กลุ่มอาการเลือดคั่งในอุ้งเชิงกราน (Pelvic congestion syndrome)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

กลุ่มอาการเลือดคั่งในอุ้งเชิงกรานคืออะไร?

กลุ่มอาการเลือดคั่งในอุ้งเชิงกราน หรือ ภาวะเลือดคั่งในอุ้งเชิงกราน หรือกลุ่มอาการเลือดคั่งในหลอดเลือดในอุ้งเชิงกราน(Pelvic congestion syndrome ย่อว่า PCS ชื่ออื่น เช่น Pelvic vein incompetence, Pelvic varicosity) เป็นกลุ่มอาการที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อย/อุ้งเชิงกรานเรื้อรังในสตรี โดยยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดภาวะ/กลุ่มอาการนี้แน่ชัดแต่แพทย์เชื้อว่าพยาธิสภาพของกลุ่มอาการนี้อาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดดำ/หลอดเลือดดำไม่ดี ทำให้เกิดการคั่งของเลือด ส่งผลให้มีการขยายตัวและขดงอของเส้นเลือดดำในอุ้งเชิงกรานมากกว่าปกติ/หลอดเลือดดำอุ้งเชิงกรานขอด(Pelvic varicosity) แล้วทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง อาการนี้พบในสตรีวัยก่อนหมดประจำเดือน แต่อย่างไรก็ตาม การมีการคั่งของเลือดหรือเส้นเลือดดำขยายในอุ้งเชิงกราน/ท้องน้อยไม่ทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อย/ปวดอุ้งเชิงกรานในสตรีทุกคน อุบัติการณ์ของกลุ่มอาการนี้บอกได้ไม่แน่ชัด แต่มีการศึกษาที่พบว่ากลุ่มอาการนี้เป็นสาเหตุ 10-30% ของสตรีที่มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง ซึ่ง*ปวดท้องน้อย/ปวดอุ้งเชิงกรานเรื้อรัง ทางการแพทย์หมายถึง อาการปวดท้องน้อยต่อเนื่องนานตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ทั้งนี้ กลุ่มอาการนี้ มักพบในสตรีช่วงวัย 18-50 ปี

อนึ่ง คำว่า “คั่ง” ความหมายจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึง “ออ ประดังกัน” ส่วนทางการแพทย์ “คั่ง(Congestion)หมายถึง “มีการสะสมของเหลวมากผิดปกติ โดยเฉพาะมีเลือดสะสมมากผิดปกติในหลอดเลือด”

 

กลุ่มอาการเลือดคั่งในอุ้งเชิงกรานมีอาการอย่างไร?

กลุ่มอาการเลือดคั่งในอุ้งเชิงกราน

กลุ่มอาการเลือดคั่งในอุ้งเชิงกรานจะเป็นอาการเรื้อรัง โดยอาการพบบ่อย มีดังต่อไปนี้

1. อาการปวดหน่วงท้องน้อยเรื้อรัง เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด ลักษณะการปวดมีดังต่อไปนี้

  • มักปวดที่ท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่ง แต่สามารถปวดทั้ง 2 ข้างได้
  • มีอาการปวดลักษณะเป็น ปวดหนักๆหน่วงๆ(ปวดหน่วง)
  • อาการปวดมีมากขึ้นตอนก่อนหรือขณะมีประจำเดือน หลังยืนนานๆ เดิน ยกของ หรือหลังมีเพศสัมพันธ์
  • อาการปวดจะเป็นมากตอนเย็น พอได้นอน อาการจะดีขึ้น
  • อาการปวดอาจเกิดอยู่นานเป็นหลายชั่วโมง กว่าที่อาการจะหายไปเอง

2. อาการอื่นที่พบได้ มักไม่จำเพาะเจาะจงกับกลุ่มอาการนี้ เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ล้าง่าย ปวดปากช่องคลอด บวมที่ปากช่องคลอด ซึมเศร้า

 

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดกลุ่มอาการเลือดคั่งในอุ้งเชิงกราน?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดกลุ่มอาการเลือดคั่งในอุ้งเชิงกราน ได้แก่

1. สตรีตั้งครรภ์

2. สตรีที่มีบุตรหลายคน

3. สตรีที่น้ำหนักตัวเพิ่มมาก อ้วน

4. มีการกดทับที่เส้นเลือดดำของรังไข่ และ/หรือของไต เช่น มีก้อนเนื้อ/เนื้องอก

 

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ”อาการ” และอาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเอง หรืออาการเลวลง หรืออาการส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอเพื่อการวินิจฉัยแยกโรคที่อาการคล้ายๆกันเพื่อการรักษาที่เหมาะสม เช่น โรคเนื้องอกมดลูก โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โรคกะบังลมหย่อน

 

แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการเลือดคั่งในอุ้งเชิงกรานได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการเลือดคั่งในอุ้งเชิงกรานได้จาก

ก. ประวัติทางการแพทย์: กล่าวคือ มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังต่อเนื่องนานตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป อาการปวดไม่สัมพันธ์กับการมีประจำเดือน ปวดมากตอนยืน ปวดตอนเย็นๆของวัน

ข. การตรวจร่างกาย: การตรวจร่างกายทั่วไปจะพบว่าปกติ ตรวจไม่พบโรคอย่างอื่น อาจพบมีเส้นเลือดขอดที่บริเวณปากช่องคลอด หรือที่ขา(หลอดเลือดขาขอด) ร่วมด้วย

เมื่อมีการตรวจภายใน จะพบ มีการกดเจ็บบริเวณด้านข้างของ มดลูก ปีกมดลูก หรือเมื่อแพทย์โยกปากมดลูกแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บด้านข้างปีกมดลูก ซึ่งเป็นตำแหน่งของเส้นเลือดดำของรังไข่

ค. การตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม: การตรวจสืบค้นอื่นๆมีหลายวิธี วิธีที่ง่ายและไม่ทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัวมาก ราคาไม่แพงมาก คือ การตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด เพื่อดูว่ามีพยาธิสภาพอื่นในอุ้งเชิงกรานว่ามีความผิดปกติร่วมด้วยหรือไม่ ดูว่ามีการขยายของเส้นเลือดดำของรังไข่หรือไม่ มีการขดงอ (tortious)ของเส้นเลือดมากผิดปกติหรือไม่ ร่วมกับการดูลักษณะการไหลเวียนของเลือด(Doppler ultrasound)ว่ามากผิดปกติหรือไม่

นอกจากนั้น อาจมีการตรวจโดยการฉีดสารเข้าไปในเส้นเลือด(สารทึบรังสี) แล้วเอ็กซเรย์ดูลักษณะของเส้นเลือดดำ(Venography)ว่า มีการขยายและขดตัวไปมามากผิดปกติหรือไม่ การตรวจอุ้งเชิงกรานด้วยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์(CT scan) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า(MRI scan) หรือการเจาะหน้าท้องแล้วส่องกล้องเข้าไปดูภายในอุ้งเชิงกรานโดยตรง(Laparoscopy)เพื่อดูลักษณะของเส้นเลือดดำในอุ้งเชิงกราน

 

รักษากลุ่มอาการเลือดคั่งในอุ้งเชิงกรานอย่างไร?

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดกลุ่มอาการเลือดคั่งในอุ้งเชิงกราน การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ(การรักษาประคับประคองตามอาการ) ซึ่งอาการที่พบมากที่สุดคือ ปวดท้องน้อยเรื้อรังที่รบกวนชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ทำให้หงุดหงิด ไม่สบายตัว ไม่สบายใจ กังวล ดังนั้น แพทย์อาจต้องให้การดูแลรักษาเป็นทีม ทั้ง สูตินรีแพทย์ ศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ รวมถึงจิตแพทย์ ซึ่งวิธีรักษามีทั้งการรักษาโดยใช้ยาต่างๆไปจนกระทั่งการผ่าตัด วิธีการรักษาต่างๆมีหลายแนวทาง ได้แก่

1. ยาแก้ปวด: เป็นยากลุ่มแรกที่แพทย์เลือกใช้ เช่น ยาพาราเซตามอล ต่อไปเป็นยากลุ่มยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบ(Non steroidal anti-inflammatory drugย่อว่า NSAID) เพื่อบรรเทาอาการปวดของผู้ป่วยซึ่งเป็นปัญหาหลัก

2. การใช้ยาฮอร์โมน: เมื่อใช้ยาแก้ปวดไม่ได้ผล การฉีดยาในกลุ่ม Gonadotropin agonist (Gonadotropin-releasing hormone drug หรือ Gonadotropin-releasing hormone agonist ย่อว่า GnRH agonist), การรับประทานยา Medroxyprogesterone acetate, ยาฝังคุมกำเนิด (Etonogestrel implants) พบว่า อาจทำให้เส้นเลือดที่ขอด(ที่ขมวดเป็นปม หรือม้วนเข้ามา: Tortious)ลดการขอดลง ทำให้อาการปวดดีขึ้น

3. การฉีดยาเพื่อให้เส้นเลือดดำหดรัดตัว (Venoconstriction) หรือทำให้เส้นเลือดดำแข็งตัว(Sclerotherapy)จนเกิดการลดขนาดหลอดเลือดลง/ลดการขอดตัว

4. การผูกหรือทำให้เส้นเลือดดำของรังไข่อุดตัน (Ovarian vein ligation or embolization)

5. ผ่าตัดมดลูกออกพร้อมรังไข่ แพทย์จะเลือกใช้เป็นวิธีสุดท้าย หากใช้วิธีอื่นไม่ได้ผลและผู้ป่วยมีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังมากขึ้นจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

 

ดูแลตนเองเมื่อมีกลุ่มอาการเลือดคั่งในอุ้งเชิงกรานอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีกลุ่มอาการเลือดคั่งในอุ้งเชิงกราน ที่สำคัญ ได้แก่

1. พยายามทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่กังวล เพราะความเครียด ความวิตกกังวล จะมีผลทำให้อาการปวดท้องมีมากขึ้น

2. ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เพิ่มมากเกินไป

3. รับประทานยาต่างๆตามคำแนะนำของแพทย์

4. พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ

 

เมื่อไรควรพบแพทย์ก่อนนัด?

เมื่อมีอาการปวดท้องน้อยมากผิดปกติ หรือมีอาการอื่นร่วมด้วยเช่น มีไข้ ตกขาว มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ น้ำหนักตัวลด ผอมลงมาก

 

กลุ่มอาการเลือดคั่งในอุ้งเชิงกรานมีการพยากรณ์โรคอย่างไร? ตั้งครรภ์ได้ไหม?

เนื่องจากยังไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการเลือดคั่งในอุ้งเชิงกราน/ อาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง และจากการตรวจที่สืบค้นพบว่ามีการขยายและขดงอของเส้นเลือดดำของรังไข่อาจไม่ใช่พยาธิสภาพจริงของกลุ่มอาการนี้ เพราะสามารถตรวจพบการขยายและขดงอของเส้นเลือดดำรังไข่ในคนที่ไม่มีอาการปวดท้องน้อยได้ จึงทำให้พยากรณ์โรคของกลุ่มอาการนี้ไม่ดีนัก ผู้ป่วยยังมีอาการปวดท้องน้อยแบบเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ หลังการรักษา ซึ่งการฉีดยา หรือรับประทานยา ตามที่กล่าวมาแล้ว เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว สามารถกลับเป็นซ้ำอีก ส่วนการผ่าตัดมดลูก รังไข่ หรือทำให้เส้นเลือดอุดตัน ทำให้อาการดีขึ้นได้ แต่บางครั้งอาการปวดก็ยังคงอยู่

สิ่งสำคัญที่ต้องรักษาควบคู่กับผู้ที่มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง/กลุ่มอาการเลือดคั่งในอุ้งเชิงกราน คือการรักษาทางด้านจิตใจ ไม่ให้เครียด ไม่วิตกกังวลมากเกินไป เพราะ ยิ่งเครียดยิ่งทำให้อาการปวดแย่ลง

อย่างไรก็ตามกลุ่มอาการเลือดคั่งในอุ้งเชิงกรานนี้ไม่ได้เป็นข้อห้ามในการตั้งครรภ์ สามารถตั้งครรภ์ได้ แต่อาการอาจปวดท้องจะมากขึ้นขณะตั้งครรภ์ ดังนั้นเมื่อวางแผนจะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการดูแลตนเองเสมอ

 

ป้องกันกลุ่มอาการเลือดคั่งในอุ้งเชิงกรานได้ไหม?

เนื่องจากยังไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการเลือดคั่งในอุ้งเชิงกราน จึงทำให้การป้องกันการเกิดกลุ่มอาการนี้ทำได้ลำบาก แต่ควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้สบาย ไม่กังวล

 

บรรณานุกรม

  1. Borghi C, Atti LD. Pelvic congestion syndrome: the current state of the literature. Arch Gynecol Obstet 2016; 293:291–301
  2. Durham J D. and Machan L. Semin Intervent Radiol (2013); 30(4):372-380
  3. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3036528/ [2018,March24]
  4. https://www.uptodate.com/contents/vulvovaginal-varicosities-and-pelvic-congestion-syndrome? [2018,March24]