กระดูก (Bone) กระดูกอ่อน (Cartilage)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 3 กันยายน 2556
- Tweet
- กระดูก คือ อวัยวะที่เป็นโครงร่างของร่างกาย มีลักษณะแข็งตายตัว ไม่ยืดหยุ่น (Rigid) เป็นอวัยวะที่มีหน้าที่
- ทำให้เกิดรูปร่าง
- คงรูปร่าง
- ช่วยปกป้องอวัยวะภายในต่างๆ
- ช่วยในการเคลื่อนไหว
- ช่วยถ่ายทอดสัญญาณเสียง เช่น กระดูกหู เป็นต้น
- เป็นแหล่งสะสมเกลือแร่ของร่างกาย เช่น แคลเซียม และ ฟอสฟอรัส (Phosphorus)
- ช่วยกำจัดสารพิษบางชนิด เช่น โลหะหนักต่างๆ (เช่น ตะกั่ว) โดยนำสารพิษเหล่านั้นมาสะสมไว้ในกระดูกเพื่อลดปริมาณสารเหล่านั้นในเลือด
นอกจากนั้นในโพรงกระดูก ยังมีเนื้อเยื่อที่เรียกว่า ไขกระดูก ที่มีหน้าที่สร้างเม็ดเลือดต่างๆของร่างกาย
ในทารกแรกเกิด ร่างกายจะมีกระดูกทั้งหมด 270 ชิ้น แต่เมื่อเจริญเติบโตขึ้นเป็นผู้ ใหญ่ กระดูกบางชิ้นจะเชื่อมต่อกันจนกลายเป็นกระดูกชิ้นเดียวกัน ดังนั้นในผู้ใหญ่ จึงมีกระดูกทั้งหมด 206 ชิ้น โดยกระดูกชิ้นที่ยาวที่สุดของร่างกาย คือ กระดูกต้นขา (Femur) ส่วนชิ้นที่เล็กที่สุด คือ กระดูกของหูชั้นกลาง (Auditory ossicles )
โครงสร้างหลักของกระดูกจะเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เส้นใยคอลลาเจน และมีส่วน ประกอบเป็นแร่ธาตุหลายชนิด แต่ที่มีปริมาณมากที่สุดและสำคัญที่สุด คือ แคลเซียม และ ฟอสฟอรัส
โรคกระดูกที่พบได้บ่อย คือ กระดูกหัก และ โรคกระดูกพรุน
- กระดูกอ่อน เป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันอีกชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในหลายอวัยวะทั่วร่างกาย เช่น ที่ส่วนปลายของกระดูกของข้อต่างๆ เป็นส่วนโครงร่างของ ใบหู ของจมูก และของหลอดลม และเป็นส่วนหนึ่งของหมอนรองกระดูกสันหลัง เป็นต้น
กระดูกอ่อน ประกอบด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และสารโปรตีนหลายชนิด เช่น คอลลาเจน โดยมีลักษณะอ่อนนุ่มกว่ากระดูก (เพราะไม่มีการจับเกาะของแคลเซียม) แต่แข็งกว่ากล้าม เนื้อมาก จึงยังสามารถเป็นเนื้อเยื้อที่ให้โครงร่างของอวัยวะได้ โดยยืดหยุ่นและนิ่มกว่ากระดูก แต่เมื่อกระดูกอ่อนเสื่อมคุณภาพลง จะมีแคลเซียมมาจับเกาะ จนกลายเป็นกระดูกได้
กระดูกอ่อน มีหน้าที่
- ช่วยคงรูปร่างในบางอวัยวะ ที่ต้องการความยืดหยุ่นและอ่อนนุ่ม เช่น ท่อลม ใบหู จมูก เป็นต้น
- ช่วยการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในตำแหน่งที่มีการเสียดสี เช่น ข้อต่างๆ เนื่องจากเซลล์ของกระดูกอ่อนสามารถสร้างสารบางชนิดที่ช่วยการหล่อลื่นได้ เช่น สารในกลุ่ม Glycoprotein เป็นต้น
โรคของกระดูกอ่อนที่พบได้บ่อย มักเกิดจากการเสื่อมตามอายุ เช่น ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง โรคข้อเสื่อม เป็นต้น
บรรณานุกรม
- Bone http://en.wikipedia.org/wiki/Bone [2013,July8 ].
- Cartilage http://en.wikipedia.org/wiki/Cartilage [2013,July8].
- Structure and composition of bone http://www.doitpoms.ac.uk/tlplib/bones/structure.php [2013,July8].