กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ (Interstitial cystitis หรือ Bladder pain syndrome หรือ IC/BPS)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 31 ตุลาคม 2562
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- โรคไอซี/บีพีเอสเกิดได้อย่างไร?
- โรคไอซี/บีพีเอสมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
- โรคไอซี/บีพีเอสมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคไอซี/บีพีเอสอย่างไร?
- รักษาโรคไอซี/บีพีเอสอย่างไร?
- โรคไอซี/บีพีเอส รุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์เมื่อไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ป้องกันโรคไอซี/บีพีเอสได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- กายวิภาคและสรีรวิทยาของระบบทางเดินปัสสาวะ (Anatomy and physiology of Urinary tract)
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)
- มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Urinary bladder cancer)
- ปัสสาวะบ่อย
- กระเพาะปัสสาวะไวเกิน
- โรคภูมิต้านตนเอง โรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease)
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ(Interstitial cystitis ย่อว่า IC) คือโรคที่มีกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรังโดยแพทย์มักหาสาเหตุไม่พบ และไม่มีการติดเชื้อ อาการสำคัญของผู้ป่วย คือ ปัสสาวะบ่อย ร่วมกับปวดแสบเมื่อถ่ายปัสสาวะ(อาการเหมือนกระเพาะปัสสาวะอักเสบติดเชื้อ) และ/หรือ ปวดท้องน้อยในตำแหน่งกระเพาะปัสสาวะ (ท้องน้อยบริเวณเหนืออวัยวะเพศ) และกลั้นปัสสาวะไม่ค่อยอยู่ ซึ่งผู้ป่วยต้องมีอาการต่อเนื่องติดต่อกันอย่างน้อยนานตั้งแต่ 6 สัปดาห์ขึ้นไป รวมทั้งไม่ได้มีโรคอื่นๆของกระเพาะปัสสาวะ เช่น โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ, โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, ช่องคลอดอักเสบ, ปากมดลูกอักเสบ, หรือ เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ
โรคกระเพะปัสสาวะอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ บางท่านเรียกว่า โรคกลุ่มอาการพีบีเอส(Painful bladder syndrome ย่อว่า PBS) แต่สมาคมศัลยศาสตร์ทางเดินปัสสาวะ แห่งสหรัฐอเมริกา (AUA, American Urological Association) เรียกโรคนี้ว่า Interstitial cystitis/Bladder pain syndrome โดยเรียกย่อว่า IC/BPS ดังนั้นในบทความนี้ขอเรียกโรคนี้ว่า “โรคไอซี/บีพีเอส”
โรคไอซี/บีพีเอสแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ/ชนิด/type ตามลักษณะที่ตรวจพบจากการส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ คือ ชนิด Ulcerative และชนิด Non ulcerative
ก. ชนิดเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะมีแผลเปื่อย(Ulcerative type): คือ เมื่อส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ จะพบลักษณะของเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะมีการอักเสบแดงทั่วทั้งกระเพาะปัสสาวะ และอาจพบมีลักษณะเลือดออกในเนื้อเยื่อชั้นที่อยู่ใต้ต่อเยื่อบุผิวกระเพาะปัสสาวะ นอกจากนั้นจะพบมีแผลเปื่อย ได้ตั้งแต่ 1 แผลขึ้นไปในเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะในตำแหน่งยอดและด้านข้างของกระเพาะปัสสาวะ ร่วมกับมีการบวมของเนื้อเยื่อรอบๆแผลเปื่อย โดยเรียกแผลเปื่อยเหล่านี้ว่า Hunner ulcer (ตั้งชื่อตาม นพ. G. Hunner สูตินรีแพทย์ชาวอเมริกัน ที่รายงานพยาธิสภาพนี้ เป็นคนแรกในปี ค.ศ.1959/พ.ศ 2502) ทั้งนี้การอักเสบมักกินลึกเข้าไปในเยื่อบุฯ ร่วมกับการเกิดพังผืดจึงทำให้กระเพาะปัสสาวะฝ่อเล็กลง/มีความจุลดลง และพบมีเซลล์ที่เป็นเซลล์การอักเสบ เรียกว่า Mast cell อยู่ในเยื่อบุฯมากผิดปกติ ซึ่ง Mast cell เป็นเซลล์ที่สร้างสารเคมีต่างๆที่เป็นได้ทั้งสารที่ตอบสนองต่อการอักเสบ และเป็นสารที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้น เช่น สาร Antihistamine, Prostaglandin, และ Tryptases เป็นต้น
โรคไอซี/บีพีเอสชนิดนี้ พบประมาณ 5-10% ของโรคไอซี/บีพีเอสทั้งหมด และเป็นโรคที่มักดื้อต่อการรักษา
ข. ชนิดเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะไม่มีแผลเปื่อย(Non ulcerative type): เป็นโรคชนิดที่พบได้บ่อยกว่า ประมาณ 90-95% ของโรคทั้งหมด ลักษณะของเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะจะเช่นเดียวกับในชนิด มีแผลเปื่อย เพียงแต่ยังไม่พบแผลเปื่อยร่วมด้วย
โรคไอซี/บีพีเอส พบได้ทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบบ่อยในช่วงวัย 30-70 ปีโดยเฉพาะในช่วงอายุประมาณ 40 ปี ผู้หญิงพบบ่อยกว่าในผู้ชายมาก ในจำนวนผู้ป่วยโรคนี้ 10 คนจะเป็นผู้หญิง ประมาณ 9 คน (90%) พบในผู้ชายเพียง 1 คน (10%) ทั่วโลกพบจำนวนผู้ป่วยโรคนี้แตกต่างกันจากการนิยามโรคที่แตกต่างกัน โดยในสหรัฐอเมริกามีรายงานพบโรคนี้ได้ 2.7%-6.5%ในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 18 ปี
โรคไอซี/บีพีเอสเกิดได้อย่างไร?
กลไกการเกิดโรคไอซี/บีพีเอส ยังไม่ทราบชัดเจน แต่มีอยู่หลายสมมุติฐาน และเชื่อว่าอาจเกิดได้จากหลายๆสมมุติฐานร่วมกัน คือ
- เยื่อบุกระเพาะปัสสาวะขาดสารบางชนิด ที่สำคัญ คือสาร Glycosaminoglycans (GAGs) ที่ช่วยป้องกันไม่ให้สารพิษ หรือสารก่อการระคายเคืองจากปัสสาวะซึมเข้าก่อการระคายเคือง จนเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อของผนังกระเพาะปัสสาวะ
- ผู้ป่วยไวต่อสารบางชนิดที่มีอยู่เรื้อรังในปัสสาวะของผู้ป่วย เช่น จากอาหาร หรือเครื่องดื่มต่างๆ หรือจากการสูบบุหรี่ สารเหล่านี้จึงก่อการระคายเคือง/การอักเสบต่อกระเพาะปัสสาวะ
- มีความผิดปกติในการทำงานของเซลล์ที่สัมพันธ์กับการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ คือ Mast cell จึงส่งผลให้เกิดการอักเสบโดยไม่ติดเชื้อของเยื่อบุ/ผนังของกระเพาะปัสสาวะ
- มีความผิดปกติของระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ
- มีการอักเสบของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่างๆในท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน ซึ่งรวมทั้งเนื้อเยื่อของผนังกระเพาะปัสสาวะ ที่เป็นการอักเสบจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ เช่น โรคออโตอิมมูน
- มีการติดเชื้อโรคเรื้อรังของกระเพาะปัสสาวะ แต่เป็นเชื้อที่แพทย์หาไม่พบ
โรคไอซี/บีพีเอสมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจนที่ทำให้เกิดโรคไอซี/บีพีเอส แต่พบว่ามีหลายปัจจัยที่อาจทำให้เกิดอาการ หรือทำให้อาการของโรคไอซี/บีพีเอส รุนแรงขึ้น ได้แก่
- เพศหญิง เพราะพบในผู้หญิงได้สูงกว่าในผู้ชายมาก 9:1
- บางการศึกษาพบว่า พบโรคนี้ได้สูงขึ้นเมื่อมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
- บางการศึกษาพบว่า พบโรคนี้ได้สูงขึ้นเมื่อช่วงวัยเด็กมีการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
- การกินอาหารบางชนิด เช่น รสเปรี้ยว วิตามินซี รสเผ็ด รสจัด เครื่องดื่มกาเฟอีน (เช่น ชา กาแฟ โกโก้ น้ำอัดลม ช็อกโกแลต) มะเขือเทศ โดยอาหารที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ แพทย์บางท่านใช้คำว่า ‘ 4 C ( Caffeine/กาเฟอีน Citrus/อาหารรสเปรี้ยว Carbonate beverage/น้ำอัดลม และ C/Vitamin C/วิตามิน ซี)’ ซึ่งมักกระตุ้นให้อาการของโรครุนแรงขึ้น และบางชนิดก็เป็นสาเหตุให้เกิดอาการ ทั้งนี้ ชนิด/ประเภทอาหาร อาจแตกต่างกันได้ในแต่ละผู้ป่วย
- มีโรคภูมิแพ้ หรือโรคออโตอมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง
- สูบบุหรี่
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ปัญหาด้านอารมณ์/จิตใจ เช่น เครียด วิตกกังวล
โรคไอซี/บีพีเอสมีอาการอย่างไร?
อาการจากโรคไอซี/บีพีเอส ได้แก่
- ปวดเรื้อรังบริเวณกระเพาะปัสสาวะ เวลาปัสสาวะ ปัสสาวะแสบขัด
- ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่ได้
- ปวดท้องน้อยเรื้อรัง
- เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์
- อาจร่วมกับมีอาการปวดกล้ามเนื้ออื่นๆเรื้อรัง หรืออาการของลำไส้แปรปรวน (ท้องผูก สลับท้องเสียเรื้อรัง)
แพทย์วินิจฉัยโรคไอซี/บีพีเอสอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคไอซี/บีพีเอสได้จาก การต้องแยกโรคจากสาเหตุอื่นๆออกไปก่อน (เช่น โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบติดเชื้อ, โรคนิ่วในไต, โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ, โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ และ การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน) ก่อนจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ ทั้งนี้ การวินิจฉัยแยกโรคที่สำคัญ คือ
- จากกาซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ การเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ประวัติครอบครัว
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจภายใน (ในผู้หญิง)
- การตรวจปัสสาวะ /(ปัสสาวะ การตรวจปัสสาวะ)
- การตรวจเชื้อ ร่วมกับการตรวจเพาะเชื้อ จากปัสสาวะ
- ตรวจเพาะเชื้อจากสารคัดหลั่งจากต่อมลูกหมาก (ในผู้ชาย)
- ตรวจเพาะเชื้อจากสารคัดหลั่งจากช่องคลอด (ในผู้หญิง)
- อาจตรวจภาพกระเพาะปัสสาวะและท้องน้อย/อุ้งเชิงกรานด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ /ซีทีสแกน หรือ เอมอาร์ไอ
- การส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ
- การตัดชิ้นเนื้อจากผนังกระเพาะปัสสาวะ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
รักษาโรคไอซี/บีพีเอสอย่างไร?
เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ แนวทางการรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการเพื่อช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วย ยังไม่มีวิธีรักษาที่ทำให้โรคหายขาด
การรักษาบรรเทาอาการมีได้หลายวิธี แพทย์จะเลือกใช้วิธีการใดก่อน หรือหลัง หรือใช้หลายวิธีร่วมกัน ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งเมื่อการรักษาวิธีแรกไม่ได้ผล แพทย์ก็จะเปลี่ยนไปใช้วิธีการอื่นๆต่อไป
ทั้งนี้ในทุกๆวิธีการ จะต้องรักษาควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยจะต้องสังเกตตนเองว่า อะไร สิ่งใด เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ และ/หรือทำให้อาการรุนแรงขึ้น ก็จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงนั้นๆ เช่น การสูบบุหรี่ หรือ หลีกเลี่ยงอาหารในกลุ่ม 4 C ดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ เป็นต้น
วิธีรักษาต่างๆ เช่น
- การกินยาต่างๆ เช่น
- ยาต้านการอักเสบในกลุ่มเอนเสดส์ (NSAIDs)
- ยาในกลุ่ม Antihistamine
- ยาในกลุ่มที่ใช้รักษาอาการเจ็บ/ปวดจากเส้นประสาท เช่นยา Amitriptyline
- ยาที่ช่วยปกป้องเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ เช่นยา Pentosan polysulfate sodium
- และ/หรือ ยารักษา
- การสวนใส่ยาต่างๆเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะโดยตรง ผ่านทางการส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ (Instillation) เช่นยา Sodium Hyaluronate หรือ Chondroitin sulfate หรือใช้ยาหลายๆตัวผสมกัน เช่น Heparin ผสมกับ ยาชา และยา Sodium hyaluronate
- การยืดขยายกระเพาะปัสสาวะโดยการใส่น้ำเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ (Hydrodistension) ซึ่งวิธีนี้ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาในขณะดมยาสลบ
- การถ่างขยายท่อปัสสาวะ เมื่อพบมีท่อตีบตัน
- การผ่าตัด โดยการผ่าตัดแผลที่ผนังกระเพาะปัสสาวะออก หรือ การจี้แผล หรือ เส้นประสาทกระเพาะปัสสาวะ ด้วยไฟฟ้า หรือ เลเซอร์ อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยการผ่าตัดด้วยวิธีต่างๆยังให้ผลการรักษาไม่ดีนัก ผู้ป่วยบางรายอาการดีขึ้นแต่เพียงชั่วคราว บางรายการรักษาไม่ได้ผล
- การให้ยาแก้ปวดต่างๆ เช่น ยาในกลุ่มมอร์ฟีน
- การทำกายภาพบำบัดกล้ามเนื้อและประสาทต่างๆในท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน
- การแพทย์สนับสนุนวิธีต่างๆ เช่น การฝังเข็ม และ/หรือวิธีฝึกควบคุมอาการ ที่เรียกว่า Biofeedback
โรคไอซี/บีพีเอส รุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
โรคไอซี/บีพีเอส เป็นโรคที่ไม่ทำให้เสียชีวิต แต่เรื้อรัง และส่งผลต่อคุณภาพชีวิต จากอาการเจ็บ/ปวดกระเพาะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เพราะจะส่งผลต่อการเข้าสังคม และการงาน รวมทั้งชีวิตครอบครัวจากการเจ็บ/ปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ผู้ป่วยจึงมักมีปัญหาในการใช้ชีวิต รวมทั้งปัญหาด้านอารมณ์/จิตใจเสมอ
อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยที่ผนังกระเพาะปัสสาวะอักเสบชนิดนี้ไม่มาก และดูแลตนเองได้ดี อาการอาจหายเป็นปกติได้ในระยะเวลาเป็นเดือน โดยอาจมีอาการกลับมาได้เป็นครั้งคราวนานๆครั้ง, บางรายการรักษาได้ผล แต่มีการกลับเป็นซ้ำได้บ่อย , บางรายอาการอาจมีอยู่อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายๆปี หรือบางรายอาการไม่ดีขึ้นถึงแม้จะรักษาด้วยวิธีการต่างๆแล้ว
โดยจากการศึกษาต่างๆพบว่า
- ประมาณ 24-45% ของผู้ป่วยภายหลังได้รับการรักษา อาการจะดีขึ้น
- ประมาณ 27-49% อาการเหมือนเดิม
- และประมาณ 25-30% อาการจะเลวลง
ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์เมื่อไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองที่สำคัญที่สุด คือ เมื่อมีอาการผิดปกติทางการปัสสาวะ รวมทั้งอาการดังกล่าวใน ’หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เพราะอาการเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากโรคที่รักษาได้ เช่น โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการติดเชื้อ เป็นต้น
ส่วนเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคไอซี/บีพีเอส การดูแลตนเอง การพบแพทย์/การมาโรงพยาบาล คือ
- ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
- เข้าใจ และยอมรับธรรมชาติของโรค รักษาสุขภาพจิต ผ่อนคลาย ไม่เครียดจนเกินเหตุ
- สังเกตปัจจัยเสี่ยง/ตัวกระตุ้นอาการ แล้วปรับพฤติกรรม หลีกเลี่ยงสิ่งนั้น
- รักษา ควบคุมโรคที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยง
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคซ้อน ซึ่งจะส่งผลให้อาการจะรุนแรงขึ้น
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาบตามแพทย์นัดเสมอ
- รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง หรือมีอาการผิดปกติไปจากเดิม
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ มาก ปวดท้องตรงลิ้นปี่ต่อเนื่อง
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันโรคไอซี/บีพีเอสอย่างไร?
เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค ปัจจุบันจึงยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคไอซี/บีพีเอส ยกเว้นการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ที่อาจทำให้เกิด หรือทำให้อาการโรครุนแรงขึ้น ดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อปัจจัยเสี่ยงฯ’ เช่น สูบบุหรี่ อาหารในกลุ่ม 4 C และปัญหาทางอารมณ์/จิตใจ รวมทั้งการรักษาควบคุมโรคที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยง
เก็บน้ำมันทีทรีอย่างไร?
- Hanno,P. (2002). Interstitial cystitis. Reviews in Urology. 4.53-58.
- Hill,J. et al. (2008). Patient perceived outcomes of treatments used for interstitial cystitis. Urology.71, 62-66.
- MacDiarmid,S., and Sand,P. (2007). Diagnosis of interstitial cystitis/painful bladder syndrome in patient with over active bladder symptoms. Reviews in Urology.9, 9-16.
- Whitmore,K., and Theoharides,T. (2011). When to suspect interstitial cystitis. Journal of Family Practice.60,340-348.
- https://www.auanet.org/guidelines/interstitial-cystitis/bladder-pain-syndrome-(2011-amended-2014)[2019,Oct12]
- http://en.wikipedia.org/wiki/Interstitial_cystitis[2019,Oct12]
- https://www.urologyhealth.org/urologic-conditions/interstitial-cystitis[2019,Oct12]
- http://en.wikipedia.org/wiki/Mast_cell[2019,Oct12]
- https://emedicine.medscape.com/article/2055505-overview#showall[2019,Oct12]