กระดูกคอเสื่อม : กายภาพบำบัด (Physical therapy for Cervical Spondylosis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

กระดูกคอเสื่อมคืออะไร?

กระดูกคอเสื่อม (Cervical Spondylosis) เป็นโรคที่พบบ่อยในกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นกลุ่มของโรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกคอ/กระดูกสันหลังคอ(Degenerative Diseases of the Cervical Spine) โดยปกติแล้วกระดูกสันหลังส่วนคอของมนุษย์ประกอบไปด้วยกระดูกทั้งหมด 7 ชิ้นเรียงต่อกัน ระหว่างกระดูกสันหลังคอแต่ละชิ้นจะมีหมอนรองกระดูกคอ(Cervical Disc)รองอยู่ นอกจากนี้ระหว่างกระดูกคอแต่ละชิ้นจะมีเส้นประสาทยื่นออกมาด้วย

กระดูกและหมอนรองกระดูกคอช่วยให้การเคลื่อนไปไปในทิศทางต่างๆ เช่น การเอียง การก้ม การเงย ให้เป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ แต่เมื่ออายุมากขึ้นระบบอวัยวะต่างๆในร่างกายเสื่อมสภาพลง หมอนรองกระดูกก็เช่นกันที่เสื่อมลง ไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ภายในได้เหมือนในช่วงที่ร่างกายสมบูรณ์ ส่งผลให้ความกว้างของช่องหว่างระหว่างกระดูกคอแต่ละชิ้นลดลง ส่งผลต่อเนื่องให้กระดูกคอมีการเสียดสีกันเมื่อมีการเคลื่อนไหวของคอ ข้อต่อที่เสียดสีกันมากๆและซ้ำๆนั้น จะค่อยๆเกิดการอักเสบ และอาจสร้างหินปูนเล็กๆขึ้นมา เพื่อรองรับและกระจายแรงที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหว ช่องว่างระหว่างกระดูกคอและหินปูนที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการรบกวนการทำงานของเส้นประสาท และเกิดอาการผิดปกติตามมา

อาการของโรคกระดูกคอเสื่อมคืออะไร?

กระดูกคอเสื่อม_กายภาพบำบัด

อาการของโรคกระดูกคอเสื่อม สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1. กลุ่มอาการที่เกิดจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูกและภาวะกระดูกคอเสื่อมโดยตรง (Symptomatic Degeneration): เช่น มีการปวดตามแนวของกระดูกสันหลังส่วนคอ (Axial Neck Pain) เนื่องจากมีพยาธิสภาพที่กระดูกคอหลายตำแหน่ง การเคลื่อนไหวคอเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก

2. กลุ่มอาการที่เกิดจากเส้นประสาทคอถูกกดทับ (Cervical Radiculopathy): อาการที่พบได้มีด้วยกันหลายอาการ เช่น

  • ในระยะแรก อาจพบเพียงการปวดร้าวจากต้นคอลามลงไปที่แขนข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
  • เมื่ออาการรุนแรงขึ้น อาจจะพบว่ามีอาการชา
  • และถ้าการกดทับรุนแรงมากขึ้นไปอีก อาจจะพบว่ามีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนร่วมด้วย

3. กลุ่มอาการของไขสันหลังบริเวณคอถูกกดทับ (Cervical Myelopathy): อาจจะพบอาการปวดไม่มาก แต่อาการเด่นชัดคือ ผู้ป่วยมักจะมีอาการอ่อนแรงของขา เดินได้ไม่มั่นคง หรือเซ ความตึงตัวของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ(Muscle Tone)ผิดปกติ เช่น มีอาการเกร็งแข็งขึ้นเป็นลำชัดเจน เป็นต้น ซึ่งในผู้ป่วยบางรายอาจพบว่า

  • กลืนลำบากเนื่องจากหินปูที่งอกไปเบียดหลอดอาหาร
  • หูอื้อ เวียนศรีษะ มีเสียงในหูตลอดเวลา เนื่องจากที่ปูนที่งอกไปกดหลอดเลือดแดง (Vertebral arteries)ของ บริเวณศรีษะ หู และลำคอ

อนึ่ง: ทั่วไปสามารถพบว่า ผู้ป่วยมีอาการร่วมกันมากกว่าหนึ่งกลุ่มอาการ ทั้งนี้ข้อสังเกตที่สำคัญคือ อาการในสองกลุ่มแรกนั้น จะเป็นมากเมื่อนั่งทำงานไปสักพัก และจะดีขึ้นเมื่อได้พัก หรือเอนตัวลงนอนสักระยะ

การวินิจฉัยโรคกระดูกคอเสื่อมในทางกายภาพบำบัดทำได้อย่างไร?

โดยมากผู้ป่วยที่มาพบนักกายภาพบำบัดด้วยโรคกระดูกคอเสื่อม มักจะถูกส่งต่อมาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ หรือระบบบบประสาท ผู้ป่วยจึงมักได้รับการตรวจวินิจฉัยยืนยันด้วยการถ่ายภาพเอกซเรย์(X-ray) หรือการถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามาแล้ว(MRI)ของกระดูกคอ

อย่างไรก็ตาม นักกายภาพบำบัดมีหน้าที่ตรวจสอบซ้ำเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยมีอการของโรคกระดูกคอเสื่อมจริงก่อนให้การรักษา นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้จากการประเมิณซ้ำยังสามารถทำให้ทราบถึงความรุนแรงของอาการเพื่อที่จะนำมาวางแผนการรักษ่ที่เหมาะสมอย่างถูกต้องต่อไปด้วย

นักกายภาพบำบัด อาจจะเริ่มจากทบทวนข้อมูลของผู้ป่วยที่แพทย์ได้บันทึกไว้ ดูฟิล์มเอ็กซเรย์ที่แพทย์ส่งมาพร้อมกับประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย นอกจจากนี้ การซักประวัติทางการแพทย์ก็เป็นส่วนสำคัญอย่างมาก ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า พยาธิสภาพของโรคกระดูกคอเสื่อมนั้นมีความสัมพันธ์กับอายุ การซักถามถึงกิจกรรมกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอาการ และกิจกรรมที่ทำให้อาการลดลงก็เป็นเรื่องสำคัญมาก

จากการซักประวัติฯ อาจจะพบว่ามี อาการปวดต้นคอ ร้าวลงมาที่แขน เมื่อทำการตรวจร่างกายด้วยการคลำ (Palpation) อาจจะพบความตึงตัวของกล้ามเนื้อคอ บ่า และสะบักทั้งสองข้างผิดปกติ

นอกนี้จากตรวจวินิจฉัยทางระบบประสาท เช่น การทดสอบรีเฟลกซ์ (Reflex), การตรวจการรับรู้ความรู้สึก(Sensation Testing), หรือการตรวจกำลังของกล้ามเนื้อ(Muscle Power), ก็มีส่วนสำคัญมากสำหรับในผู้ป่วยบางรายที่สงสัยว่ามีการกดทับของเส้นประสาท

การฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดของโรคกระดูกคอเสื่อมมีอะไรบ้าง?

การรักษา/ฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกคอเสื่อมมักเป็นไปในทางประคับประคอง ป้องกัน ไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น และทำให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติที่สุด โดยกายรักษากายภาพบำบัดสำหรับอาการนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ตามวัตถุประสงค์การรักษาคือ

1. ลดอาการปวด: นักกายภาพบำบัดมีวิธีการลดอาการปวดด้วยกันหลายวิธี เช่น การประคบร้อน การประคบเย็น รวมถึงการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดอื่นๆ เช่น อัลตราซาวด์ (Ultrasound), รังสีคลื่นสั้น (Shot wave), แต่เครื่องมือลดปวดทั้งหลายที่ได้กล่าวไปนั้น เป็นการบรรเทาอาการปวดที่ปลายเหตุเท่านั้น

สำหรับในกลุ่มของผู้ป่วยโรคกระดูกคอเสื่อม นักกายภาพบำบัดมักจะนิยมเลือกให้การรักษาด้วยการดึงคอ(Cervical Traction) และการรักษาด้วยมือ (Manual Therapy)

การดึงคอนั้นสามารถทำได้ทั้งใช้เครื่องดึงคอ (Cervical Traction Machine) หรือใช้แรงจากนักกายภาพบำบัดเอง สามารถทำได้ทั้งในท่านั่งและในท่านอน แต่สามารถพบเห็นเครื่องดึงคอในท่านั่งได้บ่อยกว่า

ก. โดยมาก นิยมใช้เครื่องดึง เพราะสามารถควบคุมแรงที่ ใช้บำบัดได้ตลอดการรักษา เริ่มจากนักกายภาพบำบัดขอให้ผู้ป่วยขึ้นนั่งบนเก้าอีกที่สามารถปรับองศาได้ เพื่อควบคุมให้แรงดึงตรงกับกระดูกคอส่วนที่มีปัญหา จากนั้นใช้สายรัดคล้องบริเวณใต้ขากรรไกรล่าง และท้ายท้อยก่อนจะห้อยติดกับเครื่อง

ขั้นตอนการจัดตำแหน่งของสายคล้อง และองศาเก้าอี้สำคัญมาก หากรู้สึกไม่สบายตัว นั่งได้ไม่มั่นคง ควรแจ้งนักกายภาพบำบัดทันที จากนั้นนักกายภาพบำบัดจะใช้สายคล้องเข้ากับเครื่องมือที่อยู่บนเหนือศรีษะของผู้ป่วย ก่อนจะปรับตั้งค่าน้ำหนัก, ระยะเวลาที่ใช้ดึง, และระยะเวลาที่ออกแรงดึงต่อระยะที่ปล่อย, ซึ่งขึ้นกับความรุนแรงของอาการผู้ป่วย โดยทั่วไปใช้เวลา 15-20 นาที น้ำหนักสูงสุดที่ใช้ดึงคอได้ คือ 10 เปอร์เซนต์ของน้ำหนักตัว

ขณะดึงคอ ผู้ป่วยจะรู้สึกถึงแรงดึงและปล่อยเป็นระยะ รู้สึกตึงที่ก้านคอเบาๆ หากรู้สึกปวดมากขึ้น ปวดร้าวลงไปที่แขนมากกว่าอาการที่มาพบนักกายภาพบำบัด หรือมีอาการชาร้าวไปที่แขน *ควรรีบแจ้งนักกายภาพบำบัดทันที การดึงคอนี้จะช่วยให้ช่องหว่างระหว่างกระดูกคอที่แคบลง กว้างขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยยืดกล้ามเนื้อคอที่หดรั้งด้วย

ข. อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยมือก็ยังสามารถพบเห็นได้บ่อยในคลีนิคกายภาพบำบัด วิธีอาจแตกต่างกันไปตามอาการและความรุนแรงของโรค นักกายภาพบำบัดอาจจะขยับข้อต่อส่วนคอของผู้ป่วยเบาๆ เพื่อให้ข้อต่อที่ติดแข็งและเสียดสีกันมากเคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้มีการศึกษาหลายรายงาน แนะนำให้ระวังการรักษาชนิดนี้ในผู้ป่วยที่หินปูที่เกาะที่กระดูกคอมีขนาดใหญ่ เพราะอาจจะเพิ่มการระคายเคืองของเส้นประสาท และทำให้อาการผู้ป่วยแย่ลงได้

2. เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณคอ: ทำได้ด้วยการออกกำลังกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอให้แข็งแรงขึ้น ทั้งนี้มีข้อห้ามและข้อควรระวังสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายอย่างแตกต่าง จึงจะขอแนะนำอย่างคร่าวๆในส่วนของ ‘การดูแลฟื้นฟูตัวเองที่บ้าน’ ในหัวข้อถัดไปเท่านั้น

3. ส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติที่สุด: ทำได้ด้วยกันหลายวิธี เช่น

  • การให้ความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญ คือ
    • การหลีกเลี่ยงท่าทางที่สนับสนุนให้เกิดการกดทับของเส้นประสาทคอมากขึ้น
    • หรือท่าท่างที่จะตุ้นให้อาการปวดคอรุนแรงและเรื้อรังมากขึ้น เช่น ก้มคอเล่นโทรศัพท์มือถือหรือใช้คอมพิวเตอร์นานๆ หงายคว่ำอ่านหนังสือบนเตียง เป็นต้น
  • นอกจากนี้ ในผู้ป่วยบางรายที่อาการมีความรุนแรงมาก
    • นักกายภาพบำบัด อาจแนะนำให้ใส่เฝือกพยุงคอ เพื่อลดน้ำหนักของศรีษะที่กดลงบนกระดูกสันหลังส่วนคอ ซึ่งยังช่วยจำกัดการเคลื่อนไหวของคอที่อาจจะส่งผลให้อาการปวดมากขึ้นได้ด้วย

การฟื้นฟูและดูแลตนเองที่บ้านทำได้อย่างไรบ้าง?

ดังที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้นแล้วว่า โรคกระดูกคอเสื่อมเป็นโรคที่เกิดจากการใช้งานกระดูกคออย่างซ้ำๆ ต่อเนื่อ งตลอดช่วงอายุขัยที่ผ่านมา มีความสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น วิธีการรักษาการรักษาจึงมุ่งเน้นไปที่การประคับประคองไม่ให้อาการรุนแรงมากขึ้น และผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ ดังนั้น’การดูแลตนเองที่บ้าน’จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก โดยข้อแนะนำสำคัญสำหรับผู้ที่เป็นโรคกระดูกคอเสื่อมมีดังนี้

1. การปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน: โดยลดกิจกรรมที่เพิ่มการเสียดสีของกระดูกคอ เช่น

  • กินกรรมที่ต้องก้มๆ เงยๆ
  • เมื่อต้องเดินทางไกลๆ ควรหาหมอนรองคอมารองต้นคอไว้
  • และไม่ออกกำลังกายที่รุนแรงหรือมีแรงกระแทกมากๆ เป็นต้น

2. บรรเทาความปวดด้วยตัวเองอย่างถูกวิธี: โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคกระดูกคอเสื่อมมักมีอาการปวดต้นคอเป็นประจำ แนะนำให้

  • ประคบร้อน: โดยอาจจะใช้แผ่นประคบร้อนไฟฟ้าที่ตั้งอุณหภูมิและเวลาได้ หรือ อาจจะให้ผ้าชุบน้ำอุ่นปิดให้หมาดแล้วประคบไว้ก็ได้ อุณหถูมิที่แนะนำคือ ประมาณ 43.5-45.5 องศสาเซลเซียส(Celsius) ระยะเวลาที่แนะนำคือ15-20 นาที
  • ไม่แนะนำให้ไปนวดไทย คือดัดคอ เพราะจะยิ่งทำให้อาการปวดแย่ลง

3. การใช้อุกรณ์ช่วยให้สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ใกล้เคียงปกติ: ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

  • สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดต้นคอมาก อาจจะเป็นจะต้องใช้เฝือกพยุงคอ
  • นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนแรงของขาเนื่องจากไขสันหลังส่วนคอถูกกดทับ อาจจะมีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน การศึกษาวิธีใช้ที่ถูกต้องจากนักกายภาพบำบัดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

4. การออกกำลังเพิ่มความแข็งแรง(Isometric Strengthening Exercise)ของกล้ามเนื้อคอที่เหมาะสม: สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยตนเองที่บ้าน

  • เริ่มจากนั่งบนเก้าอี้ที่มั่นคง
  • ใช้มือข้างที่ถนัดวางบนหน้าผาก ก่อนจะออกแรงกดไปด้านหลังเบาๆ ในขณะเดียวกันคอก็ออกแรงเกร็งต้านในลักษณะสู้กับมือ ค้างไว้ 10 วินาที ที่สำคัญคือไม่ต้องออกแรงมากจนเห็นการเคลื่อนไหวของคอ
  • เปลี่ยนวางมือไว้ที่ท้ายทอย และขมับทั้งสองข้างก่อนจะออกแรงในลักษณะต้านกันเช่นเดิม
  • ทุกท่า ทำ 3 เซต วันละ 1-2 ครั้ง

5. ยืดกล้ามเนื้อ(Stretching Exercise)เพื่อลดอาการปวดตึงกล้ามเนื้อคอและบ่า: ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า ผู้ป่วยโรคกระดูกคอเสื่อมมักจะมีอาการปวดคอ นอกจากนี้ยังอาจจะพบว่ามีความตึงตัวของกล้ามเนื้อคอเพิ่มขึ้น การยืดกล้ามเนื้อคอสามารถช่วยลดอาการปวดและความตึงตัวลงได้ โดยวิธีการง่ายๆที่แนะนำคือ

  • ก้มเหมือนมองรักแร้ด้านใดด้านหนึ่ง ใช้มือข้างเดียวกับด้านที่หันไปอ้อมไป จับบริเวณท้ายทอย ก่อนจะออกแรงกดลงเล็กน้อย จนรู้สึกตึงที่ท้ายท้อยและด้านข้างของต้นคอเล็กน้อย ค้างไว้ 10 วินาที
  • เปลี่ยนเป็นมองรักแร้อีกข้าง ทำซ้ำด้วยวิธีการเดิม และค้างไว้10 วินาทีเช่นกัน
  • ทำ 3 เซต วันละ 1-2 ครั้ง

*โดยข้อแนะนำเบื้องต้นทั้งหมดดังกล่าว หากทำแล้วมี อาการปวด, ชา, หรืออาการผิดปกติมากขึ้น, แนะนำให้หยุดทำ และรีบปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดทันที

สรุป

โรคกระดูกคอเสื่อม เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนเมื่อมีอายุมากขึ้น วิธีการรักษาในปัจจุบัน มุ่งเน้นไปที่การประคับประคองอาการไม่ให้รุนแรงมากขึ้น และให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ การรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นทางเลือกท้ายๆ ที่จะพิจารณาเพราะมีค่าใช้จ่ายมาก ความเสี่ยงสูง และผู้ป่วยอาจจะต้องใช้เวลาฟื้นฟูหลังรับการผ่าตัดอีกมาก กายภาพบำบัดจึงเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการฟื้นฟูและประคับประคองผู้ป่วยกลุ่มนี้

นอกจากนี้ แม้ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน และต้องพิจารณารับการผ่าตัด กายภาพบำบัดก็มีส่วนสำคัญมากทั้งในการเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัด, และการฟื้นฟูหลังจากผ่าตัด,

หากมีข้อสงสัยเรื่องกายทำกายภาพบำบัด จึงควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที

บรรณานุกรม

  1. ต่อพงษ์ บุญมาประเสริฐ. DEGENERATIVE DISEASES OF THE CERVICAL SPINE. หน่วยโรคกระดูกสันหลัง ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
  2. Boyles, Robert et al. “Effectiveness of manual physical therapy in the treatment of cervical radiculopathy: a systematic review.” The Journal of manual & manipulative therapy vol. 19,3 (2011): 135-42.
  3. Thoomes, E J. “Effectiveness of manual therapy for cervical radiculopathy, a review.” Chiropractic & manual therapies vol. 24 45. 9 Dec. 2016.