กระดานสุขภาพ

เหนื่อยจนอยากตาย
Anonymous

28 มิถุนายน 2561 02:27:18 #1

สวัสดีค่ะ
เมื่อวานคุยกับเพื่อน แล้วพบว่าเค้ามีการโรคซึมเศร้า เครียดมาก จนอยากจะฆ่าตัวตาย
เค้าทำงานชิ้นนึงอยู่ ตั้งแต่ต้นปี ส่งหัวหน้าไป ไม่มีวี่แววว่าจะผ่านเลย เหมือนเค้าไม่ค่อยกินเส้นกับหัวหน้าด้วย
แล้วเมื่อวานส่งงานอีกครั้ง คนอื่นในทีมส่งผ่านหมดแล้ว เหลือแต่เค้า แต่พอจะส่งหัวหน้าก็ไม่ยอมดูงานให้
เค้าร้องไห้ใหญ่เลย บอกว่า ถ้าไม่นึกถึงพ่อถึงแม่ คงไปนานแล้ว พูดเหมือนอยากตายอยู่ทุกเวลา ทำอะไรก็ไม่มีความสุขเลย
หนูควรช่วยเค้ายังไงคะ ไม่รู้ว่าตัวเองควรจะช่วยปลอบเค้ายังไงดี ขอบคุณค่ะ

อายุ: 23 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 66 กก. ส่วนสูง: 157ซม. ดัชนีมวลกาย : 26.78 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
นพ. อุดม เพชรสังหาร

(จิตแพทย์)

2 กรกฎาคม 2561 06:22:38 #2

อย่าปลอบครับ เพราะไม่ได้ผลแน่นอน
สิ่งที่ได้ผลคือ "ฟังสิ่งที่เขาพูดหรือระบายออกมาด้วยความตั้งใจและจริงใจ" และ "แสดงให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เขาพูดออกมานั้นคือสิ่งที่น่าสนใจที่สุด" ไม่ไปตัดสินว่าเขาถูกหรือผิด ไม่ต้องไปแนะนำเขาว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ฟังอย่างเดียวก็พอครับ

ถ้าจะพูดโต้ตอบบ้างให้ใช้คำพูดเช่น "ฉันเข้าใจเธอ" "เธอคงทุกข์ใจมาก" "เธอคงผิดหวังมากที่หัวหน้าทำแบบนี้" "ระบายออกมาเถอะ ฉันเป็นเพื่อนเธอ ฉันพร้อมที่จะฟังสิ่งที่เธอพูด" จะช่วยทำให้เขารู้สึกสบายใจและสามารถระบายความทุกข์ออกมาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งมันจะช่วยลดความทุกข์ใจของเขาได้ดีกว่าการปลอบครับ

คนที่กำลังผิดหวัง ซึมเศร้า สิ่งที่เขาต้องการก็คือ "ใครก็ได้ฟังฉันที ใครก็ได้สนใจฉันบ้าง" "ใครก็ได้ช่วยรับรู้ด้วยว่าตอนนี้ฉันทุกข์ใจมากแค่ไหน"

คุณถูกเลือกให้เป็น "ใครก็ได้" คนนั้น
ด้วยเหตุนี้ เขาจึงพยายามเล่าทุกอย่างให้คุณฟัง เผื่อว่าคุณจะเข้าใจเขา เข้าใจในสิ่งที่เขากำลังเป็นทุกข์อยู่ ถ้าคุณไปตั้งหน้าตั้งตาปลอบประเภท "อย่าคิดมาก" "ชีวิตคนเราก็อย่างนี้แหละ" (ก็สอนนั่นแหละ) ฯลฯ มันก็เหมือนกับว่าสิ่งที่เขากำลังระบายออกมามันไม่มีความหมายอะไรเลย เขาก็จะรู้สึกว่า "คุณก็เหมือนคนอื่น ๆ นั่นแหละ ไม่ฟังฉันเลย แถมพยายามจะสอนฉันอีกต่างหาก"

สองสามวันก่อนนายกรัฐมนตรีไทยไปตรวจเยี่ยมการช่วยเหลือเด็กนักฟุตบอลที่ติดอยู่ในถ้ำที่เชียงราย และพยายามปลอบ(สอน)ผู้ปกครองของเด็กเหล่านั้นด้วยคำพูดต่าง ๆ นา ๆ นั่นคือ "วิธีการที่ผิด" ครับ ถ้าอยากช่วยเพื่อน ถ้าอยากช่วยคนที่กำลังโศกเศร้าเสียใจ อย่าทำแบบนายกรัฐมนตรีครับ ที่ต้องยกตัวอย่างนี้ขึ้นมาก็เพราะกลัวคนจะหยิบเอาวิธีการแบบนี้ไปใช้

การรับฟังปัญหาของเขา รับฟังความทุกข์ของเขา จะช่วยให้เขาได้ระบายความทุกข์ ความอัดอั้นตั้นใจออกมา พอได้ระบายออก อารมณ์ที่เคยขุ่นมัวมันอาจจะดีขึ้น เมื่ออารมณ์ดีขึ้นการมองปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับตัวเองอาจจะเปลี่ยนไป และมันอาจจะนำมาซึ่งวิธีแก้ปัญหาในรูปแบบใหม่ด้วยตัวของเขาเองก็ได้

ขอชื่นชมครับที่คุณใส่ใจกับความทุกข์ของเพื่อน ถ้าทุกคนในสังคมใส่ใจทุกข์สุขของกันและกันแบบนี้ สังคมของเราจะเป็นสังคมที่มีความสุขมาก ๆ เลย

นพ.อุดม เพชรสังหาร