กระดานสุขภาพ

สอบถามเรื่องเลือดค่ะ
Anonymous

24 มีนาคม 2558 02:31:50 #1

หนู...ทราบผลการตรวจเลือดที่ต่ำกว่าเกณฑ์อยู่ดังนี้ (ต้องการทราบว่า..มีอันตรายอย่างไรบ้างค่ะ..ต่อตัวเองและบุตรในอนาคตค่ะ)

1. Hb 11

2. Hct 32.50

3. Nutrophil 42.10

4. MCV 67.70

5. MCH 22.90

อายุ: 27 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 51 กก. ส่วนสูง: 158ซม. ดัชนีมวลกาย : 20.43 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ศ. พญ. อรุณี เจตศรีสุภาพ

(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์และโลหิตวิทยา)

25 มีนาคม 2558 15:43:07 #2

เลือดหนูบอกหมอว่ามีภาวะโลหิตจางเล็กน้อย (Hb 11g/dL, Hct 32.50%) เม็ดเลือดแดงตัวเล็ก (MCV 67.70fl) และติดสีจาง (MCH 22.90pg) หมอคิดว่าหนูอาจเป็นพาหะธาลัสซีเมีย หรืออาจมีปัญหาโลหิตจางจากจากการขาดธาตุเหล็ก คุณหมอได้บอกหนูเรื่องภาวะซีดนี้หรือยังคะ หมอไม่ทราบว่าหนูไปเจาะเลือดด้วยเรื่องใดเช่นตรวจเช็คตามปกติของที่ทำงาน หรือแต่งงานแล้วต้องการตรวจเลือดก่อนมีบุตร หรือเริ่มตั้งครรภ์แล้วตรวจเลือด หรือมีอาการไม่สบายแล้วเจาะเลือดเพราะเลือดที่หนูส่งมามีอีกค่าหนึ่งคือ Neutrophil 42.10 % เป็นค่าเม็ดเลือดขาวที่หมอใช้ดูประกอบว่ามีการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียแต่จะดูควบกัปริมาณเม็ดเลือดขาว (WBC) และส่วนประกอบเม็ดเลือดขาวอื่นๆด้วย

ถ้าหนูไม่ได้อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ก็มีเวลารอได้เนื่องจากหนูไม่ได้ซีดมากจนมีอาการน่าวิตก เรียกว่าหนูซีดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากหนูรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสม่ำเสมอ ได้แก่เนื้อสัตว์ เลือดสัตว์ ผักใบเขียว และไม่ได้มีปัญหาเลือดออกผิดปกติ เช่นประจำเดือนมาปกติ ไม่มีเลือดออกจากทางเดินอาหารคืออุจจาระสีปกติ ไม่ใช่สีดำเหมือนยางมะตอย หนูก็ไม่น่ามีภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก หมอจะนึกถึงเรื่องพาหะของธาลัสซีเมียมากกว่า ที่ถามหนูว่าหนูเจาะเลือดด้วยเหตุผลใด เนื่องจากระยะเวลาการตรวจวินิจฉัยจะต้องเร็วหากเป็นการตรวจในหญิงที่ตั้งครรภ์แล้ว เพื่อจะต้องบอกว่าบุตรในครรภ์มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงหรือไม่ ซึ่งต้องการการเจาะเลือดตรวจทั้งภรรยาและสามี ว่าเป็นพาหะหรือโรคธาลัสซีเมียที่จะส่งสารพันธุกรรมที่ผิดปกติไปยังบุตรได้หรือไม่ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งปกติ โดยส่วนใหญ่บุตรจะไม่เป็นโรคธาลัสซีเมีย ชนิดรุนแรง ธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงเป็นโรคซีดเรื้อรัง ต้องให้เลือดจึงจะมีชีวิตอยู่ได้ หรือเด็กบางคนมีอาการซีดมากเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา หรือเกิดมาไม่นานก็เสียชีวิต แต่มีโรคธาลัสซีเมียจำนวนมากที่อาการน้อยหรืออาการปานกลางสามารถมีชีวิตเจริญเติบโตได้ปกติหรือเกือบปกติ กลุ่มหลังนี้ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ต้องควบคุม การควบคุมป้องกันโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงอาจยุติการตั้งครรภ์ตามความต้องการของครอบครัว ซึ่งจะต้องผ่านการตรวจให้แน่ใจว่าทารกในครรภ์เป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงจริง

เมื่อแพทย์ตรวจคู่สมรสแล้วพบว่าเป็นคู่เสี่ยงต่อการมีบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ต้องมีการวางแผนตรวจทารกในครรภ์ ว่าเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงหรือไม่ เนื่องจากแม้ว่าพ่อ แม่จะเป็นพาหะ ลูกก็อาจปกติ หรือเป็นพาหะธาลัสซีเมียก็ได้ ซึ่งพาหะธาลัสซีเมียไม่มีอาการผิดปกติ มีชีวิตความเป็นอยู่ปกติ หากไม่ตรวจเลือดก็อาจไม่ทราบว่าตนเป็นพาหะธาลัสซีเมียด้วย ทั้งนี้ก่อนจะทำอะไรแพทย์และทีมผู้เกี่ยวข้องจะบอกเรื่องราวต่างๆที่จำเป็นและคู่สมรสจะเป็นผู้ตัดสินใจร่วมกับแพทย์ที่จะดำเนินการใดๆ ต่อไปในระยะเวลาที่เหมาะสมและได้ผลดีมีผลแทรกซ้อนน้อยที่สุด

หากหนูไม่ได้อยู่ในข่ายที่ต้องรีบและอยู่ในโรงพยาบาลที่มีข้อกำจัดในการตรวจ แพทย์อาจลองรักษาด้วยการให้ยาธาตุเหล็กรับประทานแล้วติดตามผลเลือดในอีก 4-6 สัปดาห์ ถ้าความเข้มข้นของเลือด(Hb) ขึ้นมากกว่า 1 ก./ดล.แพทย์จะวินิจฉัยว่าหนูเป็นโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กและให้รับประทานยาธาตุเหล็กให้ครบ 3 เดือนตลอดจนหาและแก้ไขสาเหตุ แต่หากความเข้มข้นของเลือดของหนูไม่เปลี่ยนแปลง หนูอาจเป็นพาหะธาลัสซีเมียซึ่งไม่ต้องรับประทานยาอะไร ต่อเมื่อมีครอบครัวค่อยเจาะเลือดคู่สมรสตรวจเลือดตามกระบวนการควนคุมป้องกันโรคธาลัสซีเมียก็ได้ค่ะ

หรือหากโรงพยาบาลมีความพร้อมและหนูก็อยากทราบผลการวินิจฉัยเลยก็มีการตรวจที่จะบอกได้เลยว่าหนูเป็นพาหะธาลัสซีเมียหรือเป็นโรคธาลัสซีเมียกลุ่มที่มีอาการน้อย หรือเป็นโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก


ขออวยพรให้แข็งแรงค่ะ

ศ. พญ. อรุณี เจตศรีสุภาพ