กรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic acid)/Hyaluronan/Hyaluronate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 19 มกราคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- กรดไฮยาลูรอนิคมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- กรดไฮยาลูรอนิคมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- กรดไฮยาลูรอนิคมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- กรดไฮยาลูรอนิคมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
- กรดไฮยาลูรอนิคมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้กรดไฮยาลูรอนิคอย่างไร?
- กรดไฮยาลูรอนิคมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษากรดไฮยาลูรอนิคอย่างไร?
- กรดไฮยาลูรอนิคมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ข้อเสื่อม เข่าเสื่อม (Osteoarthritis)
- ข้อเสื่อม เข่าเสื่อม (Osteoarthritis)
- ตาแห้ง (Dry eye)
- น้ำตาเทียม (Artificial tears)
- โรคข้อ (Joint disease)
บทนำ
ยากรดไฮยาลูรอนิค(Hyaluronic acid ย่อว่า HA หรือชื่ออื่น คือ Hyaluronan หรือ Hyaluronate) เป็นสารประกอบประเภทโพลีเมอร์(Polymer,คือสารเคมีที่มีส่วนประกอบเป็นโมเลกุลของสารต่างๆ เช่น สารโปรตีน น้ำตาลประเภทหลายโมกุล/ Polysaccharide และนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย เช่น ในอุตสาหรรม พลาสติก ไนลอน วัสดุทางการแพทย์ และยาบางชนิด)ที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า Nonsulfated glycosaminoglycan ซึ่งพบตามเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เนื้อเยื่อของผิวหนัง และเนื้อเยื่อของระบบประสาท
กรดไฮยาลูรอนิค เป็นส่วนประกอบหลักของน้ำไขข้อ/น้ำ/ของเหลวที่หล่อเลี้ยงข้อ ที่คอยทำหน้าที่หล่อลื่นข้อต่างๆ ที่สำคัญคือ ข้อเข่า และช่วยนำสารอาหารไปเลี้ยงกระดูกอ่อน(Articular cartilage) หากเฉลี่ยน้ำหนักตัวของคนปกติ 70 กิโลกรัม พบว่าในร่างกายจะมีกรดไฮยาลูรอนิคอยู่ประมาณ 15 กรัม และประมาณ 1 ใน 3 ของกรดชนิดนี้จะถูกทำลายและถูกสร้างขึ้นมาใหม่ภายในแต่ละวัน
ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์สามารถใช้พันธุวิศวกรรมทำให้แบคทีเรียที่ชื่อว่า Bacillus subtilis สังเคราะห์กรดไฮยาลูรอนิคได้สำเร็จ และในทางคลินิกนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้กรดนี้ มาเป็นยาบำบัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม(Osteoarthritis of the knee) และภาวะอักเสบรอบข้อไหล่ (Scapulohumeral periarthritis) โดยมีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยาฉีด ผู้ป่วยที่ต้องฉีดยากรดไฮยาลูรอนิคมักจะเป็นกลุ่มที่เคยใช้ยาแก้ปวดแล้วไม่ได้ผล การฉีดกรดชนิดนี้เข้าในข้อเข่า หรือในข้อไหล่ จะทำให้เกิดการหล่อลื่นรวมถึงช่วยลดแรงกระแทกต่างๆที่บริเวณข้อเหล่านั้นอีกด้วย
ก่อนที่จะใช้ยากรดไฮยาลูรอนิคในการรักษาข้อเสื่อม ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจจากแพทย์ทางกระดูกเสียก่อน หลังการประเมินผลของแพทย์ แล้วพบว่าตัวยานี้ปลอดภัยและเหมาะสมต่อการใช้กับผู้ป่วย แพทย์จะทำการนัดหมายให้ผู้ป่วยมารับการฉีดยานี้ในสถานพยาบาล ผู้ป่วยบางกลุ่มเช่น เด็ก สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร อาจไม่เหมาะต่อการใช้ยานี้ ด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุนความปลอดภัยของการใช้
ทั้งนี้ มีข้อควรระวังปลีกย่อยของการใช้ยากรดไฮยาลูรอนิคชนิดฉีด เช่น
- ยานี้อาจทำให้เกิดอาการแพ้ยาจากโปรตีนของแบคทีเรียที่ใช้สังเคราะห์ตัวยานี้
- อาจเกิดอาการแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยานี้
- อาจเกิดการติดเชื้อในบริเวณข้อที่ได้รับการฉีดยานี้
- หลังจากที่ได้รับการฉีดยากรดไฮยาลูรอนิคเข้าข้อแล้ว โดยเฉพาะข้อเข่า ให้หลีกเลี่ยงการใช้ข้อนั้นๆในลักษณะรุนแรง หลีกเลี่ยงกิจกรรมบางอย่าง เช่น การวิ่งออกกำลังกาย การยกของหนัก การยืนเป็นเวลานานๆ เป็นต้น
ยากรดไฮยาลูรอนิค สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่พบเห็นบ่อย อาทิเช่น การเคลื่อนไหวของข้อที่เพิ่งได้รับการฉีดยานี้จะทำได้น้อยลง ปวดกล้ามเนื้อ และปวดข้อ นั้นๆมากขึ้น เป็นต้น
คณะกรรมการอาหารและยาของไทย ได้ระบุให้ยากรดไฮยาลูรอนิคจัดอยู่ในประเภทยาอันตราย การใช้ยานี้จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น ซึ่งเราสามารถพบเห็นการใช้ยากรดชนิดนี้ได้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนโดยทั่วไป
หมายเหตุ: กรดไฮยาลูรอนิคยังสามารถนำไปใช้เป็น “น้ำตาเทียม (Artificial tear)” ซึ่งมีบทความที่อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com
กรดไฮยาลูรอนิคมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยากรดไฮยาลูรอนิคที่นำมาใช้เป็นเภสัชภัณฑ์จะถูกเปลี่ยนโครงสร้างเป็น Sodium hyaluronate เพื่อให้ง่ายต่อการใช้กับร่างกายมนุษย์ โดยมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ทางคลินิกดังนี้
- บำบัดรักษาอาการข้อเข่าเสื่อม และอาการอักเสบรอบข้อไหล่
- ใช้เป็นสารสำคัญของน้ำตาเทียม (Artificial tear)
- เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใช้บำรุงผิวพรรณ
กรดไฮยาลูรอนิคมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยากรดไฮยาลูรอนิค เป็นสารประเภทโพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharide/Polymer) มีคุณสมบัติเป็นสารหล่อลื่นของเนื้อเยื่อ เพื่อลดการเสียดสีในข้อต่อ/ข้อระหว่างกระดูกต่างๆ เช่น ข้อเข่า ข้อไหล่ และยังช่วยบรรเทาอาการเสื่อมของข้อดังกล่าว
นอกจากนั้น อีกหนึ่งกลไกคือใช้เป็นผลิตภัณฑ์น้ำตาเทียม เพื่อช่วยหล่อลื่นลูกตาโดยทำตัวเป็นฟิล์ม(Film,แผ่นบางๆ)บางๆ ลดอาการระคายเคืองในลูกตา เพื่อบรรเทาอาการตาแห้ง
กรดไฮยาลูรอนิคมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยากรดไฮยาลูรอนิคมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดบรรจุในหลอดพร้อมใช้ (Pre-fill) ขนาด 20 มิลลิกรัม/2มิลลิลิตร, 25 มิลลิกรัม/2.5มิลลิลิตร, และ 60 มิลลิกรัม/6มิลลิลิตร
- น้ำตาเทียม (ยาหยอดตา) ขนาดความเข้มข้น 0.18%
กรดไฮยาลูรอนิคมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยากรดไฮยาลูรอนิคมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา สำหรับรักษาข้อเสื่อม เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าข้อเข่า/ข้อไหล่ ขนาด 20 มิลลิกรัม/2มิลลิลิตร หรือ 25 มิลลิกรัม/2.5มิลลิลิตร 1 เข็ม อาทิตย์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3 – 5 สัปดาห์ต่อเนื่อง ทั้งนี้ ระยะเวลาในการใช้ยา ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
อ่านเพิ่มเติมเรื่อง วิธีการใช้น้ำตาเทียมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “ตาแห้ง” และเรื่อง “น้ำตาเทียม”
อนึ่ง:
- แพทย์อาจปรับขนาดการใช้ยานี้เป็น 60 มิลลิกรัม/6 มิลลิลิตร โดยขึ้นอยู่กับ ดุลยพินิจของแพทย์
- ห้ามฉีดยานี้ เข้าหลอดเลือด หรือเข้าข้อขณะที่ข้อดังกล่าวเกิดบาดแผลหรือมีการบาดเจ็บหรือมีการติดเชื้อ
- หลังการฉีดยานี้ ควรพักอยู่นิ่งๆประมาณ 24 – 48 ชั่วโมง ทั้งนี้เพื่อลด อาการปวดบวมบริเวณที่ฉีดยา และต้องหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะตับวาย
- ห้ามฉีดยานี้เข้าข้อของร่างกายพร้อมกับยาฉีดเข้าข้อชนิดอื่น เช่น ยาสเตียรอยด์
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยากรดไฮยาลูรอนิค ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือขึ้นผื่น แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยากรดไฮยาลูรอนิค อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
หากลืมมารับการฉีดยากรดไฮยาลูรอนิค ให้รีบติดต่อ แพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการนัดหมายมารับการฉีดยานี้โดยเร็ว
กรดไฮยาลูรอนิคมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากรดไฮยาลูรอนิค สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการเจ็บและพบผิวหนังบวมบริเวณที่ฉีดยา รู้สึกอุ่นและรู้สึกหนักบริเวณข้อที่ฉีดยานี้
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น อาจมีความรู้สึก คลื่นไส้ อาเจียน
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ เกิดภาวะช็อก
มีข้อควรระวังการใช้กรดไฮยาลูรอนิคอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยากรดไฮยาลูรอนิค เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น สีเปลี่ยน หรือมีผงเจือปน
- แจ้งแพทย์ทุกครั้งว่ามีการใช้ยาอื่นใดอยู่ก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน/ปฏิกิริยาระหว่างยา
- หากใช้ยานี้แล้วอาการป่วยยังไม่ดีขึ้น หรือกลับทรุดหนักลง ต้องรีบด่วนกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ปฏิบัติตัวตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมกรดไฮยาลูรอนิคด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
กรดไฮยาลูรอนิคมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยากรดไฮยาลูรอนิคมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาทาฆ่าเชื้อโรคทางผิวหนังประเภทที่มีโครงสร้างเป็นเกลือควอเทอร์นารี แอมโมเนียม(Quaternary ammonium salts) อย่างเช่นยา Benzalkonium chloride, Cetylpyridinium ก่อนการฉีดยากรดไฮยาลูรอนิค อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาในลักษณะของการตกตะกอนของยากรดไฮยาลูรอนิค นอกจากจะทำให้ประสิทธิภาพของยากรดไฮยาลูรอนิคเสียไป ยังอาจจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากการใช้ยากรดไฮยาลูรอนิคได้มากขึ้น จึงไม่ควรใช้ยาดังกล่าวร่วมกัน
อนึ่งยาทาฆ่าเชื้อโรคทางผิวหนังที่สามารถใช้ด้วยกันได้กับยากรดไฮยาลูรอนิค ได้แก่ แอลกอฮอล์ 70% หรือ Povidone iodine
ควรเก็บรักษากรดไฮยาลูรอนิคอย่างไร?
ควรเก็บยากรดไฮยาลูรอนิค ในช่วงอุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส(Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
กรดไฮยาลูรอนิคมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยากรดไฮยาลูรอนิคที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Hyalgan (ไฮอัลแกน) | Fidia |
Adant Dispo (แอแดนท์ ดิสโป) | Meiji |
Atri III (เอทรี 3) | Yoo Young Pharm |
Hyruan III (ไฮรูแอน ทรี) | LG Life Sciences |
Suplasyn (ซูพลาซิน) | Mylan |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ ที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น Healon, Hymoist, Hyvisc, Kineflex, Lghyal, Ryvisc, Synject
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/cons/hyaluronic-acid-injection.html [2016,Dec31]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Hyaluronic_acid [2016,Dec31]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/adant%20dispo/?type=brief [2016,Dec31]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/atri%20iii/?type=brief [2016,Dec31]
- https://www.drugs.com/ppa/hyaluronate-and-derivatives.html [2016,Dec31]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/benzalkonium-chloride-topical-with-sodium-hyaluronate-339-0-2083-0.html?professional=1 [2016,Dec31]
- http://www.fda.gov/downloads/AdvisoryCommittees/CommitteesMeetingMaterials/Drugs/DermatologicandOphthalmicDrugsAdvisoryCommittee/UCM168774.pdf [2016,Dec31]