กล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลันแบบปวกเปียก (Acute flaccid paralysis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

อาการอ่อนแรงในเด็กนั้น เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้บ่อย แล้วก็สังเกตได้ยากกว่าในผู้ใหญ่ สาเหตุก็มีหลากหลาย ยากแก่การวินิจฉัยและให้การรักษา เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ส่งผลให้พ่อแม่/ ญาติของเด็กนั้นเกิดความทุกข์ทรมานใจ ถึงแม้ว่าหลายต่อหลายโรคจะมีวัคซีนป้องกันไม่ให้เกิด แต่ก็ยังพบว่า มีเด็กในหลายประเทศเกิด ‘โรค/อาการ/ภาวะ กล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลันแบบปวกเปียก (Acute flaccid paralysis ย่อว่า AFP)’ วันนี้ผมมาชวนคุยเกี่ยวกับโรค AFP ดีกว่า เพราะเป็นโรคหนึ่งที่สามารถป้องกันได้

อนึ่ง บางท่านเรียกโรคนี้ว่า ‘กล้ามเนื้ออัมพาตอ่อนปวกเปียกแบบเฉียบพลัน’ หรือ ‘กล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกเฉียบพลัน’

 

กล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลันแบบปวกเปียกคืออะไร?

กล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลันแบบปวกเปียก

ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลันแบบปวกเปียก (Acute flaccid paralysis : AFP) คือ อาการอ่อนแรงที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันกับกล้ามเนื้อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายในเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี

 

กล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลันแบบปวกเปียกมีสาเหตุจากอะไรได้บ้าง?

ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลันแบบปวกเปียก/AFP นั้นมีสาเหตุหลากหลายมาก แต่โดยวัตถุประสงค์หลักของการใช้นิยามของภาวะ AFP นี้ มุ่งให้ใช้เพื่อการเฝ้าระวังโรคโปลิโอเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตามมีภาวะ/โรคที่มีลักษณะคล้ายกันได้ดังต่อไปนี้

1. โรคของเส้นประสาท ได้แก่

  • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง จี บี เอส (Guillain Barre syndrome)
  • โรคของเส้นประสาทส่วนปลายจากสาเหตุ การติดเชื้อ การอักเสบ ภูมิคุ้มกันผิดปกติ สารพิษ

2. โรคของกล้ามเนื้อ ได้แก่

  • การอักเสบของกล้ามเนื้อ เช่นโรค Polymyositis, Dermatomyositis
  • ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
  • การติดเชื้อ
  • ความผิดปกติของเกลือแร่(Electrolyte)
  • ผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์

3. โรคของเซลล์ไขสันหลังส่วนหน้า (Anterior horn cell) ได้แก่

  • โรคโปลิโอ
  • โรคที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ
  • โรคที่อาจมีความสัมพันธ์กับวัคซีนที่ผู้ป่วยได้รับ

4. โรคทางระบบอื่นๆ นอกเหนือจากระบบประสาท ได้แก่

  • Acute porphyrias
  • ภาวะเส้นประสาทผิดปกติเหตุเจ็บป่วยหนัก (Critical illness neuropathy)
  • ภาวะกล้ามเนื้อผิดปกติเหตุเจ็บป่วยหนัก (Acute myopathy in ICU patients)

5. โรคของไขสันหลัง ได้แก่

  • เนื้องอก /มะเร็งกดทับไขสันหลัง
  • ไขสันหลังอักเสบ
  • อุบัติเหตุที่ไขสันหลัง
  • ภาวะติดเชื้อที่ไขสันหลัง
  • ภาวะไขสันหลังขาดเลือด หรือเลือดออก

6. โรคของตำแหน่งรอยต่อระหว่างกล้ามเนื้อและประสาทส่วนปลาย (Neuromuscular junction ย่อว่า NMJ) ได้แก่

  • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็ม จี (Myasthenia gravis : MG)
  • โรคพิษโบทูไลนุ่ม (Botulism)
  • การได้รับพิษ งูเห่า งูจงอาง กัด

 

กล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลันแบบปวกเปียกพบได้บ่อยหรือไม่?

ข้อมูลของประเทศไทยพบภาวะ/โรค AFP นี้ได้ประมาณ 0.18 รายต่อประชากร1แสนคน พบเพศชายได้บ่อยกว่าเพศหญิงเล็กน้อย

 

กล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลันแบบปวกเปียกมีอาการผิดปกติอะไรบ้าง?

ผู้ป่วยโรค AFP นี้ จะเริ่มมีอาการคล้ายกับเป็นโรคหวัด นำมาก่อนได้นานหลายวัน อาจถึง 10 วัน อาการที่พบบ่อยได้แก่

  • มีไข้
  • ปวดเมื่อย
  • เจ็บคอ
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดหลัง
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ปวดต้นคอ
  • แล้วตามมาด้วยอาการ
    • ปวดกล้ามเนื้อรุนแรง
    • กล้ามเนื้ออ่อนแรงแบบปวกเปียก คือ ไม่มีความตึงตัวของกล้ามเนื้อ และ
    • ตรวจพบ รีเฟล็กซ์ ลดลง

 

ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์เมื่อใด?

ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตั้งแต่ที่

  • มีไข้นานมากกว่า 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือ
  • เมื่อเริ่มมีอาการปวดกล้ามเนื้อมาก ไม่ตอบสนองต่อการทานยาแก้ปวด

*ทั้งนี้ ไม่ควรรอจนอาการเป็นมาก เพราะจะล่าช้าเกินไป

 

ผู้ป่วยควรพบแพทย์ที่คลินิกหรือที่โรงพยาบาล?

กรณีมีอาการไข้ ไม่มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ก็สามารถพบแพทย์ที่คลินิกได้ แต่ถ้ามีอาการอ่อนแรงฯแล้ว ควรพบแพทย์ที่โรงพยาบาลจะเหมาะสมกว่า

 

แพทย์ให้การวินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลันแบบปวกเปียกอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะ/โรคAFP จากลักษณะทางคลินิก คืออาการผิดปกติข้างต้นของผู้ป่วยว่าเข้าได้กับภาวะ AFP หรือไม่ และมีสาเหตุอื่นๆ ที่อาจมีลักษณะที่คล้ายกันหรือไม่ โดยการตัดสาเหตุอื่นๆออก ร่วมกับประวัติการได้รับวัคซีนต่างๆครบถ้วนในช่วงอายุต่างๆ หรือไม่ แล้วทำการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการต่างๆ เพื่อทำการยืนยันว่าเป็นโรค AFP หรือไม่

ทั้งนี้ การตรวจเพิ่มเติม ได้แก่

  • การตรวจหาการติดเชื้อในช่องคอ (Throat swap) และในอุจจาระ
  • การตรวจเอมอาร์ไอของไขสันหลังในกรณีที่มีลักษณะทางคลินิกของสาเหตุอื่นๆ แล้วจำเป็นต้องทำการวินิจฉัยแยกโรคนั้นออก
  • การตรวจน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (CSF)โดยการเจาะหลัง (Lumbar puncture) ซึ่งจะพบความผิดปกติของน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง คือ พบมีจำนวนเม็ดเลือดขาวสูงขึ้น มีระดับโปรตีนสูงขึ้นเล็กน้อย และมีระดับน้ำตาลไม่ลดต่ำลง

 

ใครมีโอกาสเกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลันแบบปวกเปียกได้สูง?

ผู้มีโอกาสสูงที่จะเกิด โรค AFP สูง ได้แก่

  • ผู้ซึ่งไม่ได้รับวัคซีนต่างๆครบตามกำหนด โดยเฉพาะวัคซีนโปลิโอ
  • โรคพบบ่อยใน 2 ช่วงอายุ คือ 7-9 ปี และ 10-14 ปี

 

การรักษากล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลันแบบปวกเปียกทำอย่างไร?

การรักษาที่สำคัญในโรคAFP คือ

  • การประเมินความรุนแรงของอาการว่ามีปัญหาด้านการหายใจล้มเหลวหรือไม่ ถ้ามี ก็ต้องรีบรักษาด้วยการใส่ท่อและเครื่องช่วยหายใจ
  • การแก้ไขอาการปวด
  • การทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง

 

ผลการรักษากล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลันแบบปวกเปียกเป็นอย่างไร?

การรักษาส่วนใหญ่ในโรคAFP จะได้ผลดี อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ต้องรักษาต่อเนื่องด้วยการทำกายภาพบำบัดเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน และการฟื้นฟูสภาพกล้ามเนื้อ

 

กล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลันแบบปวกเปียกก่อภาวะแทรกซ้อนอะไรได้บ้าง?

ภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)ที่พบได้จากโรค AFP ได้แก่

  • ภาวะหายใจล้มเหลว
  • อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ เช่น แขน ขา กล้ามเนื้อหายใจ ที่ก่อให้เกิดความพิการ กล้ามเนื้อลีบ กระดูกผิดรูป และ อาจเสียชีวิตได้

 

กล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลันแบบปวกเปียกก่อภาวะแทรกซ้อนอะไรได้บ้าง?

ป้องกันโรคAFPได้ด้วยการให้วัคซีนโปลิโอตามกำหนดเวลา

 

ผู้ป่วยต้องรักษานานเท่าไหร่?

การรักษาในช่วงแรกที่มีอาการ/โรค AFP นั้นใช้เวลาเป็นเดือน ส่วนการรักษาในระยะยาวนั้นขึ้นกับปัญหาที่พบ เช่น

  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ความรุนแรงและประเภทความพิการที่เกิดขึ้น
  • กระดูกผิดรูปหรือไม่

ผู้ป่วยมาพบแพทย์ก่อนนัดได้หรือไม่?

ผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดได้ถ้า

  • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น
    • อาการปวดต่างๆมากขึ้น
    • ไข้สูง
    • กล้ามเนื้ออ่อนแรงมากขึ้น
    • กล้ามเนื้อเกร็งกระตุกมากขึ้น หรือ
    • สงสัยอาการแพ้ยาที่แพทย์สั่ง เช่น ขึ้นผื่น ท้องเสียมากทุกวัน
  • เมื่อกังวลในอาการ

ผู้ปกครอง/ญาติควรดูแลผู้ป่วยอย่างไร?

ผู้ปกครอง/ญาติ ควรดูแลผู้ป่วยโดย

  • ต้องคอยดูแลการทานยาที่จำเป็นอย่างสม่ำเสมอ
  • แนะนำการทำกายภาพบำบัดสม่ำเสมอ ตามแพทย์ นักกายภาพบำบัด พยาบาล แนะนำ
  • ให้กำลังใจ
  • คอยดูแลไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงต่างๆ ทั้งจากโรคและจากยา
  • พามาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด

 

สรุป

ภาวะ AFP นี้เป็นภาวะที่ป้องกันได้ โดยการให้เด็กทุกคนได้รับวัคซีนต่างๆตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

อนึ่ง แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บhaamor.com ในอีกโรคที่มีอาการคล้ายกับโรค AFP แต่เป็นโรคเกิดเฉพาะกับไขสันหลัง ได้แก่ โรค/’อาการอ่อนปวกเปียกเฉียบพลันเหตุไขสันหลังอักเสบ’