กัดฟัน (ตอนที่ 2)

กัดฟัน-2

      

      การตรวจการนอนหลับ (Polysomnography : PSG) หรือ Sleep Test เป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัย ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ รวมทั้งโรคความผิดปกติจากการหลับอื่น โดยแพทย์จะติดอุปกรณ์ติดตามการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของร่างกายระหว่างหลับ ได้แก่ คลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ การเคลื่อนไหวของลูกตา ความลึกและรูปแบบของการหายใจ เสียงกรนระดับออกซิเจนในเลือด การขยับหรือกระตุกของขา

      รวมถึงการถ่ายวีดีโอขณะผู้ป่วยนอนหลับเพื่อสังเกตท่าทางการนอน และความผิดปกติทางพฤติกรรมที่อาจเกิดขึ้น เช่น การนอนละเมอหรือนอนกัดฟัน โดยผู้ป่วยที่เข้ามารักษาที่ศูนย์นิทราเวช ส่วนใหญ่แล้วหากมีสภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมกับอาการนอนกัดฟัน เมื่อเข้ามารักษาแล้วจะสามารถหลับได้อย่างเต็มอิ่มและมีคุณภาพเพิ่มขึ้น

      สำหรับผู้สงสัยว่าอาการนอนกัดฟันของตนเองอาจเป็นปัจจัยที่มาจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือกำลังประสบกับปัญหาเรื่องการนอน ไม่ว่าจะเป็นนอนหลับยาก มีอาการง่วงนอนทั้งวัน นอนละเมอ นอนกรน หรือฝันร้ายมากจนหลับไม่สนิท อ.พญ.บุษราคัม แนะนำว่าควรมาพบแพทย์เฉพาะทางด้านโรคความผิดปกติจากการหลับ (Sleep Medicine Specialist) เพื่อซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อพิจารณาส่งตรวจการนอนหลับชนิดที่เหมาะสม

      การนอนกัดฟัน (Sleep bruxism / teeth grinding) เป็นภาวะผิดปกติที่เกี่ยวกับการนอน โดยคนที่นอนกัดฟันมักจะมีความผิดปกติในการนอน เช่น นอนกรน และ การหยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea)

      การนอนกัดฟันเพียงเล็กน้อยอาจไม่ต้องรักษา แต่ในคนที่นอนกัดฟันบ่อยและรุนแรงอาจเป็นสาเหตุทำให้ขากรรไกรผิดรูป ปวดศีรษะ ฟันสึก และมีปัญหาอื่นๆ โดยที่ไม่รู้ตัว

      อาการของการนอนกัดฟันอาจได้แก่

  • ขบฟันเสียงดังจนอาจทำให้ผู้ที่นอนข้างๆ ตื่นได้
  • ฟันสึก แตก หรือ หลวม
  • ปวดหรือเสียวฟันมากขึ้น
  • กล้ามเนื้อขากรรไกรตึงหรือล็อคจนไม่สามารถปิดปากได้สนิท
  • ปวดขากรรไกร คอ หรือ ใบหน้า
  • ปวดเหมือนอาการปวดหู แม้ว่าความจริงแล้วหูจะไม่ได้มีปัญหาอะไร
  • มึนศีรษะ (Dull headache) โดยเริ่มจากขมับ
  • รบกวนเวลานอนหลับ (Sleep disruption)

      โดยส่วนใหญ่ การนอนกัดฟันจะไม่ทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงแต่อย่างใด กรณีที่รุนแรงอาจได้แก่

  • ฟันหรือกรามถูกทำลาย
  • ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension-type headaches)
  • ปวดขากรรไกรหรือใบหน้าอย่างรุนแรง
  • มีความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร (Temporomandibular joints = TMJs) ทำให้เกิดเสียงดังขณะที่เปิดและปิดปาก

      

แหล่งข้อมูล:

  1. แพทย์เตือน นอนกัดฟันเรื่องเล็กที่ไม่ควรมองข้าม. https://www.naewna.com/lady/411178 [2019, May 16].
  2. Bruxism (teeth grinding). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/bruxism/symptoms-causes/syc-20356095 [2019, May 16].
  3. Dental Health and Teeth Grinding (Bruxism). https://www.webmd.com/oral-health/guide/teeth-grinding-bruxism#1 [2019, May 16].