กรดทราเนซามิค (Tranexamic acid) หรือ ทรานซามิน (Transamin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 31 ตุลาคม 2557
- Tweet
- บทนำ
- กรดทราเนซามิคมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- กรดทราเนซามิคมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- กรดทราเนซามิคมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- กรดทราเนซามิคมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- กรดทราเนซามิคมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้กรดทราเนซามิคอย่างไร?
- กรดทราเนซามิคมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษากรดทราเนซามิคอย่างไร?
- กรดทราเนซามิคมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ประจำเดือน (Menstruation)
- วัณโรค (Tuberculosis)
- มะเร็ง (Cancer)
- เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นอะแรชนอยด์ (Subarachnoid hemorrhage)
บทนำ
ยากรดทราเนซามิค (Tranexamic acid) หรือที่รู้จักกันในชื่อการค้าว่า ‘ยาทรานซามิน (Transamin)’ เป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบกรดอะมิโนที่ชื่อว่า ไลซีน (Lysine) ทางการแพทย์นำมาใช้ป้องกันการตกเลือดหรือเลือดออกมากในระหว่างการผ่าตัดโดยเฉพาะการผ่าตัดหัวใจ หลอดเลือด ตับ รวมถึงการผ่าตัดกระดูก
กรดทราเนซามิคจัดเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต้านการทำลายลิ่มเลือด โดยกลไกยับยั้งการเชื่อมสารพลาสมิโนเจน (Plasminogen, เป็นสารต้นทางของ พลาสมิน) กับพลาสมิน (Pkasmin, เอนไซม์ในเลือดที่เกี่ยวข้องกับการเกิดลิ่มเลือด) เป็นผลให้เกิดขอบเขตของลิ่มเลือดขึ้นมา จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่าง กาย) ของยานี้พบว่า กรดทราเนซามิคดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ประมาณ 34% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3.1 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด 50%
องค์การอนามัยโลกจัดให้กรดทราเนซามิคเป็นยาจำเป็นของสาธารณสุขขั้นมูลฐาน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยบรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยตั้งข้อกำหนดและวัตถุประสงค์ของการใช้ยาดังนี้
- ใช้ในทางทันตกรรม กรณีห้ามเลือดด้วยวิธีปกติแล้วไม่ได้ผล
- ใช้กับการทำหัตถการในช่องปากในผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเลือดออกแล้วหยุดยาก
- ใช้สำหรับภาวะประจำเดือนมากผิดปกติ
- ใช้กับผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุและมีภาวะเลือดออกรุนแรง เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย
- ใช้กับผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดซึ่งไม่สามารถห้ามเลือดด้วยวิธีปกติได้
กรดทราเนซามิคจัดเป็นยาที่มีความจำเพาะเจาะจงในการใช้ อาจก่อให้เกิดอันตรายได้หากรับประทานไม่ถูกขนาด ดังนั้นการบริหารยากับคนไข้จึงต้องอยู่ภายใต้คำสั่งและการดูแลของแพทย์เท่านั้น
กรดทราเนซามิคมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
กรดทราเนซามิคมีสรรพคุณรักษาอาการเลือดออกในระยะเวลาสั้นๆดังนี้เช่น
- รักษาอาการเลือดออกผิดปกติเช่น ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง
- รักษาเลือดออกในปอดของผู้ป่วยวัณโรค
- รักษาเลือดออกในไตและระบบทางเดินปัสสาวะ
- ป้องกันเลือดออกผิดปกติในระหว่างการผ่าตัด
- รักษาภาวะเลือดออกมากเนื่องจากการมีประจำเดือน
กรดทราเนซามิคมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยากรดทราเนซามิคคือ ตัวยาจะยับยั้งการทำลายลิ่มเลือดโดยยับยั้งการเชื่อมสารพลาสมิโนเจนและสารพลาสมิน ด้วยกลไกนี้จึงเกิดการป้องกันการละลายลิ่มเลือด จึงมีฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
กรดทราเนซามิคมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
กรดทราเนซามิคมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้
- ยาแคปซูล ขนาด 250 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาเม็ด ขนาด 500 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาฉีด ขนาด 50 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
กรดทราเนซามิคมีขนาดรับประทานอย่างไร?
กรดทราเนซามิคมีขนาดรับประทานเพื่อรักษาภาวะเลือดออกระยะสั้นดังนี้
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 1 - 1.5 กรัม หรือ 15 - 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2 - 3 ครั้ง
- เด็ก: รับประทาน 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2 - 3 ครั้ง
*****หมายเหตุ: สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากรดทราเนซามิค ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจ ลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยากรดทราเนซามิคอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยากรดทราเนซามิค สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
กรดทราเนซามิคมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
กรดทราเนซามิคสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน การมองเห็นสีผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ และเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด
มีข้อควรระวังการใช้กรดทราเนซามิคอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้กรดทราเนซามิคดังนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยภาวะไตล้มเหลว ผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด ผู้ที่มีการมองเห็นสีผิดปกติ และผู้ที่มีภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (Subarachnoid hemorrhage)
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประจำเดือนมามากผิดปกติ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ
- ระหว่างการใช้ยานี้ หากการมองเห็นสีผิดปกติต้องหยุดการใช้ยาทันที
- ระวังการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์และในหญิงให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมกรดทราเนซามิคด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
กรดทราเนซามิคมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
กรดทราเนซามิคมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้
- การใช้ยากรดทราเนซามิคร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด เช่น Esthinyl estradiol และ Levonor gestrel อาจเพิ่มความเสี่ยงของการอุดตันของลิ่มเลือดในหลอดเลือดของอวัยวะสำคัญ จึงอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวและภาวะไตล้มเหลว จึงควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยากรดทราเนซามิคร่วมกับอนุพันธุ์ของวิตามินเอ เช่น Tretrinoin อาจเพิ่มความเสี่ยงที่นำไปสู่การอุดตันของลิ่มเลือดในหลอดเลือดของอวัยวะสำคัญ อาจส่งผลให้เกิดหัวใจล้มเหลวและภาวะไตล้มเหลว จึงควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษากรดทราเนซามิคอย่างไร?
ควรเก็บยากรดทราเนซามิคที่อุณหภูมิระหว่าง 25 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดดและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
กรดทราเนซามิคมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยากรดทราเนซามิคที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Axamin (แอกซามิน) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Falete (แฟลิท) | T. Man Pharma |
Tramic (ทรามิค) | T.O. Chemicals |
Transamin (ทรานซามิน) | Daiichi Sankyo |
Transic (ทรานซิค) | T P Drug |
Tranxamax (ทรานซาแม็กซ์) | Vesco Pharma |
Tranxic (ทรานซิค) | Bangkok Lab & Cosmetic |
บรรณานุกรม
1 http://en.wikipedia.org/wiki/Tranexamic_acid [2014,Oct4]
2 http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=tranexamic+acid [2014,Oct4]
3 http://www.mims.com/THAILAND/drug/info/Transamin/?type=full#Indications [2014,Oct4]
4 http://www.mims.com/USA/drug/info/tranexamic%20acid/?type=full&mtype=generic#Dosage [2014,Oct4]
5 http://www.drugs.com/drug-interactions/tranexamic-acid.html [2014,Oct4]