กระดานสุขภาพ

กาเติม HP
Wasa*****7

2 สิงหาคม 2559 02:48:26 #1

สวัสดีค่ะ หนูมีเรื่องอยากปรึกษาคุณหมอเรื่องของการ เติม HP ค่ะ คือหนูมีโรคประจำตัวคือโรค ธารัสชีเมีย แล้วเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมาหนูพึ่งไปเติมเลือดมาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งหนูอยากทราบว่าการเติม HP เรามีโอกาสติดเชื้ออื่นที่มากับเลือดที่เราเติมไหมค่ะโดยฉะเพาะเชื้อ HIV รู้สึกังวลใจคะช่วยตอบหนูหน่อยน่ะคะ 

อายุ: 23 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 48 กก. ส่วนสูง: 158ซม. ดัชนีมวลกาย : 19.23 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ศ. พญ. อรุณี เจตศรีสุภาพ

(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์และโลหิตวิทยา)

3 สิงหาคม 2559 08:32:31 #2

HP ย่อมาจากอะไรคะ

หมอถามเพื่อนที่เป็นหมอโรคเลือดทั้งทางเด็กและผู้ใหญ่ ไม่มีใครรู้จัก บอกชื่อเต็มได้ไหมคะ

ขอบคุณมากค่ะ

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอรุณี เจตศรีสุภาพ

Wasa*****7

5 สิงหาคม 2559 01:43:11 #3

สวัสดีค่ะ หนูมีเรื่องอยากปรึกษาคุณหมอเรื่องของการ เติมเลือด ค่ะ คือหนูมีโรคประจำตัวคือโรค ธารัสชีเมีย แล้วเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมาหนูพึ่งไปเติมเลือดมาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งหนูอยากทราบว่าการเติม เลือด เรามีโอกาสติดเชื้ออื่นที่มากับเลือดที่เราเติมไหมค่ะโดยฉะเพาะเชื้อ HIV รู้สึกังวลใจคะช่วยตอบหนูหน่อยน่ะคะ

ศ. พญ. อรุณี เจตศรีสุภาพ

(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์และโลหิตวิทยา)

15 สิงหาคม 2559 10:40:35 #4

ในการเติมเลือด อาจเพิ่มโอกาสการติดเชื้อจากเลือด เป็นเรื่องที่ต้องทราบกันอยู่ แต่อย่าเพิ่งวิตกกังวลไปจนกลายเป็นความเครียด เนื่องจากในปัจจุบันธนาคารเลือดได้พยายามพัฒนาวิธีการเลือกเลือดที่ปลอดภัยที่สุดให้ผู้ป่วย ในการตรวจหาเชื้อที่ติดต่อได้ทางเลือด

ผลิตภัณฑ์เลือดต้องผ่านการตรวจคัดกรองการติดเชื้อที่ถ่ายทอดทางเลือด โดยต้องได้รับการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานและนโยบายบริการโลหิตแห่งชาติ พ.ศ. 2553 เพื่อตรวจหาการติดเชื้อที่ติดต่อทางการได้รับเลือดทุกชนิด ได้แก่ ซิฟิลิส เอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี ด้วยวิธีซีโรโลยี สำหรับเอชไอวี ไวรัสตับ
อักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี ให้เพิ่มการตรวจด้วยวิธี nucleic acid amplification test (NAT) ด้วย (CPG_thalassemia_2014-content.pdf – Adobe Acrobat Pro, Cited August 11, 2016))
การตรวจที่เรียกว่า แนต (NAT) ทำให้ตรวจเชื้อไวรัสดังกล่าวได้เร็วขึ้น เนื่องจากปัญหาเดิมบางครั้งผู้บริจาคได้รับเชื้อหรือติดเชื้อมาในระยะเวลาไม่นาน การตรวจเลือดยังบอกไม่ได้ผลการตรวจเลือดจึงเสมือนว่าไม่มีการติดเชื้อ เรียกว่าอยู่ใน window period แต่วิธีตรวจ โดย แนต จะสามารถตรวจพบว่าผู้บริจาคมีการ ติดเชื้อได้เร็วขึ้น คือ window period สั้นกว่าเดิม โอกาสติดเชื้อเอชไอวีจะลดลงมาก รวมถึงโอกาสในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีลดลงด้วย

ในการให้เลือดผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ซึ่งผู้ป่วยบางรายจำเป็นต้องให้เลือดบ่อยมากเช่น ทุก 3-4 สัปดาห์ บางคนให้ระยะห่างกว่านั้น แพทย์จะมีการเตรียมเลือดให้ผู้ป่วยธาลัสซีเมียเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากโรคธาลัสซีเมียเป็นโรคเลือดจางเรื้อรัง ต้องมีการให้เลือดบ่อย โดยแพทย์จะให้เลือดใหม่ที่เพิ่งรับบริจาคไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้เลือดอยู่ในตัวผู้ป่วยได้นานกว่าเลือดที่บริจาคมานาน และเลือดต้องปลอดภัยจากการติดเชื้อคือต้องผ่านการตรวจเชื้อที่ต้องทำตามมาตรฐานว่าไม่พบการติดเชื้อในเลือด (อย่างที่กล่าวไว้ก่อนว่าในการให้เลือดแม้ว่าจะตรวจเลือดว่าไม่พบเชื้อ แต่มีโอกาสที่การตรวจอาจยังไม่ถูกต้อง 100% เนื่องจากข้อจำกัดในทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งในส่วนนี้ได้มีการพยายามพัฒนากระบวนการตรวจให้แม่นยำขึ้นให้มากที่สุดและห้องปฏิบัติการจะมีการตรวจสอบคุณภาพการทำงานเป็นระยะ)
เลือดของผู้ป่วยธาลัสซีเมียควรมีการตรวจหมู่เลือดทั้งหมู่เลือด เอ บี โอ และอาร์เอช เช่นเดียวกับการตรวจหมู่เลือดทั่วไปแต่ยังต้องตรวจหมู่เลือดที่เรียกหมู่ไมเนอร์ (minor blood group) ที่พบบ่อยในคนไทยเพื่อจะสามารถเลือกเลือดที่บริจาคได้ตรงกันมากที่สุดกับผู้ป่วย เพื่อป้องกันการสร้างภูมิต้านทานต่อเลือดที่จะรับในอนาคต

นอกจากนี้ ยังแยกเม็ดเลือดขาวออกจากเม็ดเลือดแดงมากที่สุด เพราะเม็ดเลือดขาวที่ปนในเลือดอาจก่อให้เกิดภาวะมีภูมิต้านทานต่อเม็ดเลือดขาว (ภูมิต้านทานต่อระบบเอ็ชแอลเอ-HLA) และภูมิต้านทานต่อเกล็ดเลือดด้วย
การให้เลือดในผู้ป่วยธาลัซีเมียมีข้อดี นอกจากจะลดอาการเหนื่อยจากภาวะซีด ทำให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างคนปกติ ทำให้มีการเจริญเติบโตดี กระดูกและหน้าตาไม่เปลี่ยนแปลง ท้องไม่โตเพราะตับม้ามจะไม่โตมาก เนื่องจากผู้ป่วยธาลัสซีเมียที่ซีดมากมักจะมีตับม้ามโตทำให้เห็นว่าท้องโต และการให้เลือดยังลดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ อีกหลายอย่าง

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรทราบว่า การให้เลือดอาจเกิดปัญหาแทรกซ้อนจากการให้เลือด เช่น การแพ้เลือด การติดเชื้อ การมีภูมิต้านทานต่อเลือดและยังมีภาวะธาตุเหล็กเกินจากการให้เลือด ซึ่งอาจต้องให้ยาขับธาตุเหล็กเมื่อมีข้อบ่งชี้
หมอมีผู้ป่วยธาลัสซีเมียจำนวนมากที่รักษาแล้วมีคุณภาพชีวิตที่ดี เรียนหนังสือ ทำงานได้ มีชีวิตที่ทำอะไรต่างๆ ได้ไม่แพ้คนปกติ
เป้าหมายของการจัดการปัญหาธาลัสซีเมียคือ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาดี มีคุณภาพชีวิตดี กับการลดจำนวนผู้ป่วยที่จะเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงรายใหม่

ขออวยพรให้คุณมีสุขภาพแข็งแรงนะคะ
ศาสตราจารย์แพทย์หญิงอรุณี เจตศรีสุภาพ