กระดานสุขภาพ

ยาคุมกับอาหารเสริมต่างๆ
Cali*****1

27 กันยายน 2561 03:16:32 #1

อยากสอบถามเรื่องการทานยาคุมควบคู่กับอาหารเสริมวิตามินต่างๆ เช่น วิตามินซี, บี, น้ำมันตับปลา, นมผึ้ง ฯลฯ

ไม่ทราบว่าสามารถทานควบคู่กันหรือมีวิธีการทานอย่างไรบ้างคะ 

 

ขอบคุณค่ะ 

อายุ: 26 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 80 กก. ส่วนสูง: 165ซม. ดัชนีมวลกาย : 29.38 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

30 กันยายน 2561 15:21:01 #2

เรียน คุณ Calimy001,

คำถามนี้ตอบได้เป็น 2 ประเด็นนะครับ

1. หากสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ ไม่ได้นอนเจ็บป่วย ต้องให้อาหารทางสายยาง ก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปซื้อหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆมาใช้ ให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และในบางรายการ อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย หากได้รับปริมาณที่ไม่เหมาะสม เช่น วิตามิน ซี หากรับประทานเกินกว่าวันละ 1000 มิลลิกรัม ร่างกายก็ไม่สามารถดูดซึมและนำไปใช้ได้หมด มีการกำจัดส่วนเกินทิ้งออกทางปัสสาวะ ในบางรายอาจกระตุ้นให้เกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้
น้ำมันตับปลาที่เป็นแหล่งของวิตามิน เอ ดี อี และ เค ที่ละลายได้ดีในไขมัน ร่างกายมีการเก็บสะสมได้ หากได้รับปริมาณมากเกิน ก็จะส่งผลเสีย เกิดอาการพิษได้ เช่น วิตามิน เอ ช่วยเรื่องผิวและการมองเห็น แต่หากได้รับมากเกินก็จะส่งผลต่อการมองเห็นได้เช่นกัน

วิตามิน เค ที่ช่วยเรื่องการแข็งตัวของเลือด ถ้าได้รับมากเกิน ก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้
2. การเกิดอันตรกิริยาระหว่างยากับยา ยากับอาหารนั้น มีมากมายหลายกลไกนะครับ เช่น

2.1 มีผลต่อการดูดซึม เช่น การรับประทานยาทุกชนิดนั้น หากไม่ได้มีข้อระบุแบบอื่น ให้รับประทานยาด้วยน้ำเปล่าสะอาดเท่านั้น เนื่องจากเครื่องดื่มอื่น ๆอาจทำให้ตัวยามีการละลายลดลง ร่างกายไม่สามารถดูดซึมตัวยาได้ เช่น ชา (ชาเขียว ชาขาว ชาแดง) กาแฟ โกโก้ นม (รวมถึงโยเกิร์ต) น้ำนมถั่วเหลือง โซดา น้ำอัดลม หรือยาบางกลุ่ม เช่นยารักษาโรคกระดูกพรุน ห้ามแม้กระทั่งน้ำแร่

2.2 มีผลต่อการกำจัดยาออกจากร่างกาย เช่น น้ำผลไม้บางชนิด จะกระตุ้นให้ตับที่เป็นแหล่งในการเผาผลาญหรือกำจัดยา มีการผลิตเอนไซม์หรือน้ำย่อยที่ใช้ในการกำจัดยาเพิ่มมากขึ้น ร่างกายจึงสามารถกำจัดตัวยาได้มากและเร็วขึ้น เช่น น้ำเกรปฟรุต (จำพวกเดียวกับส้มโอ) น้ำส้มคั้น น้ำแอปเปิ้ล หรือน้ำแครนเบอร์รี เป็นต้น

2.3 มีผลต่อการดูดซึมกลับที่ลำไส้เล็กของตัวยา ทำให้ลดปริมาณยาคุมกำเนิดที่ลำไส้จะดูดกลับ ร่างกายจึงมีปริมาณฮอร์โมนเพศในยาคุมกำเนิดลดลง เช่น ยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลิน เป็นต้น

ดังนั้นหากมีความจำเป็นต้องใช้ยา ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง ว่ากำลังรับประทานยาคุมกำเนิดอยู่ เพื่อปรับเปลี่ยนชนิดของยาให้มีความเหมาะสม ลดการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยา หรือ "ยาตีกัน" ให้น้อยลง หรือหากไม่สามารถปรับเปลี่ยนยาได้ อาจต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดด้วยการสวมถุงยางอนามัยร่วมด้วย เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการป้องกันการตั้งครรภ์

กรณีมีข้อสงสัยเร่งด่วนเกี่ยวกับการใช้ยา/ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆ สามารถสอบถามได้จากแพทย์หรือเภสัชกรร้านยาใกล้บ้านได้ทันที ไม่ควรรอคำตอบจากทางหน้าเว็บ เนื่องจากอาจต้องมีการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรืออาจช้าเกินไป ไม่ทันการ เสี่ยงต่อการเกิดการตั้งครรภ์หรือเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

แนะนำบทความดีๆ จากกองบรรณาธิการของเราที่

  • ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
  • แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
  • สูตินรีแพทย์
  • ยาลดประสิทธิภาพยาคุมกำเนิด (Common medications that reduce efficacy of birth control medications)
  • ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม
  • การคุมกำเนิด (Contraception)
  • แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
  • สูตินรีแพทย์
  • ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)
  • นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์
  • สูตินรีแพทย์