กระดานสุขภาพ
สอบถามสุขภาพคุณพ่อครับ (ไต) | |
---|---|
29 ตุลาคม 2561 12:11:40 #1 รบกวนสอบถามคุณหมอครับ พอดีที่โรงพยาบาลประจำอำเภอเค้ามาตรวจเลือดให้ข้าราชการตามสถานที่ทำงานครับ แล้วคุณพ่อผมได้ตรวจไป ซึ่งก่อนตรวจสุขภาพนั้น ประมาณ 3 วันก่อนตรวจ คุณพ่อได้ออกกำลังกายหักโหมมาก คือ เล่นฟุตบอล (จากที่ไม่ได้เล่นมาหลายปีแล้ว) ไม่สูบบุหรี่ ไม่มีโรคประจำตัว ดื่มสุราบ้าง บางโอกาสเท่านั้นเวลามีงานสังสรรค์ แต่ปกติแทบจะไม่ดื่มเลย อายุ 51 ปี หนักประมาณ 70 กิโลกรัม ผลตรวจ (18/09/18) พบว่า SCr = 1.2 BUN = 13.6 ซึ่งพอคิด eGFR แล้วจะได้เท่ากับ 69 (ตาม criteria จะเข้ากับ CKD stage ที่ 2) AST = 12 ALT = 17 คือตอนนี้ผมกังวลการทำงานของไตกับตับครับ อยากสอบถามว่า การออกกำลังกายหนักๆ จะสามารถส่งผลให้ SCr ขึ้นสูงได้ใช่มั้ยครับ แล้วค่าแลปเหล่านี้มีผลอะไรมากมั้ย เพราะเท่านี้ผมจำได้ก่อนนหน้านี้ ซึ่งน่าจะนานมาแล้ว การตรวจสุขภาพของคุณพ่อ ไม่เคยมีปัญหาเกี่ยวกับพวกนี้มาก่อนเลย แทบจะไม่มี baseline ของค่าพวกนี้ที่จะสื่อให้ว่าจะเกิดโรคทางตับและไตได้เลย ตอนนี้ก็ได้ให้คุณพ่อดูแลตัวเองมากขึ้น พยายามควบคุมการกินอาหาร และงดการออกกำลังกายหนักๆ แต่ให้เน้นเดินไกลแทน ผมควรกังวลกับผลตรวจครั้งนี้มั้ยครับ หรือต้องรอตรวจซ้ำอีกครั้งนึงก่อน |
|
อายุ: 24 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 60 กก. ส่วนสูง: 172ซม. ดัชนีมวลกาย : 20.28 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9) | |
พญ.กิติพร กวียานนท์แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป |
3 พฤศจิกายน 2561 17:43:46 #2 ครีอะตินีน (Creatinine ย่อว่า Cr) เป็นสารปลายทางที่ได้จากการสลายของสาร Creatine phosphate ที่เป็นสารเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานในการทำงานของกล้ามเนื้อ ซึ่งสาร Cr จะถูกกำจัดออกจากร่างกายทางปัสสาวะโดยการทำงานของไต ดังนั้นการทราบค่าสารนี้ในเลือดหรือในบางครั้งในปัสสาวะจึงใช้เป็นตัวบอกประสิทธิภาพในการทำงานของไต อนึ่ง ในการตรวจประสิทธิภาพการทำงานของไตโดยทั่วไปจะใช้การตรวจดูค่า Cr จากการ ตรวจเลือด ส่วนการตรวจหา Cr ในปัสสาวะที่เป็นการตรวจที่ซับซ้อนยุ่งยาก ต้องตรวจจากการเก็บปัสสาวะทั้งหมดใน 24 ชัวโมง จะเป็นการตรวจเฉพาะกรณีเมื่อแพทย์ต้องการรายละเอียดที่เฉพาะ เจาะจงในการทำงานของไตเช่น การหาค่าการทำงานโดยละเอียดของไตที่เรียกว่า Creatinine clearance หรือ Creatinine clearance test ค่าปกติของ Cr ในเลือดคือ 0.5 - 1.0 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (mg/dL) สำหรับผู้หญิง และ 0.7 - 1.2 มิลลิกรัม/เดซิลิตร สำหรับผู้ชาย ซึ่งในผู้ชายค่า Cr จะสูงกว่าในผู้หญิงเนื่องจากผู้ชายมีมวลกล้ามเนื้อที่เป็นต้นกำเนิดของสาร Creatine phosphate มากกว่า ค่า Cr ในเลือดที่สูงมากกว่าปกติ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น ภาวะขาดน้ำ โรคไต โรคกล้ามเนื้อ โรคระบบทางเดินปัสสาวะ โรคความดันโลหิตสูง กรณีค่า Cr ที่ต่ำกว่าปกติ อาจมีสาเหตุจากภาวะทุโภชนาที่ทำให้มวลกล้ามเนื้อลดลง/กล้ามเนื้อฝ่อลีบ หรือจากโรคกล้ามเนื้อ หรือโรคทางระบบประสาทที่มีผลให้มวลกล้ามเนื้อฝ่อลีบลง ส่วนครีอะตินีนเคลียรานซ์ (Creatinine clearance ย่อว่า CrCl) เป็นค่าเปรียบเทียบสัดส่วน ระหว่างปริมาณ Cr ในปัสสาวะที่เก็บรวบรวมทั้งหมด 24ชั่วโมงกับปริมาณ Cr ในเลือด โดยมีสูตรที่คำนวณเฉพาะและมีหน่วยเป็น มิลลิลิตร/นาที (ml/min) ซึ่งการตรวจ CrCl จะมีเทคนิคการตรวจที่ยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการตรวจเลือดดูค่า Cr มาก และจะมีข้อบ่งชี้การตรวจเฉพาะกรณีที่แพทย์ต้องการวินิจฉัยประสิทธิภาพที่แน่ชัดในการทำงานของไตจากการตรวจเลือดแล้วพบมีค่า Cr สูงผิดปกติ ค่าปกติของ CrCl ในผู้หญิงคือ 88 - 128 ml/min และในผู้ชาย คือ 97 - 137 ml/min การมีค่า CrCl ต่ำกว่าปกติ จะเป็นตัวบอกว่าไตทำงานได้ต่ำกว่าปกติซึ่งอาจเกิดจากเซลล์ไตเสียหายจากโรคไตเฉียบพลัน โรคไตเรื้อรัง ไตวาย ไตขาดเลือดมาเลี้ยง มีการอุดตันในระบบ ทางเดินปัสสาวะเช่น เช่น นิ่วในไต หรือจากภาวะหัวใจวาย หรือจากภาวะขาดน้ำ eGFR การตรวจหาอัตราการกรองของไต หรืออัตราการกรองของเสียของไต (Estimated glomerular filtration rate : eGFR หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “GFR”) คือ การตรวจหาค่าอัตราการไหลของเลือดผ่านตัวกรองไตในหนึ่งนาที โดยเป็นค่าที่ได้จากการคำนวณ Creatinine เพศ อายุ และเชื้อชาติของผู้รับการตรวจแต่ละคน (ค่า Creatinine ยิ่งสูง จะยิ่งทำให้ GFR มีค่าต่ำ) ในห้องแล็บที่ยังไม่ทันสมัยจะไม่รายงานผลของค่านี้ ถ้าอยากทราบก็สามารถเอาค่าของ Creatinine ที่ได้ไปค้นหา GFR calculator ตามเว็บไซต์ทั่วไปได้ครับ ปัจจุบันนี้วงการโรคไตทั่วโรครวมทั้งสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ได้เปลี่ยนมาใช้ค่า GFR ในการบอกสถานะของโรคไตแทนค่า Creatinine แล้ว (ในคนปกตินั้นจะมีค่า GFR อยู่ที่ประมาณ 125 มล./นาที แต่ถ้าตรวจพบว่ามีค่าต่ำกว่า 90 ก็ถือว่าไตเริ่มเสื่อมแล้ว) เพราะค่านี้มีประโยชน์อย่างมากในแง่ที่ช่วยแบ่งระดับความรุนแรงของผู้ที่มีระดับ Creatinine ผิดปกติว่ามีความรุนแรงของโรคไตเรื้อรังอยู่ในระยะใด ใน 5 ระยะ กล่าวคือ ระยะที่ 1 ค่า GFR ≥ 90 มล./นาที (หรือ ml/min/1.73 m2) เป็นระยะที่ตรวจพบพยาธิสภาพที่ไตแล้ว (เช่น มีนิ่ว กรวยไตอักเสบ ไตบวม) แต่ไตยังทำงานปกติ ระยะที่ 2 ค่า GFR = 60 – 89 มล./นาที เป็นระยะที่ไตเริ่มทำงานผิดปกติเล็กน้อย ระยะที่ 3 ค่า GFR = 30 – 59 มล./นาที เป็นระยะที่ไตทำงานผิดปกติปานกลาง ระยะที่ 4 ค่า GFR = 15 – 29 มล./นาที เป็นระยะที่ไตทำงานผิดปกติอย่างมาก ระยะที่ 5 ค่า GFR < 15 มล./นาที เป็นระยะสุดท้ายที่ถือว่าไตพังไปแล้วเรียบร้อย (ต้องใช้ไตเทียมล้างไตจึงจะมีชีวิตอยู่ได้) การดูแลตนเองหาก GFR มีค่าต่ำ ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุทำให้ไตเสื่อมให้ดี โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง รับประทานอาหารสุขภาพ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามควรแก่สุขภาพ ใช้ยาอย่างถูกต้อง เหมาะสม และภายใต้คำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร ปรึกษาแพทย์และตรวจติดตามค่า GFR เป็นระยะตามที่แพทย์สั่ง |
Anonymous