กัมมันตภาพรังสี กัมมันตรังสี (Radioactivity) สารกัมมันตรังสี สารกัมมันตภาพรังสี (Radioactive substance)

กัมมันตภาพรังสี (Radioactivity) เป็นคำนาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความ หมายว่า คือ การเลื่อมสลายด้วยตนเองของนิวเคลียสของอะตอมที่ไม่เสถียร (ไม่คงที่ แตกสลายตลอดเวลา) เป็นผลให้อนุภาคแอลฟา อนุภาคบีตา รังสีแกมมา ซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟ ฟ้าที่มีช่วงคลื่นสั้นมากและมีพลังงานสูง ทั้งหมดนี้พุ่งออกมาจากอะตอมด้วยความ เร็วสูงมาก ในบางกรณีอาจมีพลังงานความร้อนและพลังงานแสงเกิดตามมาด้วย เช่น การเสื่อมสลายของนิวเคลียสของธาตุเรเดียมไปเป็นธาตุเรดอน

ส่วนกัมมันตรังสี เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง ที่สามารถเกิดกัมมันตภาพรังสีได้ (ใช้กับแร่ธาตุหรือสาร) ซึ่งในการใช้งานทั่วไป มักใช้สลับกันไปมาในความหมายเดียวกัน ระหว่าง กัม มันตภาพรังสี กับ กัมมันตรังสี และสารกัมมันตภาพรังสี กับ สารกัมมันตรังสี ทั้งนี้ กัมมันตภาพ รังสีจะเป็นรังสีในกลุ่ม ไอออนไนซ์ (Ionizing radiation) (อ่านเพิ่มเติมใน รังสีจากการตรวจโรค รังสีเอกซ์ รังสีแกมมา)

ทางการแพทย์ ความหมายทั่วไปของ สารกัมมันตภาพรังสี คือ สารที่สามารถแตกตัวปล่อยรังสีออกจากตัวมันเองได้โดยอัตโนมัติ โดยมีหน่วยที่ใช้เรียกความแรงหรือปริมาณรังสีที่ปล่อยออกมานี้ว่า คิวรี (Curie ย่อว่า Ci) หรือถ้าใช้หน่วยเป็น SI unit (International System of measurements) จะเรียกว่า เบคเควเร (Becquerel ย่อว่า Bq)

จากที่สารกัมมันตภาพรังสี มีการแตกตัวสลายให้พลังงาน ตัวสารเองเมื่อระยะเวลาผ่านไป ความแรงของการสลายตัวจะค่อยๆลดลง จนในที่สุดจะหมดสภาพการเป็นสารกัมมันตรังสี กลับสู่สภาพการเป็นสารปกติธรรมดา ซึ่งระยะเวลาในการสลายตัวของมันนี้ เรียกว่า ระยะครึ่งชีวิต (Half life) ซึ่งจะแตกต่างกันในสารกัมมันตภาพรังสีแต่ละชนิด เช่น สารกัมมันตภาพรังสีไอโอดีน เมื่อระยะเวลาผ่านไปประมาณ 3-4 ระยะครึ่งชีวิต ก็จะเสื่อมสลายกาลายเป็น เกลือไอ โอดีนธรรมดาที่ไม่มีรังสี ที่ใช้เป็นยา เป็นต้น

ทางการแพทย์นำสารกัมมันตภาพรังสีมาใช้ช่วยในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรค โดยอยู่ในหน่วยงานที่เรียกว่า เวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear Medicine) ซึ่งเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง เช่น การตรวจรักษาโรคไทรอยด์โดยยาน้ำแร่รังสีไอโอดีน (กัมมันตภาพรังสีไอโอดีน ) เป็นต้น นอกจากนั้น แพทย์สาขาต่างๆยังนำสารกัมมันตภาพรังสีมาใช้เพื่อการศึกษาวิจัยในด้านต่างๆ เช่น ด้านอาหารและยา เป็นต้น

อนึ่ง นอกจากทางการแพทย์แล้ว สารกัมมันตรังสี ยังมีประโยชน์ในด้านเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ในการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของพืช การฆ่าเชื้อโรคในอาหารและธัญ พืช และการถนอมอาหารให้อยู่ได้นานขึ้น ทั้งอาหารสดและอาหารแห้ง

บรรณานุกรม

  1. What is radioactivity? http://www.hss.energy.gov/healthsafety/ohre/roadmap/achre/intro_9_2.html [2013,May9].