กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก: กายภาพบำบัด (Physical therapy for Bell’s Palsy)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีกคืออะไร?

โรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก หรือโรคอัมพาตเบลล์ (Bell’s Palsy) ถูกตั้งชื่อตามนายแพทย์ Charles Bell ผู้อธิบายถึงสาเหตุและลักษณะของอาการนี้เป็นคนแรกตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โดยมีอาการสำคัญคือ มีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าครึ่งซีก ทำให้ใบหน้าข้างนั้นไม่สามารถ ยักคิ้ว ขยับมุมปาก และหลับตาได้ ซึ่งอาจเกิดจากการอักเสบหรือติดเชื้อของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ส่วนมากเกิดอย่างเฉียบพลัน และไม่ทราบสาเหตุ โดยทั่วไปเชื่อว่าสัมพันธ์กับเชื้อเริม งูสวัด การตั้งครรภ์ และโรคเบาหวาน และสามารถเกิดซ้ำได้ทั้งใบหน้าด้านตรงข้ามและด้านเดิม

อาการของโรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีกมีอะไรบ้าง?

กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก

อาการของโรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีกโดยทั่วไป มักพบว่า ผู้ป่วยมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งอย่างเฉียบพลัน มักเกิดภายในไม่กี่ชั่วโมง หรือหลังตื่นนอน (ผู้ป่วยมักมีประวัติพักผ่อนน้อย) โดยรอยย่นด้านข้างจมูกด้านที่เกิดอาการจะหายไป รวมถึงอาการผิดปกติต่างๆที่เกิดกับใบหน้าด้านนั้น เช่น หลับตาไม่สนิท คิ้วตก มุมปากตก น้ำลายไหลที่มุมปาก นอกจากนี้ยังพบว่า ส่วนมากมีอาการหูอื้อ ปวดหู กล้ามเนื้อหน้ากระตุก น้ำตาไหลตลอดเวลาในข้างที่มีกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงอีกด้วย และอาการอื่นๆที่อาจพบร่วมด้วยได้ เช่น อาการลิ้นชาทำให้พูดไม่ชัด รับรู้รสของอาหารน้อยลง และกลืนลำบาก ซึ่งอาการเหล่านี้ก็พอมีให้พบได้ในผู้ป่วยบางรายด้วย

ทั้งนี้ อาการที่พบได้บ่อยของโรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก คือ

1. มีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งอย่างฉับพลัน หรืออาจจะเกิดพร้อมกันทั้ง 2 ข้างได้แต่พบได้น้อยกว่าการเกิดข้างเดียว ความรุนแรงของการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้า พบได้ทั้ง ตั้งแต่อ่อนแรงจนไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อเพื่อแสดงสีหน้าได้เลย หรืออาจอ่อนแรงเพียงเล้กน้อย เช่น ปิดเปลือกตา/หนังตาได้แต่ไม่สนิท มุมปากตกเล็กน้อย ซึ่งส่งผลให้เวลาดื่มน้ำจะมีน้ำไหลออกมาที่มุมปากด้านที่กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยจะมีอาการคล้ายกับการอ่อนแรงของโรคอัมพาตครึ่งซีกทั้งร่างกาย (Stroke) แต่กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีกหรือ Bell’s Palsy นั้นจะมีการอ่อนแรงพบได้แต่ที่เฉพาะบริเวณใบหน้าเท่านั้น

2. ในบางราย ผู้ป่วยอาจมีอาการผิดปกติทางหูในข้างที่มีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้า เช่น หูอื้อ หูไม่ได้ยิน/หูดับ หรือ การได้ยินน้อยลง

3. อาจมีอาการปวดบริเวณกกหู หรือที่บริเวณใกล้เคียงกับโหนกแก้ม หรือทั้งครึ่งใบหน้าด้านที่อ่อนแรงได้ ทั้งนี้ระดับความรุนแรงของอาการปวดจะไม่ขึ้นกับความรุนแรงของการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้า และผู้ป่วยบางราย อาจไม่พบอาการปวดนี้

4. อาจมีความอ่อนแรงของกล้ามเนื้อลิ้นร่วมด้วย ซึ่งทำให้พูดไม่ชัดที่อาจเป็นเพียงเป็นบางคำ หรือทุกคำ นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางรายอาจพบความผิดปกติของการรับรู้รสชาติอาหาร รู้สึกลิ้นชา น้ำลายไหลมากหรือไหลน้อยผิดปกติ และถ้ามีอาการอ่อนแรงของลิ้นมาก อาจทำให้มีความยากลำบากในการกลืนอาหารด้วย เช่น กลืนลำบาก หรือสำลักอาหาร/น้ำดื่มง่าย

5. อาการอื่นๆที่พบได้น้อยกว่าอาการในทั้ง 4 ข้อที่ได้กล่าวแล้ว เช่น ตาข้างที่มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้า จะมีน้ำตาไหลตลอดเวลา ใบหน้าข้างที่อ่อนแรงมีการเกร็งหรือกระตุกบ่อยครั้ง

การวินิจฉัยทางกายภาพบำบัดของกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีกทำได้อย่างไร?

โดยมากผู้ป่วยกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก มักมาพบแพทย์ด้านระบบประสาท หรือแพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู ก่อนมาพบนักกายภาพบำบัด อีกทั้งผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการวินิจฉัยด้วยการตรวจการทำงานของเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า/การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ(Electromyography,EMG) ดังนั้นการวินิจฉัยทางกายภาพบำบัดจึงจะมุ่งเน้นไปที่ การซักประวัติ/การสอบถามประวัติที่จะเกี่ยวข้องกับด้านการทำกายภาพบำบัด/กายภาพฯ การตรวจกำลังของกล้ามเนื้อใบหน้า การตรวจการรับความรู้สึกของผิวหนังใบหน้า และความสามารถในการแสดงสีหน้าในชีวิตประจำวัน โดยใช้แบบประเมินต่างๆทางด้านกายภาพฯ เพื่อวางแผนการรักษา และให้การรักษาทางกายภาพบำบัดอย่างเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้หากผู้ป่วยมีปัญหาด้านการกลืนร่วมด้วยมาก อาจต้องส่งต่อผู้ป่วยเพื่อไปปรึกษานักกิจกรรมบำบัดต่อไปด้วย

โดยรายละเอียดของการวินิจฉัยทางกายภาพบำบัดคร่าวๆ มีดังนี้

1. การซักประวัติ: ทำโดยการซักถามข้อมูลจากผู้ป่วย เพื่อระบุสาเหตุความเป็นไปได้ของอาการอ่อนแรง การคัดกรองซ้ำเพื่อระบุว่าไม่ได้มีอาการอ่อนแรงของร่างกายส่วนอื่นๆ ประเมินความยากลำบากในการกลืนและในการรับประทานอาหาร และการซักถามถึง ข้อห้าม ข้อควรระวังต่างในการทำกายภาพฯ เช่น โรคประจำตัว หรือโรคติดเชื้อทางการสัมผัสเช่น เริม งูสวัด

2. การตรวจกำลังของกล้ามเนื้อในหน้ามัดต่างๆ เริ่มจากการสังเกตอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าแต่ละมัดกล้ามเนื้อ จากนั้นอาจเริ่มให้ผู้ป่วยมีการพยายามขยับใบหน้า ทำสีหน้าตามคำสั่งของนักกายภาพฯ และใช้มือของนักกายภาพบำบัดประเมิณกำลังของกล้ามเนื้อมัดต่างๆบนใบหน้า(Mannual facial muscle testing)ผู้ป่วย การตรวจการรับความรู้สึกของใบหน้านั้น นักกายภาพบำบัดอาจให้ผู้ป่วยหลับตาแล้วใช้มือ หรือ สำลี หรือวัสดุปลายแหลม ทดสอบบริเวณใบหน้าข้างที่มีอากาารอ่อนแรง การตรวจนี้ก็เพื่อทดสอบการทำงานของเส้นประรับความรู้สึกของหน้า ซึ่งก็ คือ เส้นประสาท สมองคู่ที่ 5 (CN V; Trigeminal nerve) เพื่อรับทราบถึงปัญหาของการรับความรู้สึก เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการระมัดระวังขณะนักกายภาพฯให้การรักษา เพราะบางวิธีรักษาจำเป็นต้องใช้ อุณหภูมิ เช่น ความร้อน ความเย็น การใช้แรงต้าน และการสัมผัสผิวหน้าซีกที่อ่อนแรงด้วย

3. การตรวจความสามารถในการแสดงสีหน้าในชีวิตประจำวัน โดยมากนิยมใช้แบบประเมิณที่ชื่อว่า House-Brackmann Facial Nerve Grading System (การตรวจความรุนแรงของอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง)ที่ประเมิณความรุนแรงของอาการ/การแสดงสีหน้าจากการสังเกตของนักกายภาพฯ การขอให้ผู้ป่วยแสดงสีหน้าต่างๆ การคลำใบหน้า และการให้แรงต้านจากมือนักกายภาพฯต่อกล้ามเนื้อใบหน้าบางมัด โดยการตรวจใช้เวลาสั้น ๆ ประมาณ 5 นาที ซึ่งผลการประเมิณแบ่งเป็น 6 ระดับตามความรุนแรงของอาการอ่อนแรง ผลของการประเมิณนี้ มีประโยชน์ในแง่ของการประเมิณผลของการรักษา โดยเมื่อให้การรักษาไปสักระยะหนึ่ง จะมีการประเมิณอาการเหล่านี้ซ้ำ เพื่อการพยากรณ์โรค/การพยากรณ์แนวโน้มของอาการว่า ดีขึ้นมาน้อยเพียงไร

การฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดมีอะไรบ้าง?

การฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดในโรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีกที่นำมาใช้รักษาบ่อย ได้แก่

1. การกระตุ้นไฟฟ้าเพื่อรักษาสภาพของกล้ามเนื้อใบหน้า (Electrical Stimulation) โดยชนิดของไฟฟ้า และความเข้มของกระแสไฟฟ้าที่เลือกใช้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ส่วนมากนิยมใช้ไฟฟ้าชนิด Interrupted Direct Current (IDC) และ Faradic โดยนักกายภาพมักให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าทางที่ผ่อนคลาย เช่น นอนหงาย จากนั้นเริ่มเช็ดทำความสะอาดหน้าด้วยแอลกอฮอล์ หรือ น้ำอุ่น ก่อนจะใช้ตั้วกระตุ้นไฟฟ้าขนาดประมาณเท่าด้ามปากกา กระตุ้นไปยังจุดที่แขนงประสาทสมองคู่ที่ 7 แทงออกมาเลี้ยงกล้ามเนื้อใบหน้ามัดที่อ่อนแรงนั้นๆ(Motor point) โดยกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงแต่ละมัดจะถูกกระตุ้นให้กระตุก 30-100 ครั้ง แล้วแต่ความรุนแรงของอาการ ขณะให้การรักษาวิธีนี้ ผู้ป่วยจะรู้สึกว่ากล้ามเนื้อมัดนั้นๆกระตุกเป็นจังหวะ ให้ผู้ป่วยพยายามออกแรงขยับกล้ามเนื้อนั้นๆตามจังหวะกระตุกนั้นร่วมด้วย ซึ่งระหว่างรักษา ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บเบาๆ แต่ถ้ามีอาการ แสบ คัน หรือเจ็บจนทนไม่ไหว ต้องรีบแจ้งนักกายภาพบำบัดทันที โดยทั่วไป ระยะเวลาการกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้านี้ จะใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที ต่อครั้ง ซึ่งนักกายภาพฯอาจแนะนำให้ทำ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ แล้วแต่ความรุนแรงของการอ่อนแรงจนผลการกระตุ้นน่าพอใจ การกระตุ้นด้วยไฟฟ้านี้จะทำให้กล้ามเนื้อที่อ่อนแรงได้ทำงาน และชะลอการฝ่อลีบจากการไม่ได้ใช้งานลงในกล้ามเนื้อที่ไม่สามารถขยับได้เลย เพื่อรอการฟื้นฟูของแขนงประสาทที่มาเลี้้ยงกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ และเพื่อช่วยเพิ่มความแข็งให้กับกล้ามเนื้อมัดที่พอขยับได้บ้างด้วย หลังการกระตุ้นไฟฟ้าอาจพบรอยแดงเล็กๆ บริเวณที่วางขั้วกระตุ้นไฟฟ้า ซึ่งรอยนี้จะหายไปเองภายในไม่กี่ชั่วโมง

ข้อห้ามและข้อควรระวังของการรักษาวิธีนี้ คือ ในผู้ป่วยที่มีการอักเสบของผิวหนังมากๆ มีแผลเปิด มีการรับความรู้สึกลดลง และ มีการติดเชื้อที่แพร่ได้ด้วยการสัมผัสที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อได้

2. กระตุ้นกล้ามเนื้อใบหน้าด้วยการสัมผัส (Tactile stimuli) หรือด้วยอุณหภูมิต่ำๆ เช่น ความเย็นจากน้ำแข็ง (Cold stimuli) ซึ่งการกระตุ้นโดยวิธีการสัมผัสนี้ นักกายภาพบำบัดอาจจะใช้มือสัมผัสเพื่อให้การกระตุ้นด้วยวิธีต่างๆ(Sensory input) เช่น การเขี่ยเบาๆที่กล้ามเนื้อมัดที่อ่อนแรง(Traping)เพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อมัดนั้นมีการเคลื่อนไหว พร้อมกับให้ผู้ป่วยพยามๆออกแรงทำการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมัดนั้นไปพร้อมๆกันด้วย โดยอาจทำวิธีนี้กับกล้ามเนื้อแต่ละมัดนั้นๆ 10-30 ครั้ง ขึ้นกับความรุนแรงของการอ่อนแรง ส่วนการกระตุ้นกล้ามเนื้อใบหน้าด้วยอุณหภูมิต่ำๆ(Cold stimuli) อาจใช้น้ำแข็งกดไปที่ Motorpoint ของกล้ามเนื้อแต่ละมัดที่อ่อนแรง 3-5 นาที ไปเรื่อยๆจนครบทุกมัด หรือใช้น้ำแข็งลูบแบบเร็วๆไปตลอดความยาวของกล้ามเนื้อมัดที่อ่อนแรงในทิศทางที่กระตุ้นให้เกิดการหดตัว มัดละ 10-30 ครั้ง ขึ้นกับความรุนแรงของการอ่อนแรงเช่นกัน การกระตุ้นแบบนี้ ก็เพื่อให้กล้ามเนื้อแต่ละมัดนั้นๆมีการหดตัวเพื่อชะลอการฝ่อนลีบ และเพื่อเพิ่มความตึงตัว (Tone) ของกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงด้วย โดยอาจแนะนำให้มาพบนักกายภาพบำบัดเพื่อกระตุ้นแบบนี้ควบคู่ไปกับการกระตุ้นไฟฟ้าสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง จนกว่าอาการจะดีขึ้นจนน่าพอใจ และแนะนำให้ไป ทำเองต่อที่บ้านได้

การกระตุ้นด้วยวิธีนี้ ต้องระวังเป็นพิเศษในผู้ป่วยรายที่มีความบกพร่องของการรับรู้ความรู้สึก เพราะผิวหนังที่สัมผัสน้ำแข็งอาจจะะถูกน้ำแข็งกัดได้ (Frostbite) นอกจากนั้น ข้อห้ามและข้อควรระวัง จะเหมือนกับ การกระตุ้นไฟฟ้า ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ การกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า

3.การประคบด้วยความร้อน (Heat therapy): นอกจากเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดแล้ว ยังช่วยให้เกิดการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อใบหน้าด้วย โดยลักษณะจะเป็นแผ่นประคบร้อน (Heat pack) ที่ทำให้อุณหภูมิของเนื้อเยื่อเปลี่ยนไปเป็นประมาณ 40-45 องศาเซลเซียล(Celsius)จากอุณหภูมิปกติประมาณ 37 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ใช้ในการรักษา ทั้งนี้จะห่อแผ่นประคบด้วยผ้าขนหนู และใช้ระยะเวลาประคบ 15-20 นาที ประคบบริณใบหน้าซีกที่อ่อนแรง นักกายภาพบำบัดยังมักแนะนำให้ผู้ป่วยประคบร้อนที่บ้านวันละ1-2ครั้งด้วย ข้อห้ามและข้อควรระวังเหมือนกับการฟื้นฟูด้วยกระกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ การกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า

4. การออกกำลังกล้ามเนื้อใบหน้าด้วยเทคนิคต่างๆให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน (Individual exercise therapy): หลังจากการประเมิณการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้ามัดต่างๆล้ว นักกายภาพจะให้การรักษาด้วยการออกกำลังกล้ามเนื้อแต่ละมัดตามความสามารถในการทำงานของกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ ซึ่งการออกกำลังกล้ามเนื้อนี้ เป็นวิธีการที่สำคัญที่สุด เพราะจะช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อให้ทำงาน ชะลอการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อใบหน้าที่อ่อนแรง เพื่อรอการฟื้นฟูของแขนงเส้นประสาทที่ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เช่น ถ้ากล้ามเนื้อที่ใช้เลิกคิ้วมีการอ่อนแรง อาจให้ผู้ป่วยพยายามเลิกคิ้วทั้งสองข้างขึ้นลง โดยข้างที่อ่อนแรงจะถูกเขี่ยเพื่อกระตุ้นให้ทำงานเพิ่มขึ้นเบาๆ ส่วนข้างที่ปกตินั้นจะเกิดแรงต้านร่วมไปด้วย (Kabat method of exercise) ซึ่งให้ทำแต่ละมัด 10-30 ครั้ง ทำซ้ำกับกล้ามเนื้ออื่นๆ และแนะนำให้กลับไปทำเองที่บ้านด้วยในทุกวัน วันละ1-2 รอบ

5. การฝึกให้กล้ามเนื้อใบหน้ากลับมาทำงานได้เหมือนเดิมในชีวิตประจำวัน (Facial expression training) ในกรณีที่มีการทำงานของกล้ามเนื้อใบหน้าบกพร่องจนทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ นักกายภาพบำบัดจะออกแบบการออกกำลัง กล้ามเนื้อให้เหมาะสมกับอาการนั้นๆ ให้ผู้ป่วยกลับไปฝึกด้วยตัวเองที่บ้านทุกวัน วันละ 1-3 ครั้ง เช่น ถ้าไม่สามรถดูน้ำจากหลอดดูดได้ ก็จะให้ฝึกดูดน้ำจากหลอดดูด หรือฝึกกลั้วปากด้วยน้ำโดยพยายามไม่ให้น้ำไหลออกทางมุมปากข้างที่อ่อนแรง

6. ให้ความรู้และคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่ออยู่ที่บ้าน รวมถึงให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาการต่างๆ(Education and home program) โดยมากผู้ป่วยมักมีความกังวลสูงเพราะไม่สามารถแสดงสีหน้าได้ตามเดิม ซึ่งส่งผลต่อบุคลิกภาพเป็นอย่างมาก นักกายภาพบำบัดมักสนับสนุนให้ผู้ป่วยออกไปใช้ชีวิตตามปกติ ให้ความเข้าใจว่า อาการผิดปกติต่างๆที่เกิดขึ้น สามารถทุเลาลงหรือกลับมาเป็นปกติได้ ที่สำคัญคือ ควรออกกำลังกล้ามเนื้อใบหน้าที่บ้านตามคำแนะนำของนักกายภาพฯอย่างสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกล้ามเนื้อ ก็เหมือนกับการทานยา คือ ต้องเคร่งครัด สม่ำเสมอ และปริมาณต้องถูกต้อง โดยจะได้กล่าวในเรื่องเหล่านี้ต่อไป ในหัวข้อ “การฟื้นฟูและดูแลตนเองที่บ้าน”

การฟื้นฟูและดูแลตนเองที่บ้านทำได้อย่างไรบ้าง?

การฟื้นฟูและการดูแลตนเองที่บ้านเมื่อเกิดโรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก ที่สำคัญ ได้แก่

1. การนวดกล้ามเนื้อ(Massage)ใบหน้าเบาๆในซีกที่มีอาการอ่อนแรง โดยใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางคลึงเป็นวงกลมเบาๆไล่จากหน้าผาก ผ่านแก้ม ลงไปจนถึงใต้คาง อาจใช้แป้งหรือเบบี้ออย(Baby oil) ทาลงบนปลายนิ้วก่อนเพื่อลดแรงเสียดทาน และทำให้ลูบใบหน้าได้นุ่มนวลขึ้น การนวดนี้ จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดได้ โดยควรทำติดต่อ กันนานประมาณ 10 นาที เช้าและเย็น

2. การออกกำลังกล้ามเนื้อใบหน้า หน้ากระจก(Facial muscle exercise with visual biofeedback): มักจะแนะนำให้ทำต่อเนื่องหลังจากการนวดกล้ามเนื้อใบหน้าแล้วเสร็จ โดยให้ผู้ป่วยนั่งหน้ากระจกในท่าที่สบาย พยายามเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อใบหน้าทั้งสองฝั่งให้เท่ากัน โดยสังเกตผ่านกระจก ซึ่งท่าต่างๆที่ใช้ออกกำลังกล้ามเนื้อใบหน้า ได้แก่

  • ยักคิ้ว
  • ขมวดคิ้ว
  • หลับตาปี๋
  • ย่นจมูก
  • ทำปากจู๋
  • ยิ้มยิงฟัน
  • ยิ้มไม่เห็นฟัน
  • แสยะยิ้ม
  • ทำแก้มป่อง (โดยที่ไม่มีลมลอดออกมาจากริมฝีปาก

อนึ่ง ถ้ากล้ามเนื้อข้างที่อ่อนแรงนั้นอ่อนแรงมากจนไม่สามารถทำท่าต่างๆข้างต้นได้ ให้พยายามทำต่อไป และใช้มือข้างเดียวกันลูบซ้ำๆ เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อนั้นๆไปด้วย โดยทำในทิศทางช่วยการเคลื่อนไหวนั้นๆ เช่นหากยักคิ้วข้างซ้ายไม่ขึ้นในขณะที่กำลังออกแรงยักคิ้วทั้งสองข้างขึ้น ให้ใช้มือซ้ายลูบซ้ำๆจากคิ้วไปถึงหน้าผาก ก็จะเริ่มสังเกตเห็นการหดตัวของกล้ามเนื้อ หรือการขยับของคิ้วขึ้นไปทางด้านบนทีละนิด โดยการออกกำลังนี้ ควรทำอย่างน้อยวันละ 30 ครั้งต่อท่า

3. ในบางรายที่มีอาการน้ำลายไหล ให้ฝึกโดยการอมอากาศไว้ในปาก แล้วย้ายสลับไปมาที่กระพุ้งแก้มทั้ง 2 ข้าง เมื่อทำได้ดีแล้ว อาจเพิ่มความยากด้วยการเปลี่ยนเป็นอมน้ำแล้วย้ายสลับไปมาดังเดิมจนไม่มีน้ำเล็ดออกมาที่มุมปาก

4. ในรายที่มีการหลับตาไม่สนิท แนะนำให้สวมแว่นกันแดดระหว่างวัน เพื่อป้องกันลูกตาจาก ฝุ่นละออง และลม ส่วนเวลานอน แนะนำให้ใช้ผ้าปิดตาเพื่อให้นอนหลับได้ และถ้าตาแห้งมาก แนะนำให้พบจักษุแพทย์ เช่น เพื่อปรึกษาเรื่องการใช้ น้ำตาเทียม

5. ประคบร้อน: โดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น บิดให้มาด และประคบหน้าด้านที่อ่อนแรง ครั้งละ 15-20นาที วันละ1-2ครั้ง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในหัวข้อ “ประคบร้อนฯ”

6. นอกจากการทำกายภาพบำบัดด้วยตนเองที่บ้านแล้ว ผู้ป่วยควรต้องพักผ่อนอย่างเพียงพอ รับประทานยาต่างๆตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด รวมถึงมาพบนักกายภาพอย่างสม่ำเสมอตามนัด เพื่อประเมินอาการและปรับเปลี่ยนการรักษาให้เหมาะสมกับอาการผู้ป่วย

บรรณานุกรม

  1. Bell, C. An exposition of the natural system of nerves of the human body. Spottiswoode, London 1824.
  2. Bell, C. The nervous system of the human body. London: Longman, 1830.
  3. James, DG. All that palsies is not Bell's. J R Soc Med 1996; 89:184.
  4. Adour, KK, Bell, DN, Hilsinger, RL. Herpes simplex virus in idiopathic facial paralysis (Bell's palsy). JAMA 1975; 233:527.
  5. Hilsinger, RL Jr, Adour, KK, Doty, HE. Idiopathic facial paralysis, pregnancy, and the menstrual cycle. Ann Otol Rhinol Laryngol 1975; 84:433.
  6. Adour, KK, Byl, FM, Hilsinger, RL Jr, et al. The true nature of Bell's palsy: analysis of 1,000 consecutie patients. Laryngoscope 1978; 88:787.
  7. May, M. The Facial Nerve. Thieme, New York, 1986
  8. Teixeira LJ, Valbuza JS, Prado GF. Physical therapy for Bell’s palsy (idiopathic facial paralysis). n The Cochrane Library 2012; 45:68.