กระดานสุขภาพ
ผมอยากบริจาคเลือด แต่...ผมไม่กล้า...กลัวเลือดไม่ผ่าน.. | |
---|---|
14 เมษายน 2556 16:05:15 #1 ผมอยากบริจาคเลือดแต่ผมกลัวการตรวจ คือ กลัวหมอมาบอกว่าเลือดไม่ผ่าน...แล้วจะคิดมากหนะคับ...แต่ีไม่ได้กลัวเอดส์หรือโรคเพศสัมพัน นะครับ เพราะผมไม่มั่วเซ้กและไม่ใช้เข็ม และ 8เดือนที่แล้ว ผมผ่าตัดหัวเข่าทำACL หมอก็ขอตรวจเลือดก่อนผ่าไปแล้ว และก่อนผ่า...แกก็บอกว่า เลือดผ่าน ผ่าได้....ก้เข้าทำการผ่า....ผมกลัวๆยังไงไม่รู้ เพราะอายุ35ปีละไม่เคยบริจาคเลือดเลย ผมอยากทราบว่า ไปถึงเค้าเจาะเลือดแล้ว ก็ดูดเลยหรือว่ารอหรือยังไงครับผมกลัวช่วงรอที่สุดเลย...แนะนำทีครับ |
|
อายุ: 35 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 75 กก. ส่วนสูง: 160ซม. ดัชนีมวลกาย : 29.30 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9) | |
ศ. พญ. อรุณี เจตศรีสุภาพ(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์และโลหิตวิทยา) |
15 เมษายน 2556 06:28:58 #2 หมอคิดว่าที่คุณกลัวน่าจะเป็นจินตนาการที่ยังไม่เข้าใจหรือยังไม่เคยเห็นกระบวนการในการบริจาคโลหิตของคุณ จะว่าคุณกลัวเข็มหรือกลัวการเจาะเลือดคุณก็เคยผ่านการเจาะเลือดในการเข้าโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัดคงรู้ว่าไม่ได้เจ็บมากนัก ที่หมอพูดเรื่องกลัวเข็มเพราะหมอเคยมีประสบการณ์กลัวเข็มมาก่อน พอจะถูกเจาะเลือดจะกลัวจนมือเท้าเย็น ต่อมาถูกเจาะเลือดหลายครั้งเข้าอาการกลัวดีขึ้น แต่ไม่ชอบมองเวลาถูกเจาะเลือด ฟังดูการผ่าตัดที่ผ่านมา ก่อนผ่าตัดแพทย์จะตรวจว่ามีโรคที่อาจติดต่อไปยังผู้อื่นทางเลือดหรือไม่ ได้แก่ เอชไอวี และแพทย์ก็ต้องตรวจดูความเข้มข้นของเลือดก่อนผ่าตัดว่ามีภาวะโลหิตจางหรือ ไม่ ต้องให้เลือดก่อนผ่าหรือไม่ซึ่งของคุณไม่มีปัญหา หาก 8 เดือนมานี้คุณไม่ได้ไปทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ก็ ไม่มีอะไรน่ากลัวเพราะการบริจาคเลือดนั้นเน้นเรื่องความปลอดภัยของผู้รับและ ผู้บริจาคกระบวนการในการบริจาคโลหิต คุณสามารถเปิดเว็บ เรื่องควรรู้ในการบริจาคโลหิตของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทยได้ หมอขอสรุปให้ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 ผู้บริจาคโลหิตจะต้องกรอกแบบฟอร์ม ซึ่งสอบถามเกี่ยวกับสุขภาพและความเสี่ยง เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับประจำเดือนในกรณีที่เป็นผู้บริจาคหญิง และการตอบคำถามซึ่งคัดกรองเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี, ซี เอดส์หรือซิฟิลิส ได้แก่ ความเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ ทางการรับเลือด ทางการผ่าตัด เป็นต้น ขั้นตอนที่ 2 ชั่งน้ำหนักและตรวจความเข้มข้นของเลือดโดยการเจาะเลือดที่ปลายนิ้วแล้วหยดลงในน้ำยาว่าเลือดข้นเพียงพอที่จะบริจาคหรือไม่ ซึ่งเรียกกันว่าเลือดจม ถ้าเลือดข้นไม่เพียงพอที่จะบริจาคได้ จะอยู่ในสภาพที่เรียกว่าเลือดลอย และมีการวัดความดันโลหิต รับยาบำรุงเลือด ขั้นตอนที่ 3 รับสติกเกอร์และบาร์โค้ดซึ่งจะนำไปติดที่หลอดเลือดต่อไปเพื่อไม่ให้สลับคน ขั้นตอนที่ 4 เป็นการบริจาคเลือดหรือเกล็ดเลือดหรือพลาสมา ซึ่งจะใช้เวลาแตกต่างกัน ขั้นตอนที่ 5 คือขั้นตอนสุดท้าย คือการพักรับประทานเครื่องดื่มและของว่างก่อนที่จะกลับ การบริจาคเลือด (whole blood)จะเป็นการนำเลือดออกจากร่างกายทั้งหมด 250 – 450 ซีซี. แล้วแต่เพศและความสม่ำเสมอของการบริจาคเลือด หากเป็นผู้บริจาคที่เป็นหญิงก็จะเอาเลือดออกไปน้อยกว่าชาย หากเป็นผู้บริจาคประจำก็จะสามารถเอาเลือดออกถึง 450 ซีครั้ง การบริจาคเลือดนี้จะกินเวลาเพียง 10 นาที การเตรียมตัวก่อนไปบริจาคเลือด ต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี ชนิดซี ซิฟิลิส เชื้อ HIV อย่างน้อย 3 เดือนก่อนการบริจาคเลือด หลีกเลี่ยงการรับประทานหวานจัดหรือมันจัดก่อนการบริจาคเลือดเพราะจะทำให้ พลาสมาขุ่น ต้องอยู่ในสภาพแข็งแรงและสบายดี หลีกเลี่ยงการบริจาคเลือดหากรู้สึกไม่สบาย หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ การบริจาคโลหิตเป็นการบริจาคที่ยิ่งใหญ่ เพราะเลือดของคุณจะนำไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่เจ็บป่วยและต้องการเลือด เลือดหรือส่วนประกอบในเลือดของคุณสามารถช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ได้และอาจช่วยได้หลายคนด้วย ความอิ่มเอมใจในการบริจาคคงทำให้คุณลดอาการกลัวและดีขึ้น สามีหมอบริจาคไปประมาณ 140 ครั้งแล้ว ตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์บิดาเสียชีวิต จึงทำบุญระลึกถึงบิดาด้วยการบริจาคเลือดทุก 3 เดือน ขณะนี้ยังแข็งแรงดี ขอให้กำลังใจให้ค่อยๆลดความกลัว ขณะรอ หาหนังสือไปนั่งอ่านหรือนั่งทำอะไรเพลินๆ เวลาจะผ่านไปเร็วมาก เดี๋ยวเดียวก็เสร็จ ร่วมอนุโมทนาค่ะ
ศ.พญ.อรุณี เจตศรีสุภาพ |
GuKi*****a |
16 เมษายน 2556 06:19:54 #3 ขอบคุณครับ จะไปเร็วๆนี้ |
GuKi*****a