กระดูกอักเสบ (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

กระดูกอักเสบ-3

      

      สำหรับอาการแทรกซ้อนของโรคกระดูกอักเสบ ได้แก่

  • โรคหัวกระดูกสะโพกตาย (Osteonecrosis) เพราะการติดเชื้อในกระดูกจึงกีดขวางการไหลเวียนของเลือดในกระดูก เป็นสาเหตุทำให้กระดูกตาย
  • ข้ออักเสบติดเชื้อ หรือข้อติดเชื้อ (Septic arthritis)
  • โตช้าในเด็ก (Impaired growth) เพราะโรคกระดูกอักเสบเกิดบริเวณแผ่นการเจริญเติบโตของกระดูก (Growth plates)
  • โรคมะเร็งผิวหนัง กรณีที่ต้องมีการเปิดผิวหนังเพื่อให้หนองไหลออก อาจทำให้ผิวหนังบริเวณใกล้เคียงมีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งผิวหนังชนิด Squamous cell cancer
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันไม่ดี เช่น ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษาโรคมะเร็ง

      แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้จาก

  • การตรวจเลือด (Blood tests) ด้วยการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count = CBC) เพื่อดูระดับของเซลล์เม็ดเลือดขาว การวัดการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง (Erythrocyte sedimentation rate= ESR) การตรวจโปรตีนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อการอักเสบ (C-reactive protein = CRP)
  • การเพาะเชื้อ (Blood culture) เพื่อดูชนิดของเชื้อ ทำให้ใช้ยารักษาได้ถูกต้อง
  • ภาพวินิจฉัย เช่น เอ็กซเรย์ เอ็มอาร์ไอ ซีทีสแกน
  • ตัดชิ้นเนื้อจากกระดูกส่งตรวจ (Bone biopsy) ซึ่งจะทำให้ทราบชนิดของแบคทีเรียหรือเชื้อที่เป็น เพื่อทำการรักษาได้ถูกต้อง

      ทั้งนี้ การรักษาจะเน้นไปที่การฆ่าเชื้อและรักษาอวัยวะให้ทำหน้าที่ได้ ซื่งส่วนใหญ่จะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) การผ่าตัด หรือทั้งสองอย่าง แต่การรักษาโรคกระดูกอักเสบแบบรุนแรงหรือเรื้อรังมักใช้การผ่าตัด ซึ่งอาจทำได้หลายวิธี เช่น

  • ผ่าเอาหนองออกจากบริเวณที่ติดเชื้อ (Drainage)
  • ตัดกระดูกที่ติดเชื้อและเนื้อเยื่อโดยรอบออก (Debridement)
  • ทำทางไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงกระดูกใหม่ เช่น การปลูกถ่ายกระดูกหรือเนื้อเยื่อเพื่อสร้างกระดูกใหม่
  • เอาวัตถุแปลกปลอกออก เช่น สกรูหรือแผ่นโลหะที่เคยใส่เมื่อการผ่าตัดครั้งก่อน
  • กรณีที่แย่ที่สุดจะใช้การตัดอวัยวะนั้นๆ ออก (Amputation) เพื่อหยุดการติดเชื้อไม่ให้ลามไปยังส่วนอื่น

      ส่วนการป้องกันโรคกระดูกอักเสบก็คือ ต้องรักษาความสะอาด หากเด็กถูกของมีคมบาด โดยเฉพาะบาดลึก ให้ล้างแผลให้สะอาดด้วยการเปิดน้ำให้ผ่านเป็นเวลา 5 นาที แล้วปิดด้วยผ้าปิดแผล กรณีที่เป็นโรคเบาหวาน ต้องให้ความใส่ใจกับเท้าให้มาก และไปพบแพทย์ทันทีที่มีอาการของการติดเชื้อ เนื่องจากยิ่งทำการรักษาได้เร็วเท่าไรยิ่งมีผลดีเท่านั้น

      นอกจากนี้ การหยุดสูบบุหรี่จะช่วยทำให้รักษาได้เร็วขึ้น

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Osteomyelitis. https://www.webmd.com/diabetes/osteomyeltis-treatment-diagnosis-symptoms#1 [2018, February 6].
  2. Osteomyelitis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/osteomyelitis/symptoms-causes/syc-20375913 [2018, February 6].
  3. Osteomyelitis. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/9495-osteomyelitis [2018, February 6].