กรดฟูซิดิก (Fusidic acid)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยากรดฟูซิดิก (Fusidic acid) หรือยาในรูปแบบเกลือโซเดียมที่เรียกว่า Sodium fusidate จัดเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้ต่อต้านแบคทีเรียชนิดแกรมบวกเช่น Staphylococcus, Streptococcus และ Corynebacterium เป็นต้น นักวิทยาศาสตร์สกัดกรดฟูซิดิกจากเชื้อราที่มีชื่อว่า Fusidium cocineum บริษัทยาผู้ถือลิขสิทธิ์ได้วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกรดฟูซิดิกในปี ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) โดยมีชื่อการค้าที่รู้จักกันเช่น Fucidin และ Fucithalmic ผลิตภัณฑ์ที่พบและมีจำหน่ายส่วนมากในบ้านเราจะเป็นยาใช้ภายนอก (ทั้งชนิดครีม ขี้ผึ้ง ยาหยอดตา) และยาเม็ดรับประทาน

จากการศึกษาข้อมูลด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) ของยาตัวนี้พบว่า การดูดซึมจากทางเดินอาหารมีถึงประมาณ 91% เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีน 97 - 99% และร่างกายต้องใช้เวลา 5 - 6 ชั่ว โมงในการกำจัดยานี้ 50% ออกจากร่างกาย

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติทั้งในรูปแบบของยาครีมสำหรับทาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และยาหยอดตาสำหรับหนังตาอักเสบ (Blepharitis) กรณีที่การใช้ยา Chloramphenical หรือ Gentamicin แล้วเกิดอาการแพ้หรือไม่ได้ผล

การเลือกใช้เภสัชภัณฑ์ใดๆของกรดฟูซิดิกได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ประกอบกับเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา ผู้บริโภค/ผู้ป่วยต้องใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด

กรดฟูซิดิกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

กรดฟูซิดิก

ยากรดฟูซิดิกมีสรรพคุณดังนี้เช่น

  • รักษาอาการติดเชื้อทางผิวหนังที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย Straphylococcus และ Streptococcus
  • รักษาภาวะติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด/ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Septicemia)
  • รักษาและป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียจากบาดแผลทั้วไปหรือแผลจากการผ่าตัด
  • รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียในกระดูก (Osteomyelitis)
  • รักษาโรคปอดบวม (Pneumonia)
  • รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ตา
  • ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียก่อนผ่าตัดตา

กรดฟูซิดิกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยากรดฟูซิดิกมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนพร้อมกับรบกวนกลไกการทำงานของสารพันธุกรรม (Ribosome) ในเซลล์ของแบคทีเรีย ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด

กรดฟูซิดิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยากรดฟูซิดิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 250 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาครีม ขนาดความแรง 2 มิลลิกรัม/เนื้อครีม 100 มิลลิกรัม
  • ยาขี้ผึ้ง ขนาดความแรง 2 มิลลิกรัม/เนื้อครีม 100 มิลลิกรัม
  • ยาครีมที่ผสมเสตียรอยด์เช่น Fusidic acid 20 มิลลิกรัม + Hydrocortisone acetate 10 มิลลิกรัมต่อยาครีม 1 กรัม, Fusidic acid 20 มิลลิกรัม + Betamethasone valerate 1 มิลลิ กรัมต่อยาครีม 1 กรัม, Fusidic acid 2 มิลลิกรัม + Betamethasone dipropionate 0.064 มิล ลิกรัมต่อยาครีม 100 มิลลิกรัม
  • ยาขี้ผึ้งที่ผสมเสตียรอยด์เช่น Fusidic acid 2 มิลลิกรัม + Betamethasone dipropio nate 0.064 มิลลิกรัมต่อยาขี้ผึ้ง 100 มิลลิกรัม
  • ยาหยอดตา ขนาดความเข้มข้น 1 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร

กรดฟูซิดิกมีขนาดรับประทานและการบริหารยาอย่างไร?

ยากรดฟูซิดิกมีขนาดรับประทานและการบริหารยาดังนี้เช่น

ก. สำหรับรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียทางผิวหนังที่มีสาเหตุจากเชื้อ Straphylococcus และ Streptococcus: ทายาวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น

ข. สำหรับรักษาภาวะติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด/ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Septicemia), รักษาและป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียจากบาดแผลหรือแผลจากการผ่าตัด, รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียในกระดูก (Osteomyelitis), รักษาโรคปอดบวม (Pneumonia):

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปี: รับประทาน 500 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งหลังอาหาร
  • เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี: รับประทาน 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละ 3 ครั้งหลังอาหาร
  • เด็กอายุ 1 - 5 ปี: รับประทาน 250 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งหลังอาหาร
  • เด็กอายุ 5 - 12 ปี: รับประทาน 500 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งหลังอาหาร

ค. สำหรับรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ตา: หยอดตา 1 หยดทุก 12 ชั่วโมงติดต่อกัน 2 - 3 วัน หรือตามแพทย์แนะนำ (ในวันแรกของการหยอดตาอาจหยอดตา 1 หยดทุก 4 ชั่วโมงก็ได้)

ง.สำหรับใช้ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียก่อนผ่าตัดตา: หยอดตา 1 หยดทุก 12 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการผ่าตัดตา 24 - 48 ชั่วโมง

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากรดฟูซิดิก ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยากรดฟูซิดิกอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยา/ใช้ยาสามารถรับประทาน/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยา/ใช้ยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

กรดฟูซิดิกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยากรดฟูซิดิกสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น

  • สำหรับยารับประทาน: อาจทำให้ตัวเหลือง ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ ระคายเคืองในช่องทางเดินอาหาร
  • สำหรับยาทาภายนอก: อาจก่อให้เกิดผื่นคันและระคายเคืองบริเวณผิวหนังที่ทายา
  • สำหรับยาหยอดตา: อาจเกิดการระคายเคืองหรือคันในตา อาจทำให้การมองเห็นภาพไม่ชัด

มีข้อควรระวังการใช้กรดฟูซิดิกอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้กรดฟูซิดิกดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยากรดฟูซิดิกที่เป็นยาทาภายนอกที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์กับการติดเชื้อของผิวหนังที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส เชื้อวัณโรค เชื้อรา หรือแผลเรื้อรัง เพราะการติดเชื้อจะลุก ลามมากขึ้น
  • ห้ามใช้ยากรดฟูซิดิกชนิดยาหยอดตาขณะใส่คอนแทคเลนส์
  • ระวังการใช้ยานี้กับเด็กทารก หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร การใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับความเห็นชอบและเป็นคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับโดยเฉพาะในยารับประทาน
  • หากใช้ยานี้แล้วมีอาการแพ้ยา ระคายเคืองมากต่ออวัยวะที่สัมผัสยา ให้หยุดยาทันทีแล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
  • การใช้ยากรดฟูซิดิกอาจไปกระตุ้นเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อต่อยานี้ให้กำเริบขึ้นมาได้
  • ไม่ควรทายากรดฟูซิดิกใกล้ตา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากรดฟูซิดิกด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

กรดฟูซิดิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยากรดฟูซิดิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

  • การใช้ยากรดฟูซิดิกร่วมกับยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลิน (Antistaphylococcal penicillin) จะเกิดการเสริมฤทธิ์ในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย การใช้ยา 2 ตัวนี้ร่วมกันต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
  • การใช้ยากรดฟูซิดิกร่วมกับยาปฏิชีวนะบางตัวเช่น Ciprofloxacin จะเกิดการต้านฤทธิ์ของการรักษาซึ่งกันและกัน หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน

ควรเก็บรักษากรดฟูซิดิกอย่างไร?

ควรเก็บรักษายากรดฟูซิดิกดังนี้

  • ยาหยอดตา เก็บที่อุณหภูมิ 2 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ยารับประทาน เก็บที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส
  • ยาทาภายนอก เก็บที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส

*****หมายเหตุ:

  • ห้ามเก็บยาเหล่านี้ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

กรดฟูซิดิกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยากรดฟูซิดิกที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Difusin (ไดฟูซิน)Zyg Pharma
Foban (โฟแบน)HOE Pharmaceuticals
Fobancort (โฟแบนคอท)HOE Pharmaceuticals
Fucicort (ฟูซิคอท)LEO Pharma
Fucidin Cream (ฟูซิดิน ครีม)LEO Pharma
Fucidin H (ฟูซิดิน เฮช)LEO Pharma
Fucidin Ointment (ฟูซิดิน ออยเม้น)LEO Pharma
Fucidin Tablet (ฟูซิดิน แท็ปเบลท)LEO Pharma
Fucithalmic (ฟูซิทาลมิก)LEO Pharma
Fusid (ฟูซิด)Chew Brothers

บรรณานุกรม

  1. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/159#item-8922[2017,June10]
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Fusidic_acid[2017,June10]
  3. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Fucidin%20Tablet/?type=brief[2017,June10]
  4. http://www.mims.com/USA/drug/info/fusidic%20acid/?type=full[2017,June10]
  5. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Fucidin%20Tablet/?type=brief[2017,June10]
  6. http://www.patient.co.uk/medicine/fusidic-acid-eye-drops-fucithalmic[2017,June10]
Updated 2017,June10