กวานฟาซีน (Guanfacine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 มีนาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- กวานฟาซีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- กวานฟาซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- กวานฟาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- กวานฟาซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- กวานฟาซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้กวานฟาซีนอย่างไร?
- กวานฟาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษากวานฟาซีนอย่างไร?
- กวานฟาซีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity disorder: ADHD)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
- โรคตับ (Liver disease)
- โรคไต (Kidney disease)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
บทนำ
ยากวานฟาซีน(Guanfacine หรือ Guanfacine hydrochloride หรือ Guanfacine HCl )เป็นยาประเภทซิมพาโธไลติก(Sympatholytic durg) ที่ใช้รักษา โรคความดันโลหิตสูง อาการโรคสมาธิสั้น ตลอดจนกระทั่งภาวะวิตกกังวล การออกฤทธิ์ของยานี้จะเกิดที่สมองบริเวณตัวรับ(Receptor)ที่มีชื่อว่า Alpha 2A adrenergic receptor ยากวานฟาซีนมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทาน ตัวยาสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้อย่างรวดเร็ว เอนไซม์ในตับที่ชื่อ CYP3A4/5 จะเป็นตัวทำลายโครงสร้างของยาชนิดนี้ ร่างกายอาจต้องใช้เวลาประมาณ 10–30 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ ทางคลินิก เรามักจะพบเห็นการใช้ยากวานฟาซีนเพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูง ด้วยมีคุณสมบัติเป็น Alpha agonist จึงมีฤทธิ์ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง และหลอดเลือดเกิดการขยายตัว ด้วยกลไกดังกล่าว ความดันโลหิตจึงลดลงในที่สุด สำหรับการใช้ยานี้เพื่อรักษาอาการสมาธิสั้น มักจะพบเห็นการใช้กับผู้ป่วยเด็กเท่านั้น
ทั้งนี้ มีข้อจำกัดและข้อควรระวังในการใช้ยากวานฟาซีนที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบมีดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เพื่อเป็นการป้องกันการส่งผ่านยานี้ไปยังทารก
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคไต โรคตับ ซึ่งกลุ่มโรคดังกล่าวอาจทำให้ร่างกายผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยากวานฟาซีนมากขึ้น
- ผู้ป่วยที่มีประวัติ ความดันโลหิตต่ำ วิงเวียน เป็นโรคหัวใจ ผู้ที่มีปัญหาด้านโรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจ ล้วนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบ/ ผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้ยาชนิดนี้ ดังนั้นผู้ป่วย ควรต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาว่า ตนเองมีประวัติป่วยด้วยโรคอะไรบ้าง
- กรณีผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัด แพทย์จะเป็นผู้ควบคุมการสั่งจ่ายยาทุกชนิดให้กับ ผู้ป่วยซึ่งรวมถึงยากวานฟาซีนด้วยเช่นกัน ด้วยยานี้สามารถสร้างผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจและของหลอดเลือด ตลอดจนกระบวนการผ่าตัดของแพทย์
- ยากวานฟาซีนสามารถก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน/ปฏิกิริยาระหว่างยา กับยาหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มยา Barbiturates, Benzodiazepines, Phenothiazines, และ Phenytoin การใช้ยากวานฟาซีนร่วมกับยากลุ่มดังกล่าว จะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยาดังกล่าวเหล่านั้นมากขึ้น
- กรณีรับประทานยากวานฟาซีน แล้วเกิดอาการวิงเวียน ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ และการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อน ด้วยการใช้ยากวานฟาซีนอาจทำให้ร่างกาย ทนต่ออุณหภูมิสูงๆได้ไม่ดีเหมือนปกติ
- ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาลดความดันโลหิตทุกประเภท ควรตรวจสอบความดันโลหิตเป็น ประจำ ทั้งนี้เพื่อเป็นการประเมินผลการใช้ยาว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่
- อาการข้างเคียงที่เกิดจากยากวานฟาซีน เช่น ท้องผูก ง่วงนอน ปากแห้ง ปวดศีรษะ กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงที่รบกวนต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ควรต้องรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- กรณีพบอาการผื่นคัน อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก หรือเกิดอาการบวมตามร่างกาย ให้ตั้งข้อสงสัยว่ามีอาการแพ้ยานี้เกิดขึ้นแล้ว ผู้ป่วยต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที และ รีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
หากผู้บริโภค/ผู้ป่วยมีข้อสงสัยการใช้ยากวานฟาซีน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก แพทย์ หรือเภสัชกร ได้ทั่วไป
กวานฟาซีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยากวานฟาซีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง
- บำบัดอาการโรคสมาธิสั้น
กวานฟาซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ตัวยากวานฟาซีนเป็นยาประเภท Alpha-agonist ที่มีกลไกการออกฤทธิ์ลดการนำกระแสประสาทที่กระตุ้นการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด มีผลทำให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง และหลอดเลือดเกิดการขยายตัว จนเป็นเหตุให้ความดันโลหิตลดลงอย่างเหมาะสม นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า ยากวานฟาซีนมีผลต่อการปรับปรุงความทรงจำรวมถึงการนำส่งกระแสประสาทในสมองทำได้ดีขึ้น จากเหตุผลนี้เอง ทำให้ยานี้มีสรรพคุณบำบัดผู้ป่วยเด็กที่มีอาการสมาธิสั้นได้อีกด้วย
กวานฟาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยากวานฟาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Guanfacine HCl ขนาด 1, 2, 3 และ 4 มิลลิกรัม/เม็ด
กวานฟาซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยากวานฟาซีนมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับรักษาโรคความดันโลหิตสูง:
- ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: รับประทานยา 1 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ก่อนนอน หลังจากใช้ยานี้ไปแล้วประมาณ 3 – 4 สัปดาห์ แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานยาเพิ่มเป็น 2 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 12ปี: การใช้ยานี้ และขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
ข. สำหรับบำบัดอาการสมาธิสั้น(Attention deficit hyperactivity disorder):
- เด็กอายุ 6–17 ปี: รับประทานขนาด 1 มิลลิกรัม วันละ1ครั้งตอนเช้า แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเพิ่ม 1 มิลลิกรัม/สัปดาห์ ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษา คือ 0.05–0.12 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดของเด็กอายุ 6–12 ปี ไม่เกิน 4 มิลลิกรัม/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดของเด็กอายุ 13–17 ปี ไม่เกิน 7 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: การใช้ยานี้ และขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- ควรรับประทานยาตรงตามเวลาเดิมทุกครั้ง
- รับประทานยาตามขนาดที่แพทย์แนะนำ
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตัวเอง
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ กาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวม ยากวานฟาซีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคจิตประสาท/โรคทางจิตเวช รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากวานฟาซีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทาน ยากวานฟาซีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาขนาดปกติ
กวานฟาซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากวานฟาซีน สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น ปากแห้ง ท้องผูกหรือท้องเสีย อาเจียน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร รู้สึกไม่สบายในท้อง
- ต่อระบบประสาท เช่น ง่วงนอน ปวดศีรษะ วิงเวียน เกิดอาการชัก ตัวสั่น ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
- ต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย เช่น น้ำหนักตัวเพิ่ม ตัวบวม
- ต่อสภาพจิตใจ เช่น นอนไม่หลับ ซึม วิตกกังวล ฝันร้าย ประสาทหลอน รู้สึกสับสน
- ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตต่ำหรืออาจสูง หัวใจเต้นช้าหรือไม่ก็เต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชีพจรเต้นผิดปกติ
- ต่อผิวหนัง เช่น เกิดผื่นคัน ผมร่วง
- ต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด หายใจขัด
- ต่อกล้ามเนื้อ เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ขาเป็นตะคริว ปวดขา
- ต่อตา เช่น ตาพร่า
*อนึ่ง ผู้ที่ได้รับยากวานฟาซีนเกินขนาด จะพบอาการ ง่วงนอน หัวใจเต้นช้า หายใจไม่ออก ความดันโลหิตต่ำ จนถึงขั้นโคม่า ซึ่งต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/แกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้กวานฟาซีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยากวานฟาซีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ด้วยจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยานี้ที่รุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง และต้องใช้ยาตามขนาดรับประทานที่แพทย์แนะนำ
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยน
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์ตรวจร่างกาย ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยากวานฟาซีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
กวานฟาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยากวานฟาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยากวานฟาซีนร่วมกับ ยาPhenytoin ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพ การรักษาของยากวานฟาซีนด้อยลง
- ห้ามใช้ยากวานฟาซีนร่วมกับ กลุ่มยา Barbiturates ด้วยยากวานฟาซีนจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากกลุ่มยาBarbiturates มากขึ้น
- การใช้ยากวานฟาซีนร่วมกับยา Amprenavir, Boceprevia, Clarithromycin อาจทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยากวานฟาซีนร่วมกับยา Efavirenz จะทำให้ระดับยากวานฟาซีนในร่างกาย ลดต่ำลงจนลดประสิทธิภาพการรักษา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษากวานฟาซีนอย่างไร?
ควรเก็บยากวานฟาซีนร่วมภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์ และเก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
กวานฟาซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยากวานฟาซีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
INTUNIV XR (อินทูนิฟ เอกซ์อาร์) | Shire Pharma Canada ULC |
Tenex (ทีเนกซ์) | PATHEON, Puerto Rico, Inc. |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Estulic
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/cdi/guanfacine.html [2018,March3]
- https://www.drugs.com/dosage/guanfacine.html [2018,March3]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/guanfacine/?type=brief&mtype=generic [2018,March3]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2013/019032s021lbl.pdf [2018,March3]
- http://cdn.neiglobal.com/content/pg/live/guanfacine.pdf [2018,March3]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Guanfacine [2018,March3]