กลูตาไธโอน (Glutathione)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 2 กันยายน 2556
- Tweet
กลูตาไธโอน (Glutathione) จัดเป็นสารชีวสังเคราะห์ (Biosynthesis) ที่ร่างกายมนุษย์สามารถสร้างขึ้นเองได้ โดยใช้โปรตีนจากอาหารที่รับประทานเข้าไปมาเป็นสารตั้งต้น กลุ่มโปรตีนดังกล่าวคือ L-Cysteine, L-Glutamic Acid และ Glycine ในร่างกายมนุษย์สามารถพบสารกลูตาไธโอนที่อยู่ภายในเซลล์ต่างๆได้ โดยเฉพาะในเซลล์ตับจะพบสารนี้เป็นจำนวนมาก
หน้าที่ของกลูตาไธโอน
- เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เช่นเดียวกับกลุ่มวิตามินซีและวิตามินอี นอกจากนี้ยังช่วยกำ จัดสารพิษออกจากร่างกาย
- ใช้ในปฏิกิริยาทางชีวเคมีของร่างกาย โดยทำให้กระบวนการสังเคราะห์และซ่อมแซมสารพันธุกรรม ดีเอ็นเอ (DNA) ดำเนินไปอย่างเป็นปกติ
- เป็นองค์ประกอบในกระบวนการสังเคราะห์โปรตีน สารโพรสตาแกลนดิน (Prostagla din, สารที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดและการอักเสบของเซลล์ต่างๆในร่างกาย) นอกจากนี้ยังทำให้การขนถ่ายโปรตีนไปตามอวัยวะต่างๆของร่างกายเป็นไปอย่างสมบูรณ์และปกติ
- ช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ (Enzyme) ซึ่งเป็นสารเคมี ที่ทำให้กระบวนการในระดับเซลล์ทำหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่องและสัมพันธ์กัน
- เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายให้ทำงานได้เป็นอย่างดี
- สนับสนุนการทำงานของระบบย่อยอาหาร (ระบบทางเดินอาหาร) ระบบประสาท รวมไปถึงการทำงานของปอดให้มีประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา
กลูตาไธโอนกับอาหารเสริม
จากการวิจัยพบว่าการรับประทานสารกลูตาไธโอนโดยตรง ไม่ค่อยจะได้ประโยชน์นัก ด้วยการดูดซึมเข้าร่างกายมีน้อย ดังนั้น ในทางคลินิก/ทางการแพทย์จึงไม่ค่อยใช้กลูตาไธโอนโดยการรับประทาน แต่กลับแนะนำว่า การได้รับสารอาหารที่ช่วยให้ร่างกายสร้างสารกลูตาไธโอนได้อย่างเหมาะสม จะทำให้ร่างกายสังเคราะห์กลูตาไธโอนได้เอง และจะก่อให้เกิดประ โยชน์มากกว่าการรับประทานกลูตาไธโอนโดยตรง
สารอาหารอย่างง่ายๆที่เรารับประทานและสามารถเพิ่มปริมาณกลูตาไธโอนได้ เช่น โปร ตีนจากนมที่เรียกว่า หางนม (Whey Protein) ได้มีการวิจัยและพบว่า การได้รับประทาน Whey Protein ในปริมาณที่เหมาะสม จะทำให้เพิ่มปริมาณกลูตาไธโอนในเซลล์ได้มากขึ้น นอกจาก นั้น อาหารอื่นๆที่ร่างกายนำมาช่วยการสร้างกลูตาไธโอน เช่น ธัญพืช หน่อไม้ฝรั่ง กะหล่ำ ผักโขม หอม บรอคโคลิ ขิง อะโวคาโด ไข่ นม โยเกิร์ต และเนื้อสัตว์
อื่นๆ
- เคยมีผู้ทำการวิจัย โดยเพิ่มสารกลูตาไธโอนเข้าไปในเซลล์ของอวัยวะต่างๆที่ได้รับบาดเจ็บ พบว่าสามารถเพิ่มระดับการป้องกันการก่อตัวของมะเร็งในอวัยวะนั้นๆ เช่น ไขกระดูก เต้านม ลำไส้ใหญ่ กล่องเสียง และปอด
- การศึกษาพบว่า กลูตาไธโอนยับยั้งการสร้างเม็ดสี (Melanogenesis) ของเนื้อเยื่อต่าง ๆ เช่น ผิวหนัง จึงทำให้เนื้อเยื่อต่างๆเหล่านั้นมีสีจางลง ในบางประเทศแถบเอเชียได้พยายามนำกลูตาไธโอนผสมลงในสบู่ เพื่อวัตถุประสงค์ทำให้ผิวขาว ด้วยความเชื่อว่าสารนี้ไปยับยั้งกระ บวนการสร้างเม็ดสีของร่างกาย ซึ่งผู้บริโภคควรต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า ข้อมูลที่ได้รับทราบมา มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือเพียงใด
- กลูตาไธโอนในรูปแบบของยาฉีด ในประเทศไทยยังไม่ได้การรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา อาจพบเห็นได้จากการนำเข้ามาเอง การฉีดต้องอาศัยบุคลากรทางการแพทย์และมีวิธีการที่ถูกต้องตามหลักวิชาชีพ และอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ยาเฉียบพลันรุนแรง ส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำลงจนเกิดภาวะช็อก (Anaphylaxis) และเสียชีวิตได้ ดังนั้น การเลือกหรือสรรหาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น ทำให้ผิวขาวขึ้น ควรต้องพิจารณาและมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ผลที่เกิดขึ้นนั้นมีอยู่อย่างถาวรหรือชั่วคราว และมีอัน ตรายอื่นๆแอบแฝงหรือไม่
ข้อจำกัดและข้อควรระวังในการนำ กลูตาไธโอน มาใช้ในรูปแบบของอาหารเสริม และ/หรือ การทำให้ผิวหนังขาว
ปัจจุบัน การศึกษาในเรื่องของการนำกลูตาไธโอนมาใช้ ในรูปแบบของอาหารเสริม และ/หรือทางด้านเวชสำอาง (การทำให้ผิวขาว) ยังมีน้อยมาก จำนวนผู้ที่นำมาศึกษายังมีจำนวนน้อยมากเช่นกัน และเป็นการศึกษาโดยใช้กลูตาไธโอนในระยะเวลาสั้นๆ ในปริมาณไม่สูงนัก ซึ่งติดตามผลการใช้ในระยะเวลาสั้นๆเช่นกัน ดังนั้น ประโยชน์และผลข้างเคียงหรือพิษ ในระยะยาวของกลูตาไธโอน จึงยังไม่ทราบแน่นอน ชัดเจน แต่แพทย์ทุกคนมีความเห็นตรงกันว่า ไม่ควรใช้กลูตาไธโอน ในหญิงตั้งครรภ์และในหญิงให้นมบุตร เพราะอาจก่อผลไม่พึงประสงค์ต่อทารกได้
นอกจากนั้น อันตรายจากการฉีดกลูตาไธโอน โดยเฉพาะการฉีดเข้าหลอดเลือดดำ คือการแพ้ยารุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ดังกล่าวแล้ว รวมทั้งการต้านการสร้างเม็ดให้สีในผิวหนัง (ซึ่งเม็ดสีเป็นตัวปกป้องผิวหนังจากพิษของแสงแดด) ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง ดังนั้น ผู้ใช้สารกลูตาไธโอน จึงต้องตระหนักถึงผลลัพธ์เหล่านี้ด้วย
บรรณานุกรม
- Arjinpathana,N., and Asawanonda,P. (2012). Glutathione as an oral whitening agent. J Dermatolog Treat.23,97-102.
- Glutathione http://en.wikipedia.org/wiki/Glutathione [2013,June12].
- What food have glutathione http://www.livestrong.com/article/106203-foods-glutathione/ [2013,June12].