กรดอะมิโนเลวูลินิก (Aminolevulinic acid)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยากรดอะมิโนเลวูลินิก (Aminolevulinic acid หรือ 5-Aminolevulinic acid หรือ 5 ALA หรือ Aminolevulinate) เป็นยาทาผิวภายนอก ทางคลินิกนำมาใช้บำบัดรักษาภาวะผิวหนังบนใบหน้าที่เกิดการหนาตัวมีลักษณะเป็นตุ่มหรือแผ่นแข็ง แห้งหยาบ ขรุขระ มีสะเก็ดหนาที่เรียกว่า ภาวะโรคแอคตินิค เคอราโตซิส (Actinic keratosis) โรคนี้สามารถพัฒนาไปเป็นมะเร็งผิวหนังชนิด Squamous cell carcinoma ได้ ยาอะมิโนเลวูลินิกเป็นกรดที่กระตุ้นให้ผิวหนังของมนุษย์มีความไวต่อแสงแดดและก่อให้เกิดการแพ้ได้ง่าย

กลไกการออกฤทธิ์ของยากรดอะมิโนเลวูลินิกจะเป็นลักษณะชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์ผิวหนังที่เป็นโรค Actinic keratosis โดยมักใช้ร่วมกับการฉายแสงบลูไลท์ (Blue light, แสงประเภทหนึ่งที่ให้สีน้ำเงินและเป็นแสงที่ตามองเห็นได้ โดยมีความยาวคลื่นในช่วง 450 - 495 nm/nanometre) ซึ่งช่วยทำให้การหนาตัวของผิวหนังลดลง

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยากรดอะมิโนเลวูลินิกจะเป็นของเหลวประเภทสารละลาย โดยต้องใช้ยานี้ตามคำแนะนำของแพทย์ ปกติหลังการทายานี้ต้องทิ้งไว้ให้ยาแห้งเอง ไม่ต้องล้างออกด้วยน้ำ ห้ามออกแดดและเลี่ยงแสงไฟภายในบ้านเพื่อป้องกันการแพ้ของผิวหนังต่อแสงไฟ ในวันถัดมาแพทย์จะทำการฉายแสงบลูไลท์ในบริเวณที่เป็นรอยโรคที่ทายานี้ไว้ ก่อนทำการฉายบลูไลท์ แพทย์จะทำการล้างกรดอะมิโนเลวูลินิกออกด้วยน้ำสะอาด ขณะทำการฉายแสงฯผู้ป่วยอาจรู้สึกแสบคันในบริเวณผิวหนังที่ได้รับการทายานี้ อาจพบอาการบวม แดง ซึ่งเป็นภาวะที่พบเห็นได้ตลอดที่ทำการรักษา โดยอาการจะดีขึ้นหลังเสร็จสิ้นการรักษาไปแล้วประมาณ 4 สัปดาห์ ซึ่งแพทย์จะไม่แนะนำการใช้ครีมหรือโลชั่นใดๆทาระงับอาการแพ้นี้

ยังมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่เหมาะสมต่อการใช้ยากรดอะมิโนเลวูลินิกนี้เช่น

  • เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยากรดอะมิโนเลวูลินิก
  • เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้แสงแดดหรือมีอาการแพ้ทางผิวหนังอย่างรุนแรง
  • สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยที่มีการใช้ยาอื่นๆบางประเภทอยู่ก่อน อาจต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยากรดอะมิโนเลวูลินิกด้วยการใช้ยาร่วมกันอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยากรดอะมิโนเลวูลินิกได้เพิ่มมากขึ้น ยากลุ่มดัง กล่าวเช่น Griseofulvin, ยากลุ่ม Phenothiazine, ยากลุ่ม Sulfonylureas, ยากลุ่ม Sulfona mides, Tetracycline และยากลุ่ม Thiazide

ยากรดอะมิโนเลวูลินิกจัดเป็นยาอันตราย ใช้ได้แต่ภายนอก การใช้ยานี้ได้อย่างถูกต้องปลอดภัย จะต้องกระทำแต่ในสถานพยาบาลและต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว

กรดอะมิโนเลวูลินิกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

กรดอะมิโนเลวูลินิก

ยากรดอะมิโนเลวูลินิกมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อรักษาอาการโรคผิวหนังประเภท Actinic keratosis

กรดอะมิโนเลวูลินิกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยากรดอะมิโนเลวูลินิกคือ ตัวยาจะเป็นสารที่มีฤทธิ์เป็นกรด จะคอยยับยั้งการแบ่งเซลล์ของผิวหนังที่เป็นโรค Actinic keratosis ทำให้เซลล์นั้นๆหยุดหรือชะลอการเจริญเติบโต ส่งผลให้อาการของโรคทุเลาลง จนเป็นเหตุให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

กรดอะมิโนเลวูลินิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยากรดอะมิโนเลวูลินิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาประเภทสารละลายขนาด 354 มิลลิกรัม/1.5 มิลลิลิตร

กรดอะมิโนเลวูลินิกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยากรดอะมิโนเลวูลินิกมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น

  • ผู้ใหญ่: การใส่/ทายากรดอะมิโนเลวูลินิกจะต้องใช้อุปกรณ์การใส่ยาที่ผนึกมาพร้อมกับตัวผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป แพทย์จะเป็นผู้ใส่/ทายาในบริเวณผิวหนังที่เป็นรอยโรค หลังการทายานี้ 1 ครั้งจะเว้นช่วงเวลาอีกประมาณ 12 - 24 ชั่วโมงเพื่อทำการฉายแสงบลูไลท์ (Blue light) การรักษาจะกระทำอย่างต่อเนื่อง โดยแพทย์จะเป็นผู้นัดหมายเวลาของการทำหัตถการนี้ได้อย่างเหมาะสมที่สุด
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่ชัดเจนของการใช้ยานี้กับเด็ก การใช้ยานี้กับเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*อนึ่ง: การรักษาโรคนี้อาจต้องใช้เวลารวมประมาณ 8 สัปดาห์เพื่อเฝ้าดูอาการและการพัฒนาของผิว หนังที่เกิดรอยโรค กรณีที่อาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจต้องนัดทำการรักษาเป็นครั้งที่ 2

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยากรดอะมิโนเลวูลินิก ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดัง นี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากรดอะมิโนเลวูลินิกอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

กรดอะมิโนเลวูลินิกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

การใช้กรดอะมิโนเลวูลินิกอาจทำให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น อาจพบอาการแสบคันหรือชาในบริเวณผิวหนังที่มีการสัมผัสยา บางกรณีผิวที่ทายาจะมีสีคล้ำ เกิดแผล เกิดผื่น เป็นตุ่มแดง ผิวหยาบ รวมไปถึงมีอาการปวด ซึ่งแพทย์จะให้การบำบัดรักษาตามอาการเป็นรายบุคคลไปเช่น การให้ยาแก้ปวด เป็นต้น

มีข้อควรระวังการใช้กรดอะมิโนเลวูลินิกอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยากรดอะมิโนเลวูลินิกเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
  • ห้ามให้ยานี้เข้าตา จมูก ปาก หู
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ระหว่างการรักษาห้ามมิให้ผู้ป่วยออกแดดด้วยจะเกิดอาการแพ้แสงแดดได้ง่าย การออกนอกชายคาบ้านหรือที่อยู่อาศัยควรใช้ร่มหรือหมวกปีกกว้างเพื่อป้องกันแสงแดด
  • การรักษาด้วยยากรดชนิดนี้ต้องอาศัยความต่อเนื่องรวมถึงการเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยควรมารับการใส่ยา+การฉายแสงบลูไลท์ตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมกรดอะมิโนเลวูลินิกด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

กรดอะมิโนเลวูลินิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยากรดอะมิโนเลวูลินิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยากรดอะมิโนเลวูลินิกร่วมกับยาบางกลุ่มเช่น Griseofulvin, Chlorpromazine, Glybu ride/Glibenclamide, Sulfamethoxazole, Doxycycline, Hydrochlorothiazide อาจทำให้ผู้ป่วยได้ รับผลข้างเคียงจากกรดอะมิโนเลวูลินิกได้มากขึ้น ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้กรดอะมิโนเลวูลินิกร่วมกับยา Coal tar solution ที่ใช้ทาผิวภายนอกด้วยอาจกระตุ้นให้ผิวหนังแพ้แสงแดดง่าย

ควรเก็บรักษากรดอะมิโนเลวูลินิกอย่างไร

ควรเก็บยากรดอะมิโนเลวูลินิกตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

กรดอะมิโนเลวูลินิกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยากรดอะมิโนเลวูลินิกที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Levulan Kerastick (เลวูแลน เคราสติก)Dusa

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Aminolevulinic_acid [2016,July2]
  2. http://www.drugs.com/cdi/aminolevulinic-acid-solution.html [2016,July2]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/levulan%20kerastick/ [2016,July2]
  4. http://www.drugs.com/drug-interactions/aminolevulinic-acid-topical-index.html?filter=2&generic_only= [2016,July2]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Visible_spectrum [2016,July2]