กลีเซอรีน (Glycerine or Glycerin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 26 พฤษภาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- กลีเซอรีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- กลีเซอรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- กลีเซอรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- กลีเซอรีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
- กลีเซอรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้กลีเซอรีนอย่างไร?
- กลีเซอรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษากลีเซอรีนอย่างไร?
- กลีเซอรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาล้างตา (Eyewash)
- ยาหยอดหู (Ear drops)
- ยาแก้ท้องผูก (Anticonstipation)
- แผลร้อนใน (Aphthous ulcer)
- ต้อหิน (Glaucoma)
บทนำ
กลีเซอรีน (Glycerine) หรือกลีเซอริน (Glycerin) หรือกลีเซอรอล (Glycerol) เป็นสารประกอบที่มีโครงสร้างของน้ำตาลและแอลกอฮอล์ผสมกัน (Sugar alcohol compound) มีลักษณะเป็นของเหลวข้น ใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีรสหวาน ไม่เป็นพิษ และละลายน้ำได้ แกนกลางของโมเลกุลในกลีเซอรีนจะประกอบไปด้วยไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) เป็นหลักการผลิตกลีเซอรีนในเชิงอุตสาหกรรมสามารถใช้วัตถุดิบจากพืชตระกูลถั่ว ปาล์ม และจากสัตว์โดยใช้ส่วนที่เรียกว่าไข มันแข็ง (Tallow) แหล่งผลิตกลีเซอรีนที่สำคัญจะอยู่ในประเทศแถบทวีปอเมริกาและทวีปยุโรป ประโยชน์ของกลีเซอรีนที่มนุษย์นำมาใช้งานได้แก่
- ในอุตสาหกรรมอาหาร โดยใช้เป็นตัวเพิ่มรสหวาน เป็นตัวทำละลาย ช่วยป้องกันการเน่าบูดของอาหาร
- ใช้ในกระบวนสกัดสารสำคัญของพืชอย่างเช่น การสกัดทิงเจอร์ (Tincture)
- ในประเทศที่มีอากาศเย็นจะใช้กลีเซอรีนเติมลงในอุปกรณ์เครื่องยนต์เพื่อป้องกันมิให้น้ำในหม้อน้ำแข็งตัว
- อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องสำอาง ใช้เป็นสารเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ใช้ผลิตยาสีฟัน น้ำ ยาบ้วนปาก ครีมโกนหนวด ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมและสบู่
- ในอุตสาหกรรมยา ใช้เป็นส่วนประกอบของยาแก้ไอทั้งในรูปแบบยาน้ำและยาลูกอม และยังนำมาเป็นยาเหน็บทวารเพื่อช่วยเป็นยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก ใช้เป็นยาป้ายแผลในปาก (เช่น แผลร้อนใน) เป็นส่วนประกอบในสูตรตำรับยาล้างตาและยาหยอดหู หรือใช้เป็นยารับประทานหรือยา หยอดตารักษาอาการต้อหิน
ยากลีเซอรีนจะไม่มีผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของยาฉีด (อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยากลีเซอรีนได้ในบทความนี้หัวข้อ รูปแบบของการจัดจำหน่ายฯ) ทั้งนี้ด้วยตัวยากลีเซอรีนสามารถสร้างความเสียหายต่อเม็ดเลือดได้
โดยทั่วไปมีข้อจำกัดในการใช้ยากลีเซอรีนที่ผู้บริโภคควรทราบอย่างเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลีเซอรีน
- ยากลีเซอรีนในรูปแบบยาเหน็บทวาร ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะลำไส้อุดตันหรือภาวะลำไส้ใหญ่ส่วนปลายมีเลือดออก
- การใช้ผลิตภัณฑ์ของยากลีเซอรีนกับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จะต้องผ่านการคัดกรองหรือได้รับคำสั่งจากแพทย์ก่อนเสมอ
- การใช้ผลิตภัณฑ์ของยากลีเซอรีนกับผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 อาจทำให้ผู้ป่วยมีภาวะสูญเสียน้ำ/ภาวะขาดน้ำได้รุนแรงมากขึ้น หรือกับผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคไต อาจทำให้อาการของโรคดังกล่าวรุนแรงมากยิ่งขึ้น
- ปกติผลิตภัณฑ์ยาของกลีเซอรีนสามารถใช้ได้กับผู้ใหญ่และเด็ก แต่ต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมของการนำผลิตภัณฑ์กลีเซอรีนมาใช้ จึงไม่แนะนำให้ผู้บริโภคไปซื้อหายานี้มาใช้ด้วยตนเอง
กลีเซอรีนในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆนั้นยังสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง)เหมือนกับยาชนิดอื่นหลายตัวเช่น มีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน และกระหายน้ำตามมา การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของกลีเซอรีนได้อย่างถูกต้องเหมาะสมควรต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาและออกคำสั่งจ่ายยานี้จะเป็นการเหมาะสมต่อผู้ป่วยที่สุด
กลีเซอรีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยากลีเซอรีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- ใช้เป็นยาป้ายแผลในปากในรูปแบบของยากลีเซอรีนบอแรกซ์ (Glycerine borax)
- ใช้เป็นยาระบาย/ยาแก้ท้องผูกในรูปแบบของยาเหน็บทวาร (Suppository) และยาสวนทวาร (Enema)
- เป็นยารับประทานช่วยลดความดันของลูกตาในโรคต้อหิน รวมถึงบำบัดอาการบวมของสมอง/สมองบวม
- เป็นส่วนประกอบในสูตรตำรับของยาน้ำและยาเม็ดอมเพื่อเพิ่มรสชาติเช่นในยาแก้ไอ
กลีเซอรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยากลีเซอรีนมีกลไกการออกฤทธิ์ดังตัวอย่างต่อไปนี้เช่น
ก. สำหรับเป็นยาป้ายแผลในปาก: ยากลีเซอรีนบอแรกซ์จะออกฤทธิ์ทำลายและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคในบริเวณที่เป็นแผลอักเสบในปาก ส่งผลให้อาการแผลอักเสบดีขึ้น
ข. สำหรับเป็นยาระบาย: ยากลีเซอรีนจะกระตุ้นให้ลำไส้มีการบีบตัวร่วมกับมีการดูดซึมน้ำเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ส่งผลสนับสนุนกระตุ้นการระบายอุจจาระในที่สุด
ค. สำหรับบำบัดอาการโรคต้อหินและภาวะสมองบวม: กลีเซอรีนในรูปแบบยารับประทานจะทำให้เกิดความแตกต่างของแรงดันของเหลวในลูกตาและในสมอง ทำให้น้ำ/ของเหลวในลูกตาและในสมองถูกดูดกลับเข้าสู่หลอดเลือด ส่งผลให้ลดความดันในอวัยวะดังกล่าว
กลีเซอรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยากลีเซอรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
- ยาสารละลายชนิดป้ายแผลในปากขนาดความเข้มข้น 0.12 กรัม/สารละลาย 1 กรัม
- ยาสวนทวารขนาด 4 มิลลิลิตร/ขนาดบรรจุ
- ยาเหน็บทวารขนาด 1, 2 หรือ 4 กรัม/แท่ง
- ยาน้ำรับประทานขนาด 0.6 และ 0.94 กรัม/มิลลิลิตร
- ยาหยอดตาขนาด 7.5 มิลลิลิตร/ขวด
กลีเซอรีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยากลีเซอรีนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาดังตัวอย่างต่อไปนี้เช่น
ก. สำหรับรักษาแผลในปาก:
- ผู้ใหญ่และเด็ก: ใช้ไม้พันสำลีที่สะอาดแต้มด้วยยากลีเซอรีนบอแรกซ์ แล้วป้ายยาในบริเวณที่เป็นแผลติดเชื้อในปากวันละ2 - 3 ครั้ง ระหว่างป้ายยาในปากไม่ควรดื่มน้ำ รับประทานอาหาร หรือใช้ยาอื่นป้ายตามลงไปทันที ควรรออย่างน้อยประมาณ 20 - 30 นาที
ข. สำหรับเป็นยาระบาย:
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป: เหน็บยากลีเซอรีนชนิดแท่งปริมาณ 3 กรัม/ครั้ง หรือใช้ยาแบบสวนทวารปริมาณ 5 - 15 มิลลิลิตร/ครั้ง
- เด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปีลงมา: เหน็บยากลีเซอรีนชนิดแท่งปริมาณ 1 - 1.5 กรัม/ครั้ง หรือใช้ยาสวนทวารปริมาณ 2 - 5 มิลลิลิตร/ครั้ง
ค. สำหรับลดความดันในลูกตาก่อนการผ่าตัด:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยากลีเซอรีนขนาด 1 - 2 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมก่อนการผ่าตัดตา 60 - 90 นาที
- เด็ก: ทางคลินิกยังไม่มีข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กอย่างชัดเจน การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
ง. สำหรับลดอาการบวมของกระจกตา (Corneal edema):
- ผู้ใหญ่:ใช้ยากลีเซอรีนชนิดหยอดตา 1 - 2 หยดทุกๆ 3 - 4 ชั่วโมง
- เด็ก: ทางคลินิกยังไม่มีข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กอย่างชัดเจน การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
*อนึ่งการใช้ยานี้ในเด็กเล็กต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยากลีเซอรีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยากลีเซอรีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
หากลืมใช้ยา/กินยากลีเซอรีนสามารถใช้ยา/กินยากลีเซอรีนเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยา/กินยากลีเซอรีนในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
กลีเซอรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากลีเซอรีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ตามรูปแบบ ผลิตภัณฑ์ดังนี้เช่น
- ก. ยาชนิดรับประทาน/ยาเม็ดลูกอม/ยาป้ายแผลในปาก: ผลข้างเคียงเช่น อาจทำให้ปวดศีรษะ วิงเวียน กระหายน้ำ เป็นตะคริวที่ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเล็กน้อย
- ข. ยาชนิดยาหยอดตา: ผลข้างเคียงเช่น ปวดตา รู้สึกระคายเคืองตา
- ค. ยาชนิดยาเหน็บทวาร: ผลข้างเคียงเช่น รู้สึกไม่สบายในทวารหนัก อาจมีภาวะเลือดคั่งตรงทวารหนักจนอาจทำให้มีเลือดออกทางทวารหนัก/อุจจาระเป็นเลือดได้
มีข้อควรระวังการใช้กลีเซอรีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยากลีเซอรีนเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลีเซอรีน
- ห้ามใช้ยากลีเซอรีนชนิดเหน็บทวารหนักกับผู้ที่มีภาวะลำไส้อุดตันหรืออุจจาระเป็นเลือด
- ห้ามใช้ยากลีเซอรีนกับผู้ที่ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด ผู้ที่อยู่ในภาวะสูญเสียน้ำ/ภาวะขาดน้ำของร่างกาย ผู้ที่มีภาวะน้ำท่วมปอด/ปอดบวมน้ำ ผู้ที่อยู่ภาวะอาเจียน หรือปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ที่ป่วยด้วยอาการไส้ติ่งอักเสบ ผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดช่องท้อง
- การใช้ยากลีเซอรีนกับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคตับโรคไต
- ศึกษาวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์ยากลีเซอรีนแต่ละชนิดอย่างถูกต้องจากเอกสารกำกับยาก่อนการใช้งานจริง
- ปฏิบัติตามคำแนะนำการรักษาของแพทย์/พยาบาลอย่างเคร่งครัด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลีเซอรีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
กลีเซอรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยากลีเซอรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยากลีเซอรีนชนิดรับประทานร่วมกับยาขับปัสสาวะอาจทำให้ฤทธิ์ในการขับปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดอาการดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยากลีเซอรีนในรูปแบบอื่นเช่น ยาสวนทวาร ยาเหน็บทวาร ยาหยอดตา ยาป้ายแผลในปาก ซึ่งเป็นยาใช้เฉพาะที่และจัดเป็นยาใช้ภายนอก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รูปแบบยาเตรียม) จึงยังไม่พบรายงานเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดอื่นๆ
ควรเก็บรักษากลีเซอรีนอย่างไร?
ควรเก็บยากลีเซอรีนภายในอุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์
อนึ่งยากลีเซอรีนชนิดยาเหน็บทวาร ก่อนการใช้งานต้องแช่ในตู้เย็นเพื่อให้มีลักษณะเป็นแท่งแข็งเพื่อให้เหมาะกับการเหน็บทวารหนัก แต่ห้ามแช่ยากลีเซอรีนในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
กลีเซอรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยากลีเซอรีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Borax Glycerine 10% (บอแรกซ์ กลีเซอรีน 10%) | HIPOCRATE |
Borax Glycerin IP (บอแรกซ์ กลีเซอรีน ไอพี) | Arora Pharmaceuticals Pvt. Ltd. |
Glycerin of Borax Srichand (กลีเซอรีน ออฟ บอแรกซ์ ศรีจัน) | Srichand |
Osmoglyn (ออสโมกลิน) | Alcon |
Sani supp (เซนิซับ) | G&W Laboratories, Inc. |
บรรณานุกรม
- http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Glycerin%20of%20Borax%20Srichand/ [2016,May7]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Glycerol [2016,May7]
- http://www.drugs.com/inactive/glycerin-448.html [2016,May7]
- http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/glycerin-oral-route/before-using/drg-20067747 [2016,May7]
- http://www.medicinesforchildren.org.uk/glycerin-glycerol-suppositories-constipation [2016,May7]
- http://www.drugs.com/dosage/glycerin.html [2016,May7]
- https://www.glowm.com/resources/glowm/cd/pages/drugs/g014.html [2016,May7]