กระดานสุขภาพ

ยาคุมฉุกเฉิน
Anonymous

30 กันยายน 2561 19:14:43 #1

ยาคุมฉุกเฉินไม่ควรทานเกิน2ครั้งในชีวิต จริงไหมคะ
อายุ: 20 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 40 กก. ส่วนสูง: 155ซม. ดัชนีมวลกาย : 16.65 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

4 ตุลาคม 2561 17:32:53 #2

เรียน คุณ 7c510,

ในหลักการไม่มีข้อห้ามใช้นะครับ แต่เนื่องจากยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ในทางการแพทย์นั้นจะใช้ก็ต่อเมื่อไม่สามารถใช้การคุมกำเนิดปกติได้ เช่น เมื่อถูกข่มขืน หรือ เกิดความผิดพลาดจากการใช้ถุงยางอนามัย แล้วมีการฉีกขาด รั่วซึม (ซึ่งเกิดได้ยากมากนะครับ เพราะถุงยางอนามัยขึ้นทะเบียนเป็นเครื่องมือที่ใช้ในทางการแพทย์ ต้องมีการทดสอบความหนา ความเหนียว ก่อนออกวาจำหน่ายในท้องตลาด สามารถศึกษาวิธีการใช้ถุงยางอนามัยที่ถูกต้องได้จากบทความที่แนะนำ) ไม่แนะนำให้ใช้แทนการคุมกำเนิดปกติ เนื่องจากตัวยามีอัตราเสี่ยงในการตั้งครรภ์ค่อนข้างสูง คือ 8-15 เปอร์เซ็นต์ (เทียบกับยาคุมกำเนิดรายเดือนหรือการสวมถุงยางอนามัย ที่มีอัตราเสี่ยงน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์)
และมีตัวยาปริมาณค่อนข้างสูง คือ 1,500 ไมโครกรัม เทียบกับยาคุมกำเนิดปกติ ที่มีเพียงเม็ดละ 50-75 ไมโครกรัม

กลไกการออกฤทธิ์ของยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน มีหลัก ๆอยู่ 3 ประการ คือ

  • 1. ทำให้มูกที่ปากมดลูกข้นเหนียว ลดโอกาสที่ตัวอสุจิจะผ่านเข้าไปผสมกับไข่
  • 2. ทำให้ท่อนำไข่บีบตัวน้อยลง หรือบีบตัวจังหวะช้าลง ลดโอกาสที่ไข่จะเดินทางมาผสมกับตัวอสุจิได้
  • 3. ทำให้เยื่อบุผนังมดลูกมีความหนาลดลง ลดโอกาสที่ตัวอ่อนจะมาฝังตัวและเจริญต่อไปได้ (หากมีการผสมของไข่กับตัวอสุจิ)

วิธีการรับประทานยาที่ถูกต้อง มี 2 แบบ คือ

1. รับประทานยา 1 เม็ด ทันทีหลังจากมีเพศสัมพันธ์ (แต่ไม่ควรเกิน 48 ชั่วโมง เนื่องจากหากยิ่งทิ้งช่วงเวลานาน ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการตั้งครรภ์) จากนั้นเว้นไป 12 ชั่วโมง จึงรับประทานยาเม็ดที่สอง

ข้อดี - อาการเวียนศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน พบได้น้อยกว่า และหากจำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์อีกหลังจากรับประทานยาเม็ดแรกไปแล้ว แต่ยังไม่ถึงเวลารับประทานยาเม็ดที่สอง ก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาเพิ่มอีก

ข้อเสีย - มักลืมรับประทานยาเม็ดที่สอง หรือรับประทานยาเม็ดที่สอง เร็ว หรือ ช้ากว่า 12 ชั่วโมง ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ได้

2. รับประทานยาทั้งสองเม็ดพร้อมกันทันทีหลังจากมีเพศสัมพันธ์ แต่ไม่ควรเกิน 48 ชั่วโมง

ข้อดี - ระดับยาในเลือดสูงขึ้นทันที ป้องกันการลืมรับประทานยาเม็ดที่สอง

ข้อเสีย - เนื่องจากระดับยาในเลือดสูงขึ้นทันที อาจทำให้อาการไม่พึงประสงค์ด้าน เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนสูงกว่าวิธีแรก และหากจำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ซ้ำอีกหลังจากรับประทานยาสองเม็ดไปแล้ว ต้องใช้วิธีการสวมถุงยางอนามัยแทน ไม่ควรรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเพิ่มอีก

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา - เวียนศีรษะ มึนงง คัดตึงเต้านม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด แน่นท้อง ประจำเดือนมาผิดปกติ (มาน้อย หรือมาช้ากว่าปกติ)

ข้อควรระวังพิเศษ - ไม่ควรใช้ยาเกินกว่า 2 ชุดต่อเดือน เนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงในการตั้งครรภ์นอกมดลูก เสี่ยงต่อการตกเลือดในช่องท้อง จนเป็นสาเหตุให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ไม่แนะนำให้ใช้แทนการคุมกำเนิดปกติ เนื่องจากพบรายงานว่าสตรีที่ได้รับยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมากกว่า 3 ครั้ง ตลอดชีวิต จะมีอัตราเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่ออวัยวะต่าง ๆได้สูงกว่าสตรีที่ได้รับยาคุมกำเนิดปกติ หรือไม่เคยได้รับยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมาก่อน เช่น มะเร็งสมอง มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก/รังไข่ หรือมะเร็งตับ ฯ

หากคุณยังไม่ได้แต่งงาน ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์เป็นประจำ การสวมถุงยางอนามัย จะเป็นทางเลือกที่สะดวกและเหมาะสมกับทั้งสองฝ่าย เพราะนอกจากช่วยในการคุมกำเนิดแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย เช่น หนองใน ซิฟิลิส แผลริมอ่อน (หนองในเทียม) พยาธิในช่องคลอด ไวรัสเริม ไวรัสตับอักเสบ ชนิด B/C หรือ หากแจ็คพอตได้รับไวรัสเอชไอวีที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ที่ปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาด

และนอกจากนี้ยังช่วยป้องกันไวรัสเอชพีวี (HPV - human Papillomavirus) ที่เป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในเพศหญิง และ หูดหงอนไก่ มะเร็งองคชาติในเพศชายได้อีกด้วย

กรณีมีข้อสงสัยเร่งด่วนเกี่ยวกับการใช้ยา/ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆ สามารถสอบถามได้จากแพทย์หรือเภสัชกรร้านยาใกล้บ้านได้ทันที ไม่ควรรอคำตอบจากทางหน้าเว็บ เนื่องจากอาจต้องมีการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรืออาจช้าเกินไป ไม่ทันการ เสี่ยงต่อการเกิดการตั้งครรภ์หรือเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล


แนะนำบทความดีๆ จากกองบรรณาธิการของเราที่

  • ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
  • แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
  • สูตินรีแพทย์
  • ยาลดประสิทธิภาพยาคุมกำเนิด (Common medications that reduce efficacy of birth control medications)
  • ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม
  • การคุมกำเนิด (Contraception)
  • แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
  • สูตินรีแพทย์
  • ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)
  • นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์
  • สูตินรีแพทย์