวิตกกังวล ลดปัญหาเรื่องการนอนหลับ นอกจากนี้กาบายังถูกนำไปใช้บำบัด กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน(Premenstrual syndrome) และอาการ/โรคสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactivity disorder) การออกฤทธิ์ของสารสื่อประเภทกาบานั้นจะต้องพึ่งพาโมเลกุลของสารโปรตีนบางประเภทที่อยู่ด้านนอกของผนังเซลล์ประสาท หรือที่เรียกกันว่า ตัวรับกาบา หรือกาบา รีเซปเตอร์(GABA receptor) ซึ่งมีถึง 3 ชนิด คือ GABAA receptor, GABAB receptor, และ GABAC receptor
สำหรับกาบา-บี อะโกนิสต์(GABA-B agonist หรือ GABAB agonist) เป็นยาหรือสารประกอบใดๆที่มีความจำเพาะสามารถเข้ารวมตัวกับ GABAB receptor และก่อให้เกิดกลไกของการรักษาสมดุลการส่งกระแสประสาทตามมา ปัจจุบันกาบา-บี อะโกนิสต์เท่าที่พบเห็นประกอบไปด้วย 1,4-Butanediol, Baclofen, GABA, Gabamide, GABOB, Gamma-Butyrolactone gamma-Hydroxybutyric acid, Gamma-hydroxyvaleric acid, Gamma-Valerolactone, Lesogaberan, Phenibut, Picamilon, Progabide, และ Tolgabide
ส่วนใหญ่ยาหรือสารประกอบกาบา-บี อะโกนิสต์ดังกล่าวมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายด้าน เช่น ใช้เป็นยาบรรเทาอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ บำบัดภาวะง่วงเกิน/โรคลมหลับ รักษาโรคลมชัก กระตุ้นให้เกิดอารมณ์สันทนาการ บำบัดอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดเอ็น ปวดเนื้อเยื่ออ่อน ลดอาการวิตกกังวล บำบัดอาการหวาดกลัว อาการนอนไม่หลับ หรือช่วยสงบประสาท/ยาคลายเครียด อาจมีบางกรณีที่ กาบา-บี อะโกนิสต์ถูกนำไปใช้บำบัดอาการของผู้ที่ติดสุราอีกด้วย ดังนั้นการจะเลือกกาบา-บี อะโกนิสต์ตัวใดมาใช้รักษาอาการป่วยของตนเอง ต้องให้แพทย์ตรวจสุขภาพร่างกายเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบก่อนที่จะสั่งจ่ายยาในกลุ่มกาบา-บี อะโกนิสต์ ทุกครั้ง
กาบา-บี อะโกนิสต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยากาบา-บี อะโกนิสต์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้เป็นยาสงบประสาท/ยาคลายเครียด บำบัดอาการโรคลมหลับ รักษาอาการนอนไม่หลับ
- รักษา อาการวิตกกังวล อาการตื่นตระหนก
- รักษาอาการ ปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง ปวดเส้นเอ็น ปวดเนื้อเยื่ออ่อน
- ป้องกันและรักษาโรคลมชัก
- บำบัดอาการติดสุรา
กาบา-บี อะโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กาบา-บี อะโกนิสต์เป็นกลุ่มยาหรือสารประกอบที่มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาสามารถจับกับตัวรับกาบา-บี(GABAB receptor)ที่อยู่ผิวด้านนอกของเซลล์ประสาททำให้เกิดการกระตุ้นและผลักดันโปแตสเซียมที่อยู่ในรูปมีประจุบวกออกนอกเซลล์ประสาท ส่งผลต่อสภาพภายในเซลล์ประสาทให้มีความเป็นประจุลบมากขึ้น จึงเกิดการนำกระแสประสาทลดต่ำลง(หากภายในเซลล์ประสาทมีประจุไฟฟ้าบวกมากๆจะเกิดการส่งสัญญาณหรือกระตุ้นการนำกระแสประสาทได้สูงขึ้น) และด้วยกลไกนี้เองส่งผลลดการนำกระแสประสาทที่กระตุ้นความเจ็บ/ปวด ลดอารมณ์เศร้า ทำให้นอนหลับ และเกิดที่มาของฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ
กาบา-บี อะโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยากาบา-บี อะโกนิสต์ มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาชนิดรับประทาน
- ยาฉีด
กาบา-บี อะโกนิสต์มีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
ขนาดรับประทานหรือการบริหารยา/ใช้ยากาบา-บี อะโกนิสต์ จะขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ โดยจะอาศัยข้อมูล อาการ ความรุนแรงของอาการ การตรวจร่างกาย ผู้ป่วย มาประกอบเพื่อเลือกใช้ขนาดยาต่างๆได้ตรงตามอาการ และมีความปลอดภัยมากที่สุด
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยากาบา-บี อะโกนิสต์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากาบา-บี อะโกนิสต์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยากาบา-บี อะโกนิสต์ ก็สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
กาบา-บี อะโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากาบา-บี อะโกนิสต์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน วิงเวียน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น รู้สึกสับสน ซึม
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องผูก
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะบ่อย
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
*กรณีที่ได้รับยากาบา-บี อะโกนิสต์เกินขนาด อาจทำให้มีอาการ ง่วงนอน คลื่นไส้อาเจียน ความดันโลหิตต่ำ ไตทำงานผิดปกติ/ไตอักเสบ มีอาการชัก เกิดอาการเพ้อ หมดสติ หากพบเห็นอาการต่างๆเหล่านี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
มีข้อควรระวังการใช้กาบา-บี อะโกนิสต์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยากาบา-บี อะโกนิสต์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มนี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้กับผู้ที่ป่วยด้วยอาการทางจิตประสาท/อาการโรคทางจิตเวช
- ระวังการใช้ยานี้ใน เด็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร การใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วย โรคไต โรคตับ โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคถุงลมโป่งพอง และโรคเบาหวาน
- ยาบางตัวในกลุ่มนี้สามารถทำให้เกิดความรู้สึกวิงเวียน ดังนั้นระหว่างการใช้ยา เหล่านั้น ควรระวังเรื่องการขับขี่ยวดยานพาหนะ หรือการทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักร ด้วยจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยากลุ่มกาบา-บี อะโกนิสต์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
กาบา-บี อะโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยากาบา-บี อะโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยา Baclofen ร่วมกับยาลดความดันโลหิต อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน พทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยา Phenibut ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดการทำงานของสมอง/กดสมอง/ยากดระบบประสาทส่วนกลาง สามารถทำให้การออกฤทธิ์ของยา Phenibut ยาวนานขึ้นจนอาจส่งผลข้างเคียงรุนแรงต่อผู้ป่วย เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษากาบา-บี อะโกนิสต์อย่างไร?
ควรเก็บยากาบา-บี อะโกนิสต์ ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
กาบา รีเซปเตอร์ อะโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยากาบา รีเซปเตอร์ อะโกนิสต์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Baclosal (บาโคลซอล) | M & H Manufacturing |
Fenisal (ฟีนิซอล) | MacroPhar |
Liobac (ลีโอแบ็ค) | Sriprasit Pharma |
Lioresal (ลีโอรีซอล) | Novartis |
Gabrene (กาเบรน) | Sanofi-Aventis |
บรรณานุกรม
- https://www.youtube.com/watch?v=MRr6Ov2Uyc4 [2017,Dec30]
- https://www.youtube.com/watch?v=wP9QD-5FL5U [2017,Dec30]
- https://www.webmd.com/vitamins-and-supplements/gaba-uses-and-risks [2017,Dec30]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Gamma-Aminobutyric_acid [2017,Dec30]
- http://www.sciencedirect.com/topics/biochemistry-genetics-and-molecular-biology/gabab-receptor-agonists [2017,Dec30]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Progabide [2017,Dec30]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Baclofen [2017,Dec30]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Phenibut#Interactions [2017,Dec30]