กรดอะซิติก (Acetic acid)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 18 พฤษภาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- กรดอะซิติกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- กรดอะซิติกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- กรดอะซิติกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- กรดอะซิติกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมหยอดยาควรทำอย่างไร?
- กรดอะซิติกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้กรดอะซิติกอย่างไร?
- กรดอะซิติกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษากรดอะซิติกอย่างไร?
- กรดอะซิติกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาหยอดหู (Ear drops)
- แก้วหูทะลุ (Ruptured eardrum)
- หูติดเชื้อ (Ear infection)
- รูปแบบยาเตรียม (Pharmaceutical Dosage Forms)
บทนำ
กรดอะซิติก (Acetic acid) หรือกรดน้ำส้ม เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่เป็นของเหลว ใส ไม่มีสี สูตรทางเคมีคือ CH3COOH หากนำกรดอะซิติกชนิดรับประทาน (Food grade) มาเจือจางกับน้ำบริสุทธิ์ที่มีความเข้มข้น 3 - 9 % เราจะได้ “น้ำส้มสายชู (Vinegar)” ที่นำมาปรุงอาหารรับประทานกัน หรือในทางอุตสาหกรรมก็ใช้กรดอะซิติกมาเป็นตัวทำละลายในกระบวนการผลิตสารการบูร (Camphor)
ในทางคลีนิกได้นำกรดอะซิติกที่มีความบริสุทธิ์สูง (Pharmaceutical grade) มาใช้ทางเภสัชกรรมเช่น นำมาเจือจางกับสารประกอบโพรไพลีน ไกลคอล (Propylene glycol) โดยมีสารประกอบอื่นๆร่วมด้วยอีกเช่น Benzethonium chloride, Sodium acetate, Citric acid หรือบางสูตรตำรับใช้กรดอะซิติกผสมลงในสารละลายอะลูมิเนียม อะซิเตรท (Aluminium acetate) และมีสารประกอบอื่นๆ เช่น Boric acid, Sodium hydroxide, Aluminium sulfate, Calcium carbonate และน้ำบริสุทธิ์ ซึ่งสูตรตำรับเหล่านี้ถูกใช้เป็น “ยาหยอดหู” ด้วยยาสารละลายกรดอะซิติก/ยากรดอะซิติกมีค่าความเป็นกรด-ด่างหรือที่เราเรียกกันว่าค่าพีเอช (pH) เท่ากับ 3 หรือบางสูตรตำรับมีค่าพีเอช (pH) เฉลี่ยอยู่ในช่วง 3.5 - 5 จึงสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและแบคทีเรียได้ในระดับหนึ่ง
มีข้อห้ามบางประการที่ทำให้ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยากรดอะซิติกสำหรับหยอดหูเช่น
- เป็นผู้ที่แพ้ยาสารละลายกรดอะซิติก
- เป็นผู้ที่มีภาวะแก้วหูทะลุ
- ผู้ที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ ภาวะให้นมบุตร จะต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์ก่อนการใช้ยานี้เสมอ
อย่างไรก็ตามการใช้ยาสารละลายกรดอะซิติกเพื่อหยอดหูนั้น ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจหูจากแพทย์พร้อมกับแพทย์ลงความเห็นว่าสามารถใช้ยาสารละลายชนิดนี้ได้ เพื่อความปลอดภัยและเหมาะ สมต่อการรักษาผู้ป่วยไม่ควรไปซื้อหายาสารละลายนี้มาใช้ด้วยตนเอง
กรดอะซิติกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยากรดอะซิติกมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- บำบัดอาการอักเสบของหูชั้นกลาง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง หูติดเชื้อ)
กรดอะซิติกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาสารละลายกรดอะซิติกคือ ตัวยาจะมีฤทธิ์เป็นกรดจึงสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อราได้ระดับหนึ่งจากกลไกในระดับเซลล์ จึงส่งผลให้เชื้อโรคดังกล่าวไม่สามารถเจริญเติบโตจึงหยุดการแพร่พันธุ์ และส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
กรดอะซิติกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยากรดอะซิติกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นสารละลายที่มีความเข้มข้น 2% ขนาดบรรจุ 15 และ 60 มิลลิลิตร/ขวด
กรดอะซิติกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยากรดอะซิติกมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น
ก. ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป:
- เริ่มต้นให้ใช้สำลีสะอาดชุบยาสารละลายกรดอะซิติกที่มีความเข้มข้น 2% จนเปียกพอหมาด
- จากนั้นสอดสำลีดังกล่าวลงในรูหูที่มีการอักเสบ ทิ้งไว้เป็นเวลา 24 ชั่วโมงแล้วจึงจะเอาสำลีนั้นออก
- และในระหว่างเวลา 24 ชั่วโมงวันเดียวกันนั้นต้องหยดยาสารละลายกรดอะซิติก 3 - 5 หยด ทุกๆ 4 - 6 ชั่วโมงเพื่อทำให้สำลีนั้นชุ่มและสามารถปลดปล่อยยากรดอะซิติกได้ตลอดเวลา เมื่อครบ 24 ชั่วโมงให้นำสำลีออกจากหู ต่อจากนั้นให้หยดยาสารละลายกรดอะซิติกในหูต่อเนื่องครั้งละ 5 หยดวันละ 4 ครั้ง
- สำหรับเด็ก อาจหยดสารละลายกรดอะซิติก 3 - 4 หยดวันละ 4 ครั้งก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องหยดยาใส่สำลีแล้วทิ้งค้างไว้ในรูหูเช่นในผู้ใหญ่
*อนึ่งระยะเวลาของการหยอดยานี้ให้เป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์
ข. เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี: การใช้ยาสารละลายกรดอะซิติกกับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีลงมายังมิได้มีการจัดทำในทางคลีนิก การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอะซิติก ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากรดอะซิติกอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมหยอดยาควรทำอย่างไร?
กรณีที่ลืมหยอดยาสารละลายกรดอะซิติกสามารถหยอดสารละลายดังกล่าวเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการหยอดยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยาเป็น 2 เท่า
กรดอะซิติกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาสารละลายกรดอะซิติกอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น ทำให้เกิดอาการระคายเคือง แสบ คัน ในบริเวณรูหูที่หยอดยา
มีข้อควรระวังการใช้กรดอะซิติกอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยากรดอะซิติกเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาสารละลายกรดอะซิติก
- ห้ามใช้ยาสารละลายกรดอะซิติกกับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้ที่มีลักษณะที่เปลี่ยนไปจากเดิมเช่น เกิดตะกอนขุ่นหรือมีสีที่เปลี่ยนไป
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะแก้วหูทะลุ
- ห้ามปรับขนาดการใช้ด้วยตนเองและควรใช้ในระยะเวลาที่แพทย์กำหนดเท่านั้น
- หลังการใช้ยาสารละลายกรดอะซิติกแล้วอาการอักเสบของหูไม่ดีขึ้น ควรต้องกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และมาโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
**** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาสารละลายกรดอะซิติกด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
กรดอะซิติกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ด้วยยาสารละลายกรดอะซิติกเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นยาหยอดหู กล่าวคือเป็นยาใช้ภายนอก จึงยังไม่มีรายงานพบปฏิกิริยาระหว่างยานี้กับยารับประทานชนิดใดๆ
ควรเก็บรักษากรดอะซิติกอย่างไร?
ควรเก็บผลิตภัณฑ์ยาสารละลายกรดอะซิติกในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บผลิตภัณฑ์ยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บผลิตภัณฑ์ยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บผลิตภัณฑ์ยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
กรดอะซิติกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยากรดอะซิติกที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Acetic acid solution (อะซิติก เอซิด โซลูชั่น) | Bausch & Lomb Incorporated |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Acetic_acid#Use_as_solvent [2016,April30]
- http://www.drugs.com/cdi/acetic-acid-otic-solution.html [2016,April30]
- https://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/archives/fdaDrugInfo.cfm?archiveid=7954 [2016,April30]