กรดฟีโนไฟบริก (Fenofibric acid)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 11 ตุลาคม 2558
- Tweet
- บทนำ
- กรดฟีโนไฟบริกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- กรดฟีโนไฟบริกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- กรดฟีโนไฟบริกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- กรดฟีโนไฟบริกมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- กรดฟีโนไฟบริกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้กรดฟีโนไฟบริกอย่างไร?
- กรดฟีโนไฟบริกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษากรดฟีโนไฟบริกอย่างไร?
- กรดฟีโนไฟบริกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia)
- ยาสแตติน (Statin)
- ไตวาย ไตล้มเหลว (Renal failure)
- ตับวาย ตับล้มเหลว (Liver failure)
- กล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis)
บทนำ
ยากรดฟีโนไฟบริก (Fenofibric acid) เป็นยาที่นำมาใช้รักษาภาวะไขมันคอเลสเตอรอลและไขมันไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายสูง อีกทั้งช่วยเพิ่มระดับไขมันชนิดที่ดีที่ชื่อว่า “เฮชดีแอล (HDL cholesterol)” ให้กับร่างกาย การใช้ยานี้ต้องสอดคล้องกับการรับประทานอาหารอย่างถูกต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ บางกรณีอาจใช้ยากรดฟีโนไฟบริกร่วมกับยากลุ่มสแตติน (Statins) เพื่อป้องกันอาการของโรคหัวใจกับผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจอีกด้วย
ก่อนการใช้ยานี้แพทย์จะต้องซักถามข้อมูลประวัติทางสุขภาพ ประวัติการใช้ยา หรือการแพ้ยาต่างๆของผู้ป่วยซึ่งรวมกรดฟีโนไฟบริกด้วย ยังมีข้อห้ามใช้ที่ผู้ป่วยควรทำความเข้าใจและต้องแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบเสมอเมื่อมีการตรวจรักษาเช่น ผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพเรื่องถุงน้ำดี ปัญหาของตับ เช่น มีภาวะตับแข็ง เป็นโรคไตขั้นรุนแรง หรือหากเป็นสตรีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตรหรือไม่ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ห้ามใช้ยากรดฟีโนไฟบริก หรือแม้แต่พฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบและใช้ปรับแนวทางการรักษาได้เหมาะสมยิ่งขึ้นเช่น ผู้ป่วยติดสุราหรือมีการดื่มสุราทุกวัน หรือเป็นผู้ที่บริโภคอาหารประเภทไขมันสูงอยู่เป็นประจำ ขาดการออกกำลังกาย เหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความเสี่ยงของภาวะไขมันในเลือดผิดปกติได้ทั้งสิ้น
หลังการตรวจคัดกรองผู้ป่วยและมีการสั่งจ่ายยากรดฟีโนไฟบริกแล้ว แพทย์มักจะกำกับให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้
- รับประทานยานี้ให้ตรงเวลา
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมกับสุขภาพสม่ำเสมอ
- ควบคุมและจำกัดอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเพิ่มระดับไขมันในเลือด
- หากพบอาการทางกล้ามเนื้อเช่น ปวดกล้ามเนื้อมากโดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่สูงอายุ ควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดโดยเร็วเพื่อให้แพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- กรณีแพ้ยานี้ต้องหยุดใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านโดยเร็ว/ทันที/ฉุกเฉิน
- มาพบแพทย์/โรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้งเพื่อติดตามผลการรักษา หากระดับไขมันในเลือดเข้าสู่ภาวะปกติแพทย์จะแจ้งให้ผู้ป่วยหยุดใช้ยานี้
สำหรับอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ของการใช้ยากรดฟีโนไฟบริกอาจจะเกิดหรือไม่เกิดกับผู้ป่วยก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับร่างกายและการตอบสนองต่อยาในแต่ละบุคคลที่แตกต่างกันไป อาการข้างเคียงที่โดดเด่นและพบเห็นได้บ่อยหลังจากที่ใช้ยานี้ได้แก่ ปวดหลัง ปวดศีรษะ
อนึ่ง ยาลดไขมันในเลือดต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ห้ามผู้ป่วยปรับขนาดรับประทาน หรือเพิ่มระยะเวลาในการรับประทาน หรือหาซื้อยามารับประทานเอง ด้วยอาจเกิดอันตรายจากการใช้ยาผิดขนาดจนอวัยวะภายในได้รับความเสียหายติดตามมา
กรดฟีโนไฟบริกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยากรดฟีโนไฟบริกมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อรักษาภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง
กรดฟีโนไฟบริกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยากรดฟีโนไฟบริกมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า Lipoprotein lipase (เอนไซม์ย่อยไขมัน) และลดการผลิต Apoprotein C-III (สารที่เป็นส่วนประกอบของไขมัน) ส่งผลให้เกิดการลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์และส่งเสริมการเผาผลาญไขมันคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีคือ “แอลดีแอล (LDL cholesterol)” นอกจากนี้ยังเกิดการสร้างไขมันดีเช่น ”เฮชดีแอล(HDL cholesterol)” เพิ่มมากขึ้น จากกลไกเหล่านี้จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
กรดฟีโนไฟบริกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยากรดฟีโนไฟบริกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 45, 67, 135 และ 200 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 35, 105 และ 160 มิลลิกรัม/เม็ด
กรดฟีโนไฟบริกมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยากรดฟีโนไฟบริกมีขนาดรับประทานเช่น
ก.สำหรับภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง (Primary hyperlipidemia):
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 135 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนอาหาร
ข.สำหรับภาวะไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง:
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 45 - 135 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนอาหาร
*อนึ่ง
- ในเด็ก: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงผลข้างเคียงของยานี้กับเด็ก การใช้ยานี้กับเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
- การใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตอาจเริ่มต้นที่ขนาด 35 มิลลิกรัมวันละครั้ง แต่ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากรดฟีโนไฟบริก ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยากรดฟีโนไฟบริกอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาทุกชนิดตรงเวลารวมถึงยากรดฟีโนไฟบริก
หากลืมรับประทานยากรดฟีโนไฟบริกสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยานี้ในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
กรดฟีโนไฟบริกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากรดฟีโนไฟบริกสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น
- อาการข้างเคียงที่พบบ่อย: เช่น ปวดตามร่างกาย หนาวสั่น ไอ อึดอัด/หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก หูอื้อ มีไข้ ปวดศีรษะ เสียงแหบ คัดจมูก เจ็บคอ
- อาการข้างเคียงที่พบได้น้อย: เช่น ปวดกระเพาะปัสสาวะ ตาพร่า ไอมีเสมหะ ท้องเสีย ปัสสาวะมีสีคล้ายเลือด ปวดแสบขณะถ่ายปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปวดข้อ เบื่ออาหาร ปวดตามแขน- ขา ปวดกล้ามเนื้อ บางครั้งอาจเป็นตะคริว คลื่นไส้ อาเจียน หายใจถี่ เหงื่อออกมาก แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ
มีข้อควรระวังการใช้กรดฟีโนไฟบริกอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยากรดฟีโนไฟบริกเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามเคี้ยวหรือบดยานี้ก่อนรับประทาน ให้กลืนยานี้พร้อมน้ำดื่มสะอาด
- หากพบอาการผิดปกติหลังใช้ยานี้เช่น มีผื่นคัน หายใจลำบาก ปวดกล้ามเนื้อมาก ปัสสาวะมี สีเข้มจัด ให้หยุดการใช้ยานี้แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมกรดฟีโนไฟบริกด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
กรดฟีโนไฟบริกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยากรดฟีโนไฟบริกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยากรดฟีโนไฟบริกร่วมกับยาลดไขมัน Atorvastatin, Lovastatin, Simvastatin สามารถเพิ่มความเสี่ยงของภาวะตับวาย หรือบางกรณีเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลายติดตามมา อาจทำให้ผู้ป่วยถึงขั้นเสียชีวิต (ตาย) ได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยากรดฟีโนไฟบริกร่วมกับยา Warfarin และ Dicumarol สามารถทำให้มีภาวะเลือดออกง่าย หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยากรดฟีโนไฟบริกร่วมกับยาต้านไวรัสเช่น Zidovudine อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงมีความผิดปกติของกล้ามเนื้อหรือมีภาวะกล้ามเนื้อลายสลายจนเป็นสาเหตุให้ไตวายและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยากรดฟีโนไฟบริกร่วมกับยา Colchicine ด้วยจะเพิ่มความเสี่ยงของภาวะของไตและระบบกล้ามเนื้อของร่างกายผิดปกติโดยเฉพาะกับผู้ป่วยสูงอายุ กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษากรดฟีโนไฟบริกอย่างไร?
ควรเก็บยากรดฟีโนไฟบริกที่อุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บ ยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
กรดฟีโนไฟบริกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยากรดฟีโนไฟบริกทีจำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Feno TG (ฟีโน ทีจี) | Troikaa Parenterals Pvt. Ltd |
Finate (ฟิเนท) | Franco Indian Remedies |
Fenacor (ฟีนาคอร์) | Taj Pharmaceuticals Ltd |
Fibricor (ไฟบริคอร์) | Mutual Pharmaceutical Company, Inc. |
Lipicard (ลิปิคาร์ด) | USV Limited |
MYLAN CF (มายแลน ซีเอฟ) | Mylan Pharmaceuticals Inc. |
Trilipix (ทริลิพิกซ์) | Abbott Laboratories |
บรรณานุกรม
1.http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/fenofibric-acid-oral-route/proper-use/drg-20072494 [2015,Sept26]
2.http://www.drugs.com/cdi/fenofibric-acid.html [2015,Sept26]
3.http://www.drugs.com/imprints/mylan-cf-135-mylan-cf-135-21291.html[2015,Sept26]
4.http://www.rxlist.com/fibricor-drug/clinical-pharmacology.htm [2015,Sept26]
5.http://www.drugs.com/drug-interactions/fenofibric-acid-index.html?filter=3&generic_only=[2015,Sept26]
6.http://www.drugs.com/drug-interactions/colcrys-with-fenofibric-acid-728-13960-3096-0.html [2015,Sept26]
7.http://www.drugs.com/imprints/a-45-13701.html [2015,Sept26]
8.http://www.drugs.com/imprints/ar788-15180.html [2015,Sept26]
9.http://www.medindia.net/drug-price/fenofibric-acid.htm [2015,Sept26]