กลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บ กลุ่มอาการรากประสาทหางม้า (Cauda equina syndrome)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 27 ธันวาคม 2556
- Tweet
- บทนำ
- กลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บคืออะไร?
- สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของกลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บมีอะไรบ้าง?
- กลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บมีอาการอย่างไร?
- เมื่อใดที่ต้องไปพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บได้อย่างไร?
- รักษากลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บอย่างไร?
- การพยากรณ์โรคของกลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บเป็นอย่างไร?
- กลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ป้องกันกลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บได้อย่างไร?
บทนำ
อาการปวดหลัง ปวดขา เป็นอาการหนึ่งที่พบบ่อย สาเหตุที่พบบ่อย คือ กระดูกสันหลังระ ดับเอวเสื่อม (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง กระดูกสันหลังเสื่อม) กล้ามเนื้อหลังหดเกร็ง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดบริเวณก้นหรือกระเบนเหน็บ หรือมีปัญหาการปัสสาวะผิด ปกติร่วมด้วย ซึ่งเมื่อไปพบแพทย์ แพทย์บอกว่าเป็นโรคบริเวณกลุ่มรากประสาทคล้ายหางม้า หรือ รากประสาทหางม้า (Cauda equina) ผู้ป่วยจะงงมากว่าโรคนี้คืออะไร ต้องอธิบายให้ทราบตั้งแต่โครงสร้างของไขสันหลัง และรากประสาท ติดตามบทความนี้ครับ
กลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บคืออะไร?
กลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บหรือกลุ่มอาการรากประสาทหางม้า (Cauda equina syndrome) คือ กลุ่มอาการที่มีรอยโรคในบริเวณส่วนปลายของไขสันหลัง
โดยปกติไขสันหลัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาทส่วนกลางจะเริ่มต้นตั้งแต่สมองต่อลงมาเป็นไขสันหลัง โดยส่วนปลายของไขสันหลังจะสิ้นสุดบริเวณกระดูกสันหลังเอวระดับประ มาณข้อที่ 1 ต่อกับข้อที่ 2 (Lumbar/L 1-2) ซึ่งส่วนปลายของไขสันหลัง เรียกว่า Conus medullaris บริเวณดังกล่าวจะมีรากประสาทออกมารวมกันเป็นกลุ่มของรากประสาท มีลักษณะคล้ายหางม้า (Cauda equina) ซึ่งเมื่อมีรอยโรคที่รากประสาทส่วนนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการของรากประสาทที่ผิดปกติ เช่น ชา ปวดหลังตอนล่าง ปวดก้น ปวดขา 2 ข้าง ขา 2 ข้างอ่อนแรง
กลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บ พบได้ไม่บ่อย แต่ไม่มีข้อมูลที่ทราบแน่ชัดว่าพบมากน้อยเพียงใด เป็นโรคมักพบในผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดได้ใกล้เคียงกัน
สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของกลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บมีอะไรบ้าง?
สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดกลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บ ได้แก่
- ช่องระหว่างกระดูกสันหลังเอวตีบแคบ
- มีอุบัติเหตุบริเวณกระดูกสันหลังเอว
- มีหมอนรองกระดูกเคลื่อน กดทับรากประสาทส่วนหางม้านี้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ปวดหลัง: ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง )
- เนื้องอก ของเยื่อหุ้มสมอง หรือ ของเซลล์ประสาทในบริเวณกลุ่มรากประสาทหางม้า
- โรคมะเร็ง โดยเป็นโรคมะเร็งของอวัยวะอื่นๆ ที่แพร่กระจายมาบริเวณกลุ่มรากประสาทหางม้า เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- การอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อของกลุ่มรากประสาทหางม้า เช่น จากโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง
- การอักเสบติดเชื้อบริเวณกลุ่มรากประสาทหางม้า เช่น วัณโรค
- จากการเจาะหลัง (Lumbar puncture) แล้วมีเลือดออกไปกดทับกลุ่มรากประสาทหางม้า
กลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บมีอาการอย่างไร?
อาการของกลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บ ได้แก่
- ชา บริเวณขา รอบก้น ขาหนีบ อวัยวะเพศ
- อ่อนแรงบริเวณขา
- ปัสสาวะ อุจจาระลำบาก กลั้นไม่ได้ ท้องผูก
- ปวดบริเวณ เอว หรือ กระเบนเหน็บ
- ปวดร้าวลงมาตามตำแหน่งของกลุ่มรากประสาทและเส้นประสาทหางม้า
- มีความรู้สึกออกร้อน คล้ายเข็มแทง แมลงไต่บริเวณขา ก้น อวัยวะเพศ
เมื่อใดที่ต้องไปพบแพทย์?
เมื่อมีอาการปวดหลัง ปวดเอว อาการชา หรืออ่อนแรง ที่เป็นขึ้นอย่างรวดเร็ว ควรรีบพบแพทย์ หรืออาการดังกล่าวในหัวข้อ อาการ เป็นมากขึ้น ไม่ดีขึ้น ที่สำคัญคือ ถ้าปวดขณะนอนพักกลางคืน ปัสสาวะ อุจจาระ ลำบาก ต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที เพื่อรีบรักษา
แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บได้ โดยพิจารณาจากอาการดังกล่าวข้างต้นในหัวข้อ อาการ ร่วมกับการตรวจร่างกาย ที่พบความผิดปกติของระบบประสาท บริเวณขา 2 ข้าง ขาหนีบ 2 ข้าง รอบก้น บริเวณอวัยวะเพศ และจากการเอกซเรย์ภาพกระดูกสันหลังเอวและกระเบนเหน็บ และพิจารณาส่งตรวจเอมอาร์ไอของไขสันหลังส่วนเอว รากประ สาทบริเวณเอว และกระเบนเหน็บ เพื่อให้เห็นรอยโรคแน่ชัด หลังจากนั้น คือการตรวจสืบค้นอื่น ๆเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุ ทั้งนี้ขึ้นกับสิ่งที่แพทย์ตรวจพบและดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เมื่อพบก้อนเนื้อ เป็นต้น
รักษากลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บอย่างไร?
การรักษากลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บ ประกอบด้วย
- ยาแก้ปวดสำหรับบรรเทาการปวดจากระบบประสาท
- รักษาสาเหตุ เช่น อาจต้องผ่าตัดถ้ามีการกดทับ หรืออุบัติเหตุ, ให้ยาสเตียรอยด์ถ้าเป็นการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อ, ให้ยาฆ่าเชื้อถ้าเป็นการติดเชื้อ, ฉายรังสีรักษากรณีเกิดจากโรค มะเร็ง
- ทำกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูสภาพของกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง
การพยากรณ์โรคของกลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บเป็นอย่างไร?
การพยากรณ์โรค หรือผลการรักษากลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บ ขึ้นกับ สาเหตุ ความรุนแรงของอาการ และการมาพบแพทย์เร็วหรือช้า ซึ่งถ้ามีการปัสสาวะหรือขับถ่ายลำบาก ถือว่ามาพบแพทย์ล่าช้า
ทั้งนี้ การรักษาส่วนใหญ่ มักต้องเน้นการทำกายภาพบำบัดระยะยาว และการทานยาลดอาการเจ็บปวดหรืออาการชา
อนึ่ง ถ้าโรคไม่ตอบสนองต่อการรักษา ก็มีโอกาสเป็นอัมพาตของขาทั้ง 2 ข้างได้
กลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากกลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บ คือ อาการอัมพาตของขาทั้ง 2 ข้างกรณีโรคไม่ตอบสนองต่อการรักษา
นอกจากนั้น คือ คุณภาพชีวิตที่ด้อยลงจาก ปัญหาการขับถ่าย ความรู้สึกทางเพศเสียไป และความทรมานจากอาการปวด อาการชา
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
เมื่อเป็นโรคนี้ต้องพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ซึ่งเมื่อแพทย์ได้ให้การรักษาที่โรงพยาบาลจนอาการคงที่ และให้กลับไปพักรักษาต่อที่บ้าน การดูแลตนเองของผู้ป่วย คือ
- ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
- ควรหมั่นทำกายภาพบำบัดตามแพทย์ นักกายภาพบำบัด พยาบาล แนะนำ สม่ำเสมอ ตลอดไป
- ระวังการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะจากมีปัญหาการขับถ่าย และถ้ามีการปัสสาวะไม่หมด ก็จะมีปัสสาวะค้างมาก ทำให้มีการติดเชื้อได้ง่าย
- พบแพทย์ตามนัด
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ อาการปวดหรือชามากขึ้น, ปัสสาวะลำบาก, มีไข้, และ/หรือ ปัสสาวะขุน แสบขัด, และ/หรือ เมื่ออาการต่างๆเลวลง, และ/หรือ เมื่อมีอาการผิดไปจากอาการเดิม, และ/หรือ เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันกลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บได้อย่างไร?
กลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บนี้ ไม่สามารถป้องกันได้ ยกเว้นการพยายามไม่ให้เกิดอุบัติเหตุบริเวณดังกล่าว เช่น การใช้เข็มขัดนิรภัยในการโดยสารรถยนต์ การระมัดระ วังเมื่อปีนป่าย เป็นต้น