กระดานสุขภาพ
ประจำเดือนมาไม่ปกติ | |
---|---|
22 มิถุนายน 2561 23:01:27 #1 พอดีประจำเดือนของหนูไม่มาค่ะ ตอนนี้ก็จะ 4-5 เดือนแล้ว ปกติประจำเดือนหนูจะมา1 เดือนแล้วชอบหายไป 1-2 เดือนบ้าง 3-4 เดือนบ้าง แล้วเวลามาจะมาเยอะพอสมควรแต่จะมาแค่3วันค่ะจากนั้นก็หมด แต่ตอนนี้รู้สึกว่าไม่มานานมากแต่หนูไม่ได้นับเลยไม่แน่ใจว่าไม่มากี่เดือนแล้วแล้วประจำเดือนมาไม่ปกติแบบนี้เป็นเพราะอะไรหรอคะ |
|
อายุ: 19 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 126 กก. ส่วนสูง: 172ซม. ดัชนีมวลกาย : 42.59 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9) | |
รศ.พญ. สายฝน ชวาลไพบูลย์(สูติ-นรีแพทย์) |
23 มิถุนายน 2561 16:39:26 #2 หนูมีน้ำหนักตัวค่อนข้างมาก หนักถึง 126 kg ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงต่อการที่จะเกิดภาวะกลุ่มอาการของถุงน้ำที่รังไข่หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า PCOS (Polycystic ovarian syndrome) ได้สูงมาก ภาวะนี้มักจะพบในสตรีที่มีน้ำหนักตัวมาก จะทำให้ไม่ค่อยมีประจำเดือนมา นานๆมาครั้งหนึ่งหรืออาจจะมีลักษณะปริมาณมาก มากระปิดกระปรอยก็ได้ ทั้งนี้เป็นผลมาจากผนังเยื่อบุโพรงมดลูกมีความหนาตัวมากผิดปกติเนื่องจากภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังเป็นเวลานาน เมื่อไข่ไม่ตกก็จะมีการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียวไปทำให้ผนังเยื่อบุโพรงมดลูกมีความหนาตัวมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่จะไปเปลี่ยนผนังเยื่อบุโพรงมดลูกให้สุกและหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน เนื่องจากผิวรังไข่มีความหนาตัวมากจนไข่ไม่สามารถตกได้ตามปกติเมื่อไข่ไม่ตกก็จะไม่มีการสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ผิวรังไข่ที่มีความหนาตัวมากมักจะพบในคนที่มีน้ำหนักตัวมากเพราะชั้นไขมันจะไปพอกผิวรังไข่เอาไว้มาก ทำให้ไข่ไม่สามารถตกได้และผิวรังไข่ที่มีความหนาตัวนี้ยังมีการสร้างฮอร์โมนแอนโดรเจน ซึ่งจะทำให้เกิดลักษณะของฮอร์โมนเพศชายมาก เช่น สิวมาก หน้ามัน ขนดก มีหนวดเครา ขนหน้าแข้งมาก และถ้าไม่มีรอบเดือนมาติดต่อกันเป็นเวลานานเกิน 3 เดือน ก็จะทำให้มีความเสี่ยงในเรื่องของมะเร็งของผนังเยื่อบุโพรงมดลูกได้ ดังนั้น จึงควรรับประทาน ฮอร์โมนโปรเจสโตรเจนเพื่อทำให้ผนังเยื่อบุโพรงมดลูกสุกและลอกหลุดออกมาเป็นประจำเดือนได้ตามปกติค่ะ หรืออาจจะทานเป็นยาเม็ดคุมกำเนิด ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องรักษาอาการสิว หน้ามัน ขนดกก็ได้ การวินิจฉัยภาวะนี้จะต้องทำการตรวจอัลตราซาวด์เพื่อประเมินลักษณะของมดลูกและรังไข่จะได้ทราบอย่างแน่นอนว่ามี ภาวะ pcos หรือไม่ การรักษาที่ยั่งยืนคือจะต้องพยายามลดน้ำหนักตัวลงให้ได้มากที่สุดเพื่อให้รังไข่กลับมาทำงานได้ตามปกติ มีการตกไข่ได้ตามปกติ ประจำเดือนจะได้มาได้เอง ภาวะนี้มักจะสัมพันธ์กับภาวะมีบุตรยากในอนาคตด้วยเพราะไข่ไม่สามารถตกได้ตามปกติค่ะ ซึ่งอาจมีความจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ที่มีความชำนาญทางด้านรักษาภาวะมีบุตรยากต่อไปในอนาคตค่ะ |
Buss*****n