กานามัยซิน (Kanamycin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 7 มีนาคม 2564
- Tweet
- บทนำ : คือยาอะไร?
- กานามัยซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- กานามัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- กานามัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- กานามัยซินมีขนาดรับประทานและการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- กานามัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้กานามัยซินอย่างไร?
- กานามัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษากานามัยซินอย่างไร?
- กานามัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- วัณโรค (Tuberculosis)
- ยาอันตราย (Dangerous drug)
- หนองใน (Gonorrhea)
- รูปแบบยาเตรียม (Pharmaceutical Dosage Forms)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
บทนำ : คือยาอะไร?
ยากานามัยซิน (Kanamycin)คือ ยาปฏิชีวนะที่อยู่ในยากลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycoside) มีทั้งชนิดรับประทานและชนิดฉีด ใช้บำบัดรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียได้กว้าง (Broad spectrum antibiotic) โดยออกฤทธิ์ครอบคลุมเชื้อแบคทีเรียแกรมลบที่รวมถึงชนิด Escherichia coli, Proteus, Serratia marcescens และ Klebsiella pneumonia และชื่ออื่นของยาตัวนี้คือ ‘กานามัยซิน เอ (Kanamycin A)’
ยากานามัยซิน สามารถสกัดได้จากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Streptomyces kanamyceticus และพัฒนาเป็นรูปของเกลือซัลเฟต (Sulfate) โดยมีชื่อทางเคมีว่า กานามัยซิน ซัลเฟต (Kana mycin sulfate)
จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยา เมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) ของยานี้พบว่า การดูดซึมของยาจากระบบทางเดินอาหารมีปริมาณต่ำ ร่าง กายต้องใช้เวลา 2.5 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำในการกำจัดปริมาณยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยากานามัยซินลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยระบุเป็นยารักษาวัณโรคและจัดเป็นยาอันตราย ซึ่งสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ทั้งในสถาน พยาบาลของรัฐและเอกชนทั่วไป
กานามัยซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
ยากานามัยซินมีสรรพคุณรักษา/ข้อบ่งใช้:
- ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในลำไส้ที่มีมากเกินไป
- บำบัดรักษาอาการอักเสบติดเชื้อจากแบคทีเรียแกรมลบรวมถึงการติดเชื้อสแตปฟิลโลค็อกคัส (Staphylococcus)
- รักษาการติดเชื้อโกโนเรีย (หนองใน) ที่ดื้อต่อยาเพนิซิลลิน (Penicillin)
- ลดการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียภายในช่องท้องในระหว่างเข้ารับการผ่าตัดช่องท้อง
กานามัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยากานามัยซินคือ ตัวยาจะเข้าจับกับสารพันธุกรรมของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียไม่สามารถสังเคราะห์โปรตีน ส่งผลให้หยุดการเจริญเติบโต หมดสภาพของการแพร่พันธุ์และตายลงในที่สุด
กานามัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยากานามัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาฉีด ขนาด 1 กรัม/ขวด
- ยาแคปซูลสำหรับรับประทาน ขนาด 250 มิลลิกรัม/แคปซูล
กานามัยซินมีขนาดรับประทานและการบริหารยาอย่างไร?
ยากานามัยซิน มีขนาดรับประทานและขนาดการบริหารยา/การใช้ยา เช่น
ก.สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรีย:
- ผู้ใหญ่: ฉีดเข้ากล้ามหรือเข้าหลอดเลือดดำ 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งการฉีดทุก 8 - 12 ชั่วโมงเป็นเวลา 7 - 10 วัน ขนาดสูงสุดของการใช้ยาไม่เกิน 1.5 กรัม/วัน
- เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)อายุน้อยกว่า 7 วันและน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2 กิโลกรัม: ฉีดยาขนาด 15 มิลลิกรัม/น้ำ หนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งการให้ยาทุก 12 ชั่วโมง
- เด็กอายุน้อยกว่า 7 วันและน้ำหนักตัวตั้งแต่ 2 กิโลกรัมขึ้นไป: ฉีดยาขนาด 15 - 20 มิลลิ กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งการให้ยาทุก 12 ชั่วโมง
- เด็กอายุตั้งแต่ 7 วันขึ้นไปจนถึง 1 เดือนและน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2 กิโลกรัมขึ้นไป: ฉีดยา ขนาด 15 - 22.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งการให้ยาทุก 8 ชั่วโมง
- เด็กอายุตั้งแต่ 7 วันขึ้นไปจนถึง 1 เดือนและน้ำหนักตัวตั้งแต่ 2 กิโลกรัมขึ้นไป: ฉีดยา ขนาด 15 - 30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งการให้ยาทุก 8 ชั่วโมง
- เด็กอายุตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป: ฉีดยาขนาด 15 - 30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งการให้ยาทุก 8 - 12 ชั่วโมง
ข.สำหรับยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในลำไส้:
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 1 กรัมทุก 6 - 8 ชั่วโมง
- เด็ก: รับประทาน 12.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุก 6 ชั่วโมง
อนึ่ง: ควรรับประทานยากานามัยซินหลังหรือพร้อมอาหาร
ค. สำหรับลดการปนเปื้อนของแบคทีเรียในช่องท้องหลังเข้ารับการผ่าตัด:
- ผู้ใหญ่: ละลายกานามัยซิน 500 มิลลิกรัมในน้ำกลั่นที่ปราศจากเชื้อ 20 มิลลิลิตร แล้วค่อยๆหยดลงในบริเวณแผลผ่าตัดที่เย็บเรียบร้อยแล้ว
- เด็ก: การใช้ยานี้และขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากานามัยซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยากานามัยซิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือ อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยากานามัยซินสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
กานามัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากานามัยซิน สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น
- อาจพบอาการปวดและอักเสบในบริเวณที่ฉีดยานี้
- มีภาวะไตเป็นพิษ
- กระตุ้นให้เกิดความผิดปกติทางโสตประสาท/หูได้ยินลดลง
- มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง/ไม่มีแรงเฉียบพลัน
*อนึ่ง: สำหรับยานี้ชนิดรับประทานอาจมีผลข้างเคียงอื่นๆอีก เช่น
- สามารถทำให้รู้สึกอาการไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร
- การดูดซึมของยาต่ำเมื่อรับประทานยาร่วมกับอาหาร โดยเฉพาะอาหารกลุ่มที่มีปริมาณไขมันมากๆ
มีข้อควรระวังการใช้กานามัยซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยากานามัยซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีการแพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้ชนิดรับประทานกับผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ (แผลเปบติค)
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีไตทำงานผิดปกติหรือผู้ป่วยโรคต้อหิน (Angle closure glaucoma)
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคไต, ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะขาดน้ำ, ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง, ผู้ที่มีภาวะผิดปกติของโสตประสาท (ประสาทหู), ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน
- ระวังการใช้ยานี้กับทารกแรกคลอด เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากานามัยซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
กานามัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยากานามัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยากานามัยซิน ร่วมกับยา Ampicillin, Benzylpenicillin, และยาปฏิชีวนะในกลุ่มเบต้า-แลคแตม (Beta lactam) จะเกิดการเสริมฤทธิ์ของการต่อต้านแบคทีเรีย แพทย์จึงจะเป็นผู้พิจารณาในการให้ยากับผู้ป่วยตามความเหมาะสม
- การใช้ยากานามัยซิน ร่วมกับ ยาต้านไวรัสบางตัว เช่นยา Adefovir, Tenofovir อาจเกิดความเสี่ยงของไตเป็นพิษ หากต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยากานามัยซิน ร่วมกับ ยาขับปัสสาวะ เช่นยา Furosemide อาจเป็นเหตุให้โสตประสาทเสื่อม หรือไตเป็นพิษ/ไตวาย ซึ่งมักพบได้บ่อยกับกลุ่มผู้ป่วยที่สูงอายุ แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้
- การใช้ยากานามัยซิน ร่วมกับ ยาคลายกล้ามเนื้อ เช่นยา Succinylcholine สามารถทำให้ปริมาณยาคลายกล้ามเนื้อดังกล่าวมีความเข้มข้นในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นจนอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาคลายกล้ามเนื้อติดตามมา หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษากานามัยซินอย่างไร?
ควรเก็บรักษายากานามัยซิน เช่น
- เก็บยากานามัยซินชนิดรับประทานภายใต้อุณหภูมิห้อง
- เก็บยากานามัยซินชนิดฉีดภายใต้อุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาทั้ง 2 ชนิดในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยา(ทั้ง2ชนิด)ในภาชนะที่มิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
- ไม่ควรเก็บยา(ทั้ง2ชนิด)ในห้องน้ำ
- เก็บยา(ทั้ง2ชนิด)ให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
กานามัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยากานามัยซิน มียาชื่อการค้าอื่นๆ และบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Kanamycin ANB (กานามัยซิน เอเอ็นบี) | ANB |
Kanamycin Capsules Meiji (กานามัยซิน แคปซูล เมจิ) | Meiji |
Kanamycin Sulfate General Drugs House (กานามัยซิน ซัลเฟต เจเนอรัล ดรักซ์ เฮาส์) | General Drugs House |
Kanamycin Sulfate Injection Meiji (กานามัยซิน ซัลเฟต อินเจ็กชั่น เมจิ) | Meiji |
Kangen (แคนเกน) | General Drugs House |
K-M-H (เค-เอ็ม-เฮช) | M & H Manufacturing |
Uto-Kanamycin (ยูโท-กานามัยซิน) | Utopian |
บรรณานุกรม
1 https://en.wikipedia.org/wiki/Kanamycin_A [2021,March6]
2 https://www.mims.com/thailand/drug/info/kanamycin?mtype=generic [2021,March6]
3 https://www.drugs.com/dosage/kanamycin.html#Usual_Adult_Dose_for_Bacterial_Infection [2021,March6]
4 https://www.drugs.com/drug-interactions/kanamycin-index.html?filter=3&generic_only= [2021,March6]
5 https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Kanamycin%20Capsules%20Meiji/?type=brief[2021,March6]
6 https://www.mims.com/indonesia/drug/info/Kanamycin%20Capsule%20Meiji/?type=full#Indications [2021,March6]