กระดานสุขภาพ

ยาคุมฉุกเฉิน
Anonymous

14 กรกฎาคม 2559 00:21:36 #1

สวัสดีค่ะคุณหมอ คือหนูอยากทราบว่า ยาคุมฉุกเฉินกินร่วมกับยาอื่นได้ไหมค่ะ. แล้วเมื่อกินยาคุมฉุกเฉินแล้ว กี่วันค่ะเราถึงจะสามารถกินยาตัวอื่นได้
อายุ: 19 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 50 กก. ส่วนสูง: 152ซม. ดัชนีมวลกาย : 21.64 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

19 กรกฎาคม 2559 14:14:55 #2

ก่อนตอบคำถามของคุณ ขอแนะนำข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินนะครับ ทางการแพทย์จะแนะนำให้ใช้เมื่อไม่สามารถใช้การคุมกำเนิดตามปกติได้เท่านั้น คือ เมื่อถูกข่มขืน หรือเมื่อถุงยางอนามัยเกิดการฉีกขาด แตก รั่วซึม ซึ่งหากมีการเก็บรักษาและใช้อย่างถูกต้อง จะเกิดขึ้นได้ยากมาก ๆครับ เนื่องจากต้องมีการทดสอบเพื่อให้ผ่่านมาตรฐานการใช้เครื่องมือแพทย์ (เก็บอย่างถูกต้อง ไม่เก็บในที่ร้อน หรือใกล้ของมีคม เปิดใช้อย่างถูกต้อง ไม่ใช้ของมีคมตัด (เช่น ฟัน กรรไกร ฯ) สวมใส่อย่างถูกต้อง - สวมขณะอวัยวะเพศแข็งตัว บีบช่องเก็บน้ำอสุจิ เพื่อไล่อากาศออก ป้องกันการแตกจากการเสียดสี ใช้น้ำยาหล่อลื่นที่เป็นสูตรน้ำเท่านั้น ห้ามใช้ครีม โลชั่นหรือวาสลีน มิฉะนั้นจะฉีกขาดได้ง่าย การถอดออกต้องถอดถุงยางออกก่อนที่อวัยวะเพศจะอ่อนตัว ใช้กระดาษทิชชู่พันรอบโคน แล้วค่อย ๆรูดออกจากโคนถึงปลาย ไม่จำเป็นต้องไปใส่น้ำเพื่อทดลองว่ารั่วหรือไม่ หากจะแตกมักจะแตกทางปลายซึ่งสังเกตได้ง่ายอยู่แล้ว)

ไม่แนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน แทนการคุมกำเนิดตามปกติ เนื่องจากยาคุมฉุกเฉินมีอัตราเสี่ยงในการตั้งครรภ์ 8-15 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับยาคุมกำเนิดปกติที่อัตราเสี่ยงน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์และยาคุมฉุกเฉินมีปริมาณฮอร์โมนค่อนข้างสูงมาก คือ 1,500 ไมโครกรัม เทียบกับชนิดปกติที่มีเพียง 50-75 ไมโครกรัมเท่านั้น

วิธีการรับประทานยาที่ถูกต้อง

- รับประทานยา "ทุกชนิด" ด้วยน้ำเปล่าสะอาดเท่านั้น (ยกเว้นว่ามีคำแนะนำเป็นอย่างอื่น) เนื่องจากเครื่องดื่มบางชนิดจะทำให้ตัวยาตกตะกอน ร่างกายไม่สามารถดูดซึมยาได้ เช่น ชา (รวมถึงชาเขียว) กาแฟ โกโก้ นม (โยเกิร์ตพร้อมดื่ม) น้ำนมถั่วเหลือง โซดา น้ำอัดลม หรือน้ำแร่ เป็นต้น หรือน้ำผลไม้บางชนิดจะกระตุ้นให้ตับที่เป็นแหล่งในการกำจัดยาออกจากร่างกาย จะมีการผลิตเอนไซม์หรือน้ำย่อยที่ใช้ในการกำจัดยาเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ร่างกายกำจัดยาออกจากร่างกายได้มากและเร็วขึ้น เช่น น้ำส้มคั้น น้ำเกรปฟรุต น้ำแครนเบอร์รี น้ำแอปเปิ้ล เป็นต้น

1. ให้รับประทานยาเม็ดแรกภายใน 48 -72 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก (ยิ่งช้ายิ่งมีอัตราเสี่ยงในการตั้งครรภ์ยิ่งสูง) จากนั้นอีก 12 ชั่วโมงให้รับประทานยาเม็ดที่สอง

ข้อดี คือ อาการไม่พึงประสงค์ด้านคลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด แน่นท้องจะน้อยกว่า และหากมีเพศสัมพันธ์ซ้ำอีกครั้งก่อนการรับประทานยาเม็ดที่สอง ก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาคุมฉุกเฉินเพิ่มอีก (แต่ต้องรับประทานยาเม็ดที่สองตามเวลา เพื่อให้ได้ยาตามขนาดที่ถูกต้อง)

ข้อเสีย คือ หากรับประทานยาเม็ดที่สองไม่ถูกต้อง (ช้าหรือเร็วกว่าคำแนะนำ) หรือลืมรับประทานยา โอกาสเสี่ยงในการตั้งครรภ์ก็จะยิ่งสูง

2. ให้รับประทานยาพร้อมกัน 2 เม็ดทันที ภายใน 48-72 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์

ข้อดี คือ ไม่ต้องกังวลเรื่องการลืมรับประทานยา

ข้อเสีย คือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง ท้องอืดจะสูงกว่าวิธีแรก และหากรับประทานยาไปแล้ว ต้องการมีเพศสัมพันธ์อีก ต้องใช้วิธีการสวมถุงยางอนามัยแทน ไม่แนะนำให้รับประทานยากล่องที่สองอีกภายในวันเดียวกัน

อาการไม่พึงประสงค์ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด แน่นท้อง ประจำเดือนมาผิดปกติ (มาช้า หรือมากะปริบกะปรอย หรือไม่มา)

ข้อควรระวัง - ไม่ควรรับประทานยาเกิน 2 กล่องต่อเดือน เนื่องจากเสี่ยงต่อการเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก จนตกเลือดภายในช่องท้อง เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

ปฏิกิริยาระหว่างยา - ไม่แนะนำให้ใช้ร่วมกับยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆ เนื่องจากอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างกัน "ยาตีกัน" จนระดับยาในเลือดลดต่ำลง เสี่ยงต่อการตั้ืงครรภ์ หรืออาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่น เกิดลิ่มเลือดอุดตัน หรือเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ

หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์อื่นร่วมด้วย ต้องสอบถามจากแพทย์หรือเภสัชกร "ก่อน" เริ่มต้นการใช้ยาทุกคร้้ง เพือประเมินความเหมาะสมในการใช้ยาร่วมกัน หรือในกรณียาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ควรเว้นช่วงหลังจากรับประทานยาไปอย่างน้อย 48-72 ชั่วโมง เพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์ได้อย่างเต็มที่

จากข้อมูลส่วนบุคคลของคุณ หากยังไม่ได้แต่งงาน แนะนำให้ใช้การสวมถุงยางอนามัย เนื่องจากช่วยคุมกำเนิดแล้วยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย เช่น หนองใน ซิฟิลิส แผลริมอ่อน พยาธิในช่องคลอด ไวรัสตับอักเสบ บี/ซี หรือโชคร้ายสุด คือไวรัสเอชไอวี ที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ ที่ปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาด รวมถึงยังช่วยป้องกันไวรัสเอชพีวีที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกในเพศหญิง หรือหูดหงอนไก่/มะเร็งองคชาติในเพศชาย

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่

ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
สูตินรีแพทย์

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กามโรค (STD: Sexually transmitted disease)
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วรลักษณ์ สมบูรณ์พร
สูตินรีแพทย์